ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เลือกตั้ง2566 : ไขความหมาย MOU 8 พรรคร่วม “พลิ้ว” ได้หรือไม่

การเมือง
23 พ.ค. 66
12:57
707
Logo Thai PBS
เลือกตั้ง2566 : ไขความหมาย MOU 8 พรรคร่วม “พลิ้ว” ได้หรือไม่
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
หลังประกาศผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการเมื่อวันที่ 15 พ.ค.2566 ที่ผ่านมา ไม่มีแลนด์สไลด์แต่ “ก้าวไกล” ในฐานะพรรคการเมืองที่ได้คะแนนเสียงมากที่สุด กวาด ส.ส.ทั้งแบบเขต และบัญชีรายชื่อ รวม 151 คน เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

แม้การขยับในเชิงสัญลักษณ์ทางการเมืองมีความก้าวหน้าไประดับหนึ่งแล้ว หลังจากนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ว่าที่นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ทำบันทึกข้อตกลง หรือ MOU ร่วมกับพรรคร่วมรัฐบาลไปแล้ว เมื่อวันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา

แต่มีคำถามว่า หลังจากนี้พรรคก้าวไกลจะเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลได้อย่างไร เพราะรัฐบาลก้าวไกล มีพรรคร่วมรัฐบาลหลายพรรค และแต่ละพรรคมีนโยบายที่เสนอต่อประชาชนแตกต่างกัน

แม้ก่อนหน้านี้จะมีการเผยแพร่สาระสำคัญ MOU ของ 8 พรรคร่วมฯ ออกมาอย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่สะเด็ดน้ำ จนการแถลงครั้งล่าสุดระบุว่าประเด็นทั้งหมดของทุกพรรคถูกเขย่ารวมกันจนเหลือ 23 ประเด็น

มีข้อสงสัยว่า MOU หรือการทำบันทึกข้อตกลง ไม่ใช่ข้อกฎหมาย ไม่มีผลในการบังคับหากมีพรรคใด พรรคหนึ่งบิดพลิ้ว ไม่ทำตามกติกาตามที่ตกลงกันไว้ แล้วจะมีผลอย่างไรหรือไม่ในทางการเมือง

ไทยพีบีเอสออนไลน์ ไขความหมายและข้อแตกต่างระหว่าง MOU และ MOA

นายพิสิษฐ์ วงศ์เธียรธนา หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดมุกดาหาร อดีตผอ.ส่วนพัฒนากฎหมายและให้คำปรึกษา กองกฎหมาย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย อธิบายความหมายของ MOU หรือ Memorandum of Understanding ว่า

หมายถึง “บันทึกความเข้าใจ” เป็นการจัดทำหนังสือที่แสดงความประสงค์ของบุคคลหรือนิติบุคคลสองฝ่าย หรือมากกว่านั้น ที่จะร่วมมือกัน โดยเต็มใจที่จะปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ระบุ มีการวางแผน ทำกิจกรรมร่วมกันในภาพกว้าง “โดยไม่ถือว่าเป็นสัญญาผูกมัดใด ๆ เนื่องจากไม่มีสภาพบังคับ หากไม่ปฏิบัติตาม”

เป็นเพียงการแสดงเจตนาที่แน่วแน่ของผู้ลงนามว่า “จะปฏิบัติตามเนื้อหาที่ระบุไว้ใน MOU” ซึ่งปกติใช้สำหรับความตกลงที่มีขอบเขตจำกัด หรือ มิได้มีลักษณะเป็นการถาวร มักจะมีการเรียกชื่ออีกอย่างว่า “บันทึกความเข้าใจความร่วมมือ” เป็นหลักฐานยืนยัน ถึงการสนับสนุนการทำงานร่วมกัน การให้ความช่วยเหลือด้านทรัพยากร องค์ความรู้ และบุคลากร ระหว่างกัน

ส่วน MOA หรือ Memorandum of Agreement หมายถึง “บันทึกข้อตกลง” เป็นหนังสือสัญญาซึ่งมีข้อตกลงที่มีรายละเอียดลักษณะกิจกรรมที่ชัดเจน มีการระบุหลักเกณฑ์ ข้อบังคับ หรือวิธีการให้บุคคลที่เกี่ยวข้อง ต้องปฏิบัติตามหรือดำเนินการในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ตามที่ให้สัญญาไว้

กล่าวคือ MOA มีสภาพบังคับตามกฎหมาย และได้รับการคุ้มครองในทางกฎหมาย ดังนั้นหากฝ่ายใดประพฤติผิดสัญญา อีกฝ่ายก็สามารถฟ้องร้องดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้ ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้ว MOA มักจะเป็นการลงนามในเรื่องสำคัญและมีการกำหนดให้ต้องปฏิบัติตามระเบียบกฎหมาย

หรืออธิบายง่ายๆ คือ ถ้าไม่ทำตามเงื่อนไขใน MOU จะไม่มีความผิด ไม่ผิดกฎหมาย แต่อาจจะไม่เป็นที่พอใจของผู้ที่ร่วมลงนามด้วย หรือถูกมองว่าเสียมารยาท

แต่หากเป็น MOA ผู้ที่ไม่ทำตามข้อตกลงถือว่า ทำผิดกฎหมาย คู่ตกลงสามารถฟ้องร้องตามกฎหมายแพ่งฯ ได้

สิ่งที่ต้องจับตาหลังจากนี้ เมื่อพรรคร่วมพร้อมจัดตั้งรัฐบาลได้แล้ว การปฏิบัติตาม MOU ที่ตกลงกันไว้จะทำได้มากน้อยเพียงใด และมีประเด็นอื่นใด นอกเหนือจากนี้หรือไม่ ที่จะถูกซุก หรือจะถูกนำขึ้นมาโชว์ในยุครัฐบาลก้าวไกล

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

เลือกตั้ง2566 : "พิธา" นั่งวินไปสภาอุตฯ หารือขึ้นค่าแรง ไม่กังวลผลโหวตของ ส.ว.

เลือกตั้ง2566 : "พีระพันธุ์" ประชุมว่าที่ 36 ส.ส. ย้ำ "ลุงตู่"ช่วยหาเสียงเพิ่มคะแนนนิยมพรรค

เลือกตั้ง2566 : "กิตติศักดิ์" เผยแนวโน้ม 2 ทาง ส.ว.โหวต "พิธา" เป็นนายกฯ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง