วันนี้ (20 พ.ค.2566) นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ระบุว่า กรณีที่บางมาตราของกฎหมายอุ้มหายถูกเลื่อนการบังคับใช้ออกไป ทำให้ประชาชนบางส่วนเสียหาย เพราะมองว่าก่อนหน้านี้อาจจะมีบางคนถูกซ้อมทรมานต้องการจะแจ้งความ แต่พบว่ารัฐบาลเลื่อนการบังคับใช้กฎหมายบางมาตราไปก่อน จึงไม่ไปแจ้งความ หรือแจ้งความไปแล้วแต่เจ้าหน้าที่ไม่ดำเนินการตามกฎหมาย เช่น ช่วงที่ผ่านมา 22 ก.พ. - 18 พ.ค.2566 กฎหมายให้บันทึกภาพโดยต้องแจ้งไปอัยการ แต่ระหว่างนั้นไม่มีการบันทึกไว้ และไม่มีการแจ้งข้อมูลไปถึงอัยการ โดยตั้งคำถามถึงการแสดงความรับผิดชอบของรัฐบาล ควรชี้แจงและขอโทษสังคมว่าจะเยียวยาสังคมอย่างไร
รัฐควรเข้าไปเยียวยาเร่งด่วน และเจ้าหน้าที่ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ ไม่เป็นไปตามกฎหมายใน 4 มาตรานี้ ต้องขอโทษประชาชนในความผิดพลาดและเยียวยาประชาชน
สอดคล้องกับนางอังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ระบุว่า ตามกรอบเวลาของกฎหมายฉบับนี้จะบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 22 ก.พ.2566 ขณะที่บางมาตราที่ถูกขยายเวลาออกไปในช่วงนั้น เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องยังไม่ได้บังคับใช้กฎหมาย ซึ่งผู้เสียหายสามารถร้องเรียนหรือเรียกร้องความเป็นธรรมได้ ให้เจ้าหน้าที่ชดเชยเยียวยา ส่วนกรณีกฎหมายนี้ออกมาบังคับใช้เต็มฉบับแล้ว เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เช่น ตำรวจ เจ้าหน้าที่ดีเอสไอ อัยการ ฝ่ายปกครอง ต้องเรียนรู้ระเบียบข้อบังคับเพื่อปฏิบัติตามกฎหมายฉบับนี้
ผู้เสียหายสามารถร้องเรียนหรือเรียกร้องความเป็นธรรม ให้เจ้าหน้าที่ชดเชยความเสียหายและเยียวยาได้
น.ส.พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ระบุว่า ได้เห็นการเตรียมความพร้อมการประชุมแนวทางปฏิบัติของตำรวจทันที รวมทั้งชื่นชมศาลรัฐธรรมนูญ 8 ใน 9 ที่ยืนยันหลักการและเคารพระบบรัฐสภา
โดยหวังว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะประกาศใช้อย่างมีประสิทธิภาพทั้งฉบับ หลังจากนี้เจ้าที่ที่มีอำนาจจับกุมทุกรูปแบบจะต้องติดกล้องติดตามตัวเพื่อบันทึกขั้นตอนการจับกุม ต้องบันทึกภาพและเสียงต่อเนื่อง ตั้งแต่จับและปล่อยตัวบุคคลนั้น หรือส่งตัวให้พนักงานสอบสวนจะต้องบันทึกละเอียดและแจ้งการจับกุม
ที่ผ่านมาไม่ได้มีการบันทึกภาพและเสียงไว้ ต้องเขียนบันทึกเหตุสุดวิฉัย ประเด็นนี้สำนักงานอัยการได้เสนอความเห็นว่า ควรแจ้งการจับย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 22 ก.พ.2566 จนถึงวันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ โดยให้แต่ละหน่วยงานระบุรายชื่อและจำนวนผู้ที่ถูกจับกุม
เชื่อว่าความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับผู้ใช้กฎหมายจะดีขึ้น ต่างคนต่างต้องสุภาพต่อกัน เพราะถูกบันทึกด้วยกล้อง เป็นหลักฐานที่สามารถเป็นประโยชน์ทั้งสองฝ่าย
พ.ร.บ.ป้องกันการซ้อมทรมาน-อุ้มหายฯ ถูกผลักดันจากเครือข่ายญาติผู้เสียหาย องค์กรเครือข่ายด้านสิทธิมนุษยชน และตัวแทนภาคประชาชน ได้เข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ และมีมติเห็นชอบ เมื่อเดือน ก.ย.2565 ออกมาเป็น พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 หรือ พ.ร.บ.ป้องกันการซ้อมทรมาน-อุ้มหายฯ ซึ่งตามกรอบเวลาจะต้องประกาศใช้ทั้งฉบับวันที่ 22 ก.พ.2566
แต่เมื่อถึงวันที่ 14 ก.พ.2566 น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ระบุว่า ที่ประชุม ครม. ขอขยายเวลาการบังคับใช้ 4 มาตรา คือ มาตรา 22-25 ในกฎหมายฉบับนี้ โดยให้เหตุผลว่า มีข้อติดขัดเรื่องการจัดซื้อกล้อง การจัดทำระบบจัดเก็บข้อมูลหน่วยความจำ โดยต้องใช้ระยะเวลาในการจัดซื้อ การเตรียมความพร้อมฝึกอบรมบุคลากรในการใช้งานอุปกรณ์บันทึกภาพและเสียง
มาตราที่ได้ขยายเวลาการบังคับใช้ออกไป
- มาตรา 22 การควบคุมตัว เจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้รับผิดชอบต้องบันทึกภาพและเสียงอย่างต่อเนื่องในขณะจับและควบคุมจนกระทั่งส่งตัวให้พนักงานสอบสวนหรือปล่อยตัวบุคคลดังกล่าว
- มาตรา 23 การควบคุมตัว เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับผิดชอบต้องบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกควบคุมตัว
- มาตรา 24 การเข้าถึงข้อมูลของผู้ถูกควบคุมตัว
- มาตรา 25 การไม่เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกควบคุมตัว กรณีอยู่ภายใต้การคุ้มครองของกฎหมายละเมิดต่อความเป็นส่วนตัว เกิดผลร้ายต่อบุคคล หรือเป็นอุปสรรคต่อการสืบสวนสอบสวน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
มติศาล 8 ต่อ 1 ตีตก พ.ร.ก.เลื่อนบังคับใช้ พ.ร.บ.อุ้มหายฯ
ตร.พร้อมปฏิบัติตาม พ.ร.บ.อุ้มหายฯ ไม่ใส่เกียร์ว่าง แม้อุปกรณ์ไม่พร้อม