นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า สถานการณ์โควิด 19 กลับมาระบาด ตั้งแต่ต้นเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา เดิมคาดการณ์ว่า ในช่วงหลังเทศกาลสงกรานต์จำนวนผู้ติดเชื้อจะลดลง แต่ช่วงกลางเดือน พ.ค.ที่ผ่านมามีการเลือกตั้ง คนกลับภูมิลำเนา
รวมทั้งการเดินทางเข้าออกประเทศ มีนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศไทย ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ปัจจัยหลักที่ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น เพราะคนทำกิจกรรมนอกบ้านโดยไม่ระมัดระวังมากขึ้น
ส่วนปัจจัยรองอาจจะมาจากสายพันธุ์ย่อยที่มาจากตระกูลของโอไมครอน XBB ซึ่งแพร่กระจายติดเชื้อในช่วงที่ภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติและจากวัคซีนของคนไทยเริ่มตกลง
เราก็ไม่อยากให้เกิดสภาพที่มีความโกลาหล ผู้ป่วยต้องการเข้าโรงพยาบาลลำบากเป็นดราม่าบนท้องถนน น่าจะหลีกเลี่ยงสภาวะแบบนั้น ทุกคนทุกฝ่ายต้องระมัดระวัง
ผู้เสียชีวิตเพิ่ม 20 เท่า
หากเปรียบเทียบสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ช่วงปลายเดือน มี.ค.กับต้นเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา จากเดิมมีผู้ป่วยโควิด-19 เข้ารักษาอาการที่โรงพยาบาลวันละ 20 คน แต่ขณะนี้มีผู้ป่วยโควิด-19 เข้ารักษาที่โรงพยาบาลวันละ 400 คน เพิ่มขึ้น 20 เท่า
จากการคาดการณ์ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทุก 100 คน จะมีคนเข้ารักษาอาการที่โรงพยาบาลประมาณร้อยละ 2 จากตัวเลขนี้จึงคาดการณ์ว่า ขณะนี้มีผู้ติดเชื้อวันละ 20,000 - 40,000 คน จากเดิมวันละประมาณ 2,000 คน
ปลายเดือน มี.ค.เข้าโรงพยาบาลวันละประมาณ 20 คน ตอนนี้น่าจะติดเชื้อโควิด-19 ประมาณ 20,000 - 40,000 คน เข้าโรงพยาบาลวันละ 400 คน
เฝ้าระวังผู้ติดเชื้อกลุ่มเปราะบาง
นพ.นิธิพัฒน์ ระบุว่า ตัวเลขผู้เสียชีวิตเริ่มเห็นชัดเจนตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมา พบมีผู้เสียชีวิตจำนวน 66 คนต่อสัปดาห์ จากเดิมคือ 3-4 คนต่อสัปดาห์ ตัวเลขนี้พบว่าผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 20 เท่าเช่นเดียวกับจำนวนผู้ติดเชื้อ
พบผู้ป่วยอาการปอดอักเสบเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลประมาณร้อยละ 5 และในผู้ที่มีอาการปอดอักเสบจำนวนครึ่งหนึ่งต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ โดยในจำนวนคนที่ใช้เครื่องช่วยหายใจครึ่งหนึ่งเสียชีวิต ยังพบว่า ผู้เสียชีวิตที่พบครึ่งหนึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางที่ติดเชื้อโควิด-19 และเสียชีวิตเกี่ยวข้องกับการติดเชื้อโควิด
ส่วนอีกครึ่งหนึ่ง เป็นกลุ่มคนเปราะบางและติดเชื้อโควิด-19 ไม่ได้เสียชีวิตจากปอดอักเสบแต่เสียชีวิตจากโรคเดิมของผู้ป่วยที่กำเริบรุนแรงขึ้นหลังติดเชื้อโควิด-19 เช่น ไตวาย หัวใจวายกำเริบ ถุงลมโป่งพองกำเริบ
ประมาณครึ่งหนึ่งเสียชีวิตโดยตรงจากโควิด อีกครึ่งหนึ่งเสียชีวิตจากโรคเดิมที่กำเริบขึ้น ตัวเลขที่เรารายงานผู้เสียชีวิต ยังยึดตัวเลขผู้เสียชีวิตโดยตรงจากโควิดเป็นหลัก แต่บางรายก็อาจจะตอบไม่ได้
ตัวเลขพวกนี้จะเห็นมากกว่าเดิม 20 เท่า ทั้งจำนวนผู้ป่วยที่ต้องเข้าโรงพยาบาล ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง ปอดอักเสบเกิดขึ้น ผู้ป่วยที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ผู้ป่วยที่เสียชีวิตเพิ่มขึ้นมาประมาณ 10-20 เท่า
เตือน ปชช.หลีกเลี่ยงการรวมกลุ่ม
นพ.นิธิพัฒน์ เตือนประชาชนควรใส่หน้ากากอนามัยในที่สาธารณะที่มีคนจำนวนมากหรือพื้นที่แออัดและควรหลีกเลี่ยงการรวมตัวกันจำนวนมาก ๆ รวมทั้งช่วงเวลานี้มีประเด็นทางการเมือง มีกลุ่มคนที่จะรวมตัวกัน
แม้การรวมตัวจะอยู่ในพื้นที่เปิด แต่ต้องเดินทางมาในพื้นที่ชุมนุมหรือการจับกลุ่มถือว่ามีความเสี่ยง และการล้างมือก็เป็นสิ่งสำคัญ รวมไปถึงกลุ่มคนที่เป็นบุคคลสาธารณะขอให้ช่วยย้ำเตือนประชาชนถึงความสำคัญในการควบคุมการระบาดของโควิดในระยะนี้ด้วย
เราต้องช่วยดูแลกลุ่มคนเปราะบาง กลุ่มคนที่เรารักที่ไม่มีโอกาสป้องกันตัวได้ดีเหมือนเรา แต่ถ้าเราติดก็จะกระจายไปสู่คนเปราะบางที่จะมีอาการรุนแรง พวกเขามีโอกาสป้องกันตัวเองน้อย