เนื่องจากการประหารชีวิตในปี 2565 เพิ่มจากปี 2564 มากพอสมควรและยังกลายเป็นสถิติสูงสุดในรอบ 5 ปีอีกด้วย สำหรับปัจจัยสำคัญ แอมเนสตี้ ตั้งข้อสังเกตว่ามาจากการอัตราการประหารชีวิตที่เพิ่มสูงขึ้นในแถบตะวันออกกลาง
เมื่อวันที่ 16 พ.ค.2566 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนล เปิดเผยว่า สถิติการประหารชีวิตทั่วโลกในปี 2565 สูงสุดในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา หลังจากประเทศในแถบตะวันออกกลางหลายแห่งบังคับใช้โทษประหารชีวิตเพิ่มมากขึ้น
โดยสถิติจากใน 20 ประเทศ มีผู้ที่ถูกประหารชีวิต ตามรายงาน 883 คน เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 53 จากปี 2564 ตามการประเมินรายปีของทาง แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนล ในจำนวนนี้สถิติการประหารชีวิตจากเพียง 3 ประเทศ ได้แก่ อิหร่าน ซาอุดีอาระเบีย และ อียิปต์ คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 90 ของข้อมูลดังกล่าว
แต่รายงานล่าสุดนี้ไม่นับรวมข้อมูลจากจีน ซึ่งคาดว่าน่าจะประหารชีวิตผู้ต้องขังปีละนับพันคน โดยข้อมูลเกี่ยวกับการประหารชีวิตในจีนเป็นความลับ และทำให้ทาง Amnesty International ระบุว่าไม่สามารถประเมินสถานการณ์ได้อย่างถูกต้องว่ามีสถิติการประหารชีวิตมากน้อยเพียงใดในจีน
ขณะเดียวกันทาง แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนล ยืนยันว่าพบข้อมูลการประหารชีวิตใน เกาหลีเหนือ เวียดนาม ซีเรีย และอัฟกานิสถาน แต่มีข้อมูลที่น่าเชื่อถือไม่มากพอที่จะระบุออกมาเป็นตัวเลขได้
นอกจากนี้รายงานยังระบุว่า สำหรับตัวเลขการประหารชีวิตที่เพิ่มขึ้นในปีที่แล้ว มีอิหร่านและซาอุดีอาระเบีย เป็นปัจจัยหลัก จากการประหารชีวิตที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนใน 2 ประเทศนี้ โดยอิหร่านมีสถิติการประหารชีวิต 576 ครั้ง เพิ่มขึ้นจาก 314 ครั้งในปี 2564 ในจำนวน 576 ครั้งนี้ แบ่งเป็น 279 คน เป็นผู้กระทำผิดฐานฆาตกรรม, 255 คน พัวพันกับคดียาเสพติด , 21 คนก่อคดีข่มขืน และ 18 คน ถูกตัดสินประหารชีวิตจากข้อหาเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ โดยการต่อต้านหรือดูหมิ่นพระเจ้า
ในบรรดาผู้ที่ถูกประหารชีวิตจากข้อหาดังกล่าว รวมถึงชาย 2 คน ที่ถูกจับกุมจากการมีส่วนเกี่ยวข้องกับการประท้วงต่อต้านรัฐบาล ที่ปะทุขึ้นช่วงเดือนกันยายนปีที่แล้ว ซึ่งผู้เชี่ยวชาญทางองค์การสหประชาชาตินิยามการประหารชีวิตในกรณีนี้ว่า เป็นการตัดสินโดยพลการ ไม่ได้เป็นไปตามหลักกฎหมาย ผ่านการไต่สวนและกระบวนการยุติธรรมจอมปลอม ซึ่งเต็มไปด้วยการทรมานผู้ถูกจับกุม
ขณะที่ในซาอุดีอาระเบีย การประหารชีวิตเพิ่มขึ้นจาก 65 ครั้งในปี 2564 เป็น 196 ครั้งในปี 2565 ที่ผ่านมา มากที่สุดเท่าที่ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนล มีข้อมูลของประเทศนี้ในรอบ 30 ปี ในจำนวนนี้มี 85 คน ที่ถูกตัดสินว่ากระทำผิดฐานก่อการร้าย และ 57 คน ถูกประหารชีวิตจากคดียาเสพติด โดยในเดือนมีนาคม 2565 เจ้าหน้าที่ประหารชีวิตหมู่ 81 คนในวันเดียว โดยอย่างน้อย 41 คนในจำนวนนี้เป็นชาวมุสลิมนิกายชีอะห์ ซึ่งมีส่วนหนึ่งที่ถูกตัดสินโทษจากการเข้าร่วมการชุมนุมต่อต้านรัฐบาล
นอกจากนี้ยังมีข้อมูลการประหารชีวิตจากอีกหลายประเทศ ทั้ง อิรัก คูเวต เยเมน และซีเรีย รวมถึงในดินแดนปาเลสไตน์ด้วย รวมทั้งในสหรัฐฯ และสิงคโปร์ ที่กลับมาประหารชีวิตผู้ต้องขังอีกครั้งหลังระงับไป 2 ปี ในช่วงที่โควิด-19 ระบาด
อ่านข่าวอื่นๆ :