วันนี้ (23 พ.ค.2566) นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย ชี้สถานะ ของ ครม.สิ้นสุดลงแล้ว จึงไม่มีเหตุให้ต้องแสดงความรับผิดชอบ กรณีศาลรัฐธรรมนูญ ตีตก พ.ร.ก.กฎหมายอุ้มหายฯ พร้อมระบุร่างแก้ไขกฎหมายอาญา มาตรา 112 หากผลักดันด้วยบทบาทของพรรคก้าวไกล บทสรุปจะไม่ต่างกับร่างกฎหมาย "กัญชา-กัญชง" ของพรรคภูมิใจไทย
"วิษณุ" ชี้แก้ ม.112 ไม่ต่างเสนอกฎหมายกัญชา
แม้จะปฏิเสธให้ความเห็นต่อเนื้อหาสาระใน "MOU" ของพรรคร่วมรัฐบาลก้าวไกล แต่รองนายกรัฐมนตรี "วิษณุ เครืองาม" ก็กล่าวยอมรับว่า ไม่เห็นด้วยเรื่องการผลักดันแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ไว้ และวางให้เป็นบทบาทเฉพาะของพรรคก้าวไกล คือนัยที่รัฐบาลจะไม่ต้องร่วมรับผิดชอบด้วย
แต่แนวทางหรือทิศทางของการแก้ มาตรา 112 จะมีบทสรุปไม่ต่างกับร่างกฎหมายกัญชา-กัญชงของพรรคภูมิใจไทย
ย้อนไปช่วงปลายปี 2564 ส.ส.พรรคก้าวไกล นำโดย นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค และ นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรค ร่วมกันยื่นเสนอแก้กฎหมาย เพื่อรับประกันเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน รวม 5 ฉบับ โดย 1 ใน 5 ฉบับนั้น คือร่างแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และมาตราอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
แต่ไม่สามารถบรรจุเข้าสู่การประชุมสภาฯ เพื่อพิจารณาได้ เนื่องจากสภาผู้แทนราษฎร ตีความเนื้อหาสาระของร่างแก้ไขแล้ว ชี้ว่ามีบทบัญญัติที่อาจขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 ว่าด้วยองค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ในขณะที่พรรคก้าวไกล อ้างหลักการและเหตุผลว่า
กฎหมายนี้ ไม่มีความเหมาะสมทั้งในแง่ของโครงสร้างของบทบัญญัติ อัตราโทษ และบุคคล ที่ติชมโดยสุจริต เพื่อธำรงไว้ซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รัฐธรรมนูญ และประโยชน์สาธารณะ และยังปรากฏชัด ว่าเปิดช่องให้บุคคลทั่วไป นำไปใช้เป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งผู้อื่น หรือนำไปใช้โดยไม่สุจริต และไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย
สาระสำคัญของการแก้ไข
คือการลดอัตราโทษจากระหว่าง 3 ถึง 15 ปี เหลือสูงสุดไม่เกิน 1 ปี ให้ยกเว้นความผิดกรณีติชมโดยสุจริต ให้สามารถยอมความได้ และให้สำนักพระราชวัง เป็นผู้แจ้งความ ดำเนินคดีเท่านั้น
3 ส.ค.เลือกนายกฯ คนใหม่ - ครม.ประยุทธ์ รักษาการถึง 11 ส.ค.
มีรายงานว่า วันนี้ นายวิษณุ ยังได้กางไทม์ไลน์การเมือง ให้ที่ประชุม ครม.รับทราบถึงการปฏิบัติหน้าที่ "รักษาการ" วันสุดท้าย น่าจะเป็นวันที่ 11 ส.ค.นี้ โดยเทียบตามกรอบเวลาการทำงานของ กกต. ในวันสุดท้ายของการประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง คือ 13 ก.ค. จากนั้นก็จะมี พ.ร.ฎ.เปิดประชุมรัฐสภา
และน่าจะมีรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภาในวันที่ 25 ก.ค. เพื่อเลือกประธานรัฐสภา จากนั้นก็จะกำหนดวันประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ คาดการณ์ว่าเป็นวันที่ 3 สิงหาคม และตามกระบวนการน่าจะใช้เวลา 1 สัปดาห์ในการตั้ง ครม. และเข้าถวายสัตย์ปฏิญาณฯ ซึ่งเป็นการทำงานวันสุดท้ายของ ครม.ชุดรักษาการปัจจุบัน
ในขณะเดียวกัน นายวิษณุ ก็เปิดเผยว่า ครม.ได้พิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการตามกฎหมายอุ้มหายฯ เพื่อเดินหน้าปฏิบัติตามผลบังคับใช้แล้ว และชี้ว่า ครม.มีสถานะที่สิ้นสุดลงแล้ว จึงไม่มีเหตุให้ต้องแสดงความรับผิดชอบจะ "ลาออกหรือยุบสภา" อีก หลังศาลรัฐธรรมนูญ ตีตกพระราชกำหนดเลื่อนการบังคับใช้
อ่านข่าวเพิ่ม :
เลือกตั้ง2566 : "ส.ว.พิสัณห์" ชี้ MOU ไม่แก้ ม.112 เป็นทิศทางที่ดี ชม "พิธา" เหมาะผู้นำประเทศ
เลือกตั้ง2566 : นักวิชาการชี้ให้ใจเย็น 8 พรรค MOU จับมือฝ่าด่านอรหันต์