ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

1 มิถุนายน : “วันดื่มนมโลก” World Milk Day

ไลฟ์สไตล์
25 พ.ค. 66
12:00
2,448
Logo Thai PBS
1 มิถุนายน : “วันดื่มนมโลก” World Milk Day
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
1 มิถุนายน ถูกกำหนดให้เป็น “วันดื่มนมโลก” โดย FAO เพื่อมุ่งหวังให้ทุกประเทศให้ความสำคัญกับการดื่มนม “ไทยพีบีเอสออนไลน์” รวบรวมข้อมูลและข้อแนะนำเกี่ยวกับการดื่มนมและเลือกซื้อนมให้ปลอดภัย

องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (The Food and Agriculture Organization หรือ FAO) กำหนดให้วันที่ 1 มิ.ย.ของทุกปี เป็น “วันดื่มนมโลก” (World Milk Day) เพื่อให้ประเทศต่างๆ ให้ความสำคัญและสนับสนุนการบริโภคนม

“นม” เป็นแหล่งอาหารประเภทโปรตีนที่มีคุณภาพดี ช่วยในการเจริญเติบโตของร่างกาย และสำคัญมากต่อมวลกระดูกและการขยายตัวของกระดูก ซึ่งในช่วงวัยรุ่นที่เริ่มมีช่วงโตเร็วจะมีการสะสมมวลกระดูกเพิ่มมากขึ้น รวมถึงซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกายในผู้ใหญ่ นอกจากนี้นมยังมีวิตามินต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อร่างกาย เช่น วิตามินเอ วิตามิน บี 1 ,บี 2 ,บี 6, บี 12, วิตามินดี แคลเซียม และฟอสฟอรัสบำรุงกระดูกให้แข็งแรง

อย่างไรก็ตาม นมโคสดแท้ 100% ไขมันต่ำ รสจืด มีคุณค่าทางโภชนาการดีกว่านมที่มีการปรุงแต่งด้วยน้ำตาลและกลิ่น เนื่องจากมีแคลเซียมในปริมาณมาก ช่วยสร้างกระดูกที่มีผลต่อพัฒนาการด้านความสูง

ดื่มนมให้เหมาะสมตามวัย

นักโภชนาการ หรือนักกำหนดอาหารวิชาชีพ แนะนำการดื่มนมตามหลักการบริโภคอาหารของธงโภชนาการ ดังนี้

กลุ่มเด็กก่อนวัยเรียน 1 ขวบปีขึ้นไป และเด็กวัยเรียน ควรเลือกดื่มนมรสจืด 2 แก้วต่อวัน (โดยปริมาตรนม 1 แก้ว เท่ากับ 240 มิลลิลิตร) ช่วยทำให้กระดูกและฟันแข็งแรง

สำหรับเด็กที่มีสุขภาพดีปกติ ควรดื่มนมครบส่วน ไม่ควรเลือกดื่มนมพร่องมันเนยหรือไร้ไขมัน เพราะมีแหล่งพลังงาน คือ ไขมันและวิตามินเอ, ดี, อี, เค ซึ่งละลายในไขมัน และในเด็กที่มีภาวะโภชนาการเกินเกณฑ์ (เด็กอ้วนหรือเด็กที่มีน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์) สามารถเลือกดื่มนมพร่องมันเนยได้ เพื่อช่วยควบคุมระดับน้ำหนักตัว

กลุ่มหญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตร ควรเลือกดื่มนมรสจืด วันละ 2 แก้วและบริโภคปลาเล็กปลาน้อย 2 ช้อน กินข้าวหรือผักใบเขียวเข้ม 4 ทัพพี หรือเต้าหู้แข็ง 1 แผ่นเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างกระดูกของทั้งแม่และทารกในครรภ์

กลุ่มวัยรุ่น วัยผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ แนะนำให้ดื่มนมรสจืดพร่องมันเนยหรือไร้ไขมัน วันละ 2 แก้ว เพื่อให้ได้รับแร่ธาตุแคลเซียมเพียงพอ ป้องกันภาวะกระดูกพรุน

สำหรับผู้ที่มีปัญหาภาวะไขมันในเลือดสูง ควรเลือกดื่มนมรสจืดพร่องมันเนย หรือนมไร้ไขมัน ดีกว่านมปรุงแต่งรส

ส่วนใครที่เลี่ยงดื่มนม เพราะเชื่อว่านมทำให้อ้วน ความจริงแล้วไม่ว่าจะเป็นนมสด นมพร่องไขมัน หรือนมไม่มีไขมัน มีปริมาณไขมันแค่เพียง 3.9%, 1.7% และ 0.3% เท่านั้น

เลือกซื้อ “นมพร้อมดื่ม” ให้ปลอดภัย

มีคำแนะนำจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เกี่ยวกับวิธีการเลือกซื้อนมพร้อมดื่ม โดยก่อนซื้อให้ตรวจสอบผลิตภัณฑ์นม ซึ่งต้องมีเลขสารบบอาหาร 13 หลัก มีข้อมูลบนฉลากครบถ้วน ได้แก่ ชื่ออาหาร ชื่อที่ตั้งผู้ผลิต ผู้แบ่งบรรจุ ปริมาณสุทธิ ส่วนประกอบสำคัญ วันเดือนปีที่ผลิต และวันเดือนปีที่หมดอายุ

ภาชนะบรรจุต้องอยู่ในสภาพเรียบร้อย ไม่รั่ว ไม่ซึม ไม่บวม ไม่ฉีกขาด และควรเลี่ยงการซื้อนมจากร้านค้าที่มีการเก็บผลิตภัณฑ์นมเพื่อจำหน่ายแบบไม่เหมาะสม เช่น ตู้แช่หรือสถานที่เก็บไม่ได้มาตรฐาน

นอกจากนี้ การเก็บรักษานมเป็นสิ่งสำคัญเพราะมีผลต่อคุณภาพของนม โดยนมหลายประเภทที่จำหน่ายในท้องตลาดมีวิธีการเก็บรักษาแตกต่างกัน

  • นมพาสเจอร์ไรส์ : ซื้อมาแล้วควรเก็บในตู้เย็นทันที เก็บได้นานประมาณ 10 วันที่อุณหภูมิไม่เกิน 8 °C นับจากวันที่บรรจุ ในกรณีที่ดื่มไม่หมดต้องการเก็บไว้ดื่มอีก ควรเทแบ่ง ไม่ดื่มจากภาชนะบรรจุโดยตรงเพราะจะทำให้นมที่เหลือบูดง่าย
  • นมยูเอชที ควรเก็บไว้ที่อุณหภูมิปกติ ไม่ควรโดนแดดโดยตรง ไม่เก็บซ้อนหลายชั้นเกินไป และเก็บได้นานประมาณ 6 เดือน
  • นมเปรี้ยว ควรเก็บในตู้เย็น ซึ่งสามารถเก็บได้นานกว่านมประเภทอื่น
  • นมเปรี้ยวพร้อมดื่มพาสเจอร์ไรส์ หากเก็บในอุณหภูมิไม่เกิน 8 °C จะเก็บได้นานถึง 21 วัน ส่วนนมเปรี้ยวพร้อมดื่มยูเอชที เก็บได้ประมาณ 8 เดือน โดยไม่ต้องแช่เย็น
  • นมสเตอริไรซ์ (กระป๋อง) เก็บได้นานประมาณ 12 เดือน โดยไม่ต้องแช่เย็น แต่ไม่ควรให้โดนแดดโดยตรง

สำหรับการเน่าเสียของนมพร้อมดื่มอาจเกิดได้หลายกรณี ทั้งกระบวนการผลิตที่อาจใช้ความร้อนสูงไม่เพียงพอ หรือใช้เวลาฆ่าเชื้อน้อยเกินไป การบรรจุไม่ถูกสุขลักษณะทำให้มีการปนเปื้อน เก็บรักษาในอุณหภูมิไม่เหมาะสม รวมถึงลักษณะการขนส่งที่ไม่ถูกต้อง อาจเป็นสาเหตุให้ภาชนะบรรจุนมรั่วซึม ทำให้จุลินทรีย์จากภายนอกปนเปื้อนเข้าไปได้

ดังนั้น ควรเคลื่อนย้ายภาชนะบรรจุนมด้วยความระมัดระวัง อย่าให้กระแทกกับของแข็งหรือของมีคม ไม่ควรโยนหรือเหยียบบนกล่องบรรจุขณะขนย้าย และไม่ควรวางกล่องนมซ้อนเกิน 7 ชั้น แต่หากเป็นการหุ้มด้วยพลาสติก ไม่ควรวางเกิน 5 ชั้น เพราะจะทำให้กล่องนมด้านล่างถูกกดทับจนเกิดการรั่วซึมได้

ข้อมูล : คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)

อ่านข่าวอื่นๆ

ปฏิทินมิถุนายน 2566 เช็กวันหยุดราชการ วันหยุดธนาคาร

เมื่อโลกเผชิญภาวะโลกร้อน จนทำให้ฝนตกนานถึง "2 ล้านปี"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง