วันนี้ (17 พ.ค.2566) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แม้ยอดการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยของสถาบันการเงินทั้งระบบจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่นายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่า การปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่เป็นการรีไฟแนนซ์ มากกว่าการปล่อยกู้ซื้อที่อยู่อาศัยใหม่
หลังจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไม่ต่ออายุมาตรการผ่อนปรนเพดานการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัย หรือ LTV อีกทั้งมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 กำลังจะสิ้นสุดในปลายปี 2566 ทำให้ธนาคารพาณิชย์เพิ่มความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อใหม่
นอกจากนี้ ปัญหาราคาวัสดุก่อสร้างและราคาที่ดินที่ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และยังมีความเสี่ยงจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำตามนโยบายหาเสียง จึงคาดว่าราคาที่อยู่อาศัยอาจปรับแพงขึ้นอีกในช่วงปลายปีนี้ ซึ่งถือเป็นการปรับเพิ่มขึ้นรอบใหญ่เป็นครั้งที่ 2
นายวิชัย ยังเสนอให้รัฐบาลใหม่ทบทวนเงื่อนไข สัดส่วนการถือครองกรรมสิทธิ์อาคารชุดของชาวต่างชาติในจังหวัดท่องเที่ยว เช่น กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ชลบุรี ภูเก็ต เพื่อชดเชยกำลังซื้อในประเทศที่ลดลง รวมทั้งทบทวนมาตรการลดค่าโอนและจดจำนองที่อยู่อาศัย จากเดิมให้สิทธิตามราคาที่อยู่อาศัยไม่เกิน 3 ล้านบาท เปลี่ยนเป็นการให้สิทธิเฉพาะกลุ่มรายได้ ซึ่งสามารถตรวจสอบจากหลักฐานการชำระภาษี เพื่อให้มาตรการรัฐตรงกับกลุ่มที่มีความจำเป็น
นอกจากนี้ รัฐบาลใหม่ควรจัดสรรเงินจากค่าธรรมเนียมโอน ร้อยละ 10 ของทั้งหมด หรือประมาณปีละ 10,000 ล้านบาท มาตั้งเป็นกองทุนค้ำประกันสินเชื่อที่อยู่อาศัย เพื่อสร้างความมั่นใจให้สถาบันการเงินกล้าปล่อยสินเชื่อ ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสให้คนไทยมีบ้านเป็นของตัวเองมากขึ้น
อ่านข่าวอื่นๆ
เลือกตั้ง2556 : เอกชนหวังเร่งจัดตั้งรัฐบาล-แก้ปัญหาปากท้อง
กกต.ไฟเขียว ครม.ใช้งบกลางกว่า 1 หมื่นล้านช่วยค่าไฟ พ.ค.-ส.ค.