ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เลือกตั้ง2566 : "แฟนด้อมการเมือง" ตัวละครใหม่ในเวทีการเมืองไทย

การเมือง
25 พ.ค. 66
16:16
1,125
Logo Thai PBS
เลือกตั้ง2566 : "แฟนด้อมการเมือง" ตัวละครใหม่ในเวทีการเมืองไทย
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"ส้มรักพ่อ" ปรากฏการณ์ "แฟนด้อมทางการเมือง" ที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ "ก้าวไกล" คว้าเส้นชัยอันดับ 1 ในขณะที่ฤทธิ์เดชของ "ด้อมส้ม" ก็ทำให้ก้าวไกลเป็น "ก้าวพลาด" กับ #มีกรณ์ไม่มีกู ได้เช่นกัน

ยุคนี้เป็นยุคของ "แฟนคลับ" หรือ "แฟนด้อม" พื้นที่การรวมตัวของกลุ่มคนที่ชื่นชอบ พูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในสิ่งเดียวกัน และพากันแสดงออกไปในการเดียวกัน เช่น ด้อมศิลปิน K-Pop ต่างๆ, แฟนคลับทีมกีฬา, แฟนคลับสัตว์เลี้ยง และ "แฟนด้อมการเมือง (Political Fandom)" ผลผลิตจากการเมืองแบบเซเลบริตี้ การเมืองที่เปลี่ยนจากการเมืองแบบดั้งเดิม ไปตามช่วงเวลาและความต้องการของประชาชน

การเมืองเซเลบริตี้ (Celebrity Politics)

ไม่ได้หมายถึงคนดังในสังคมมาเล่นการเมือง แต่นักวิชาการทั่วโลกต่างนิยามคำๆ นี้ว่า เมื่อนักการเมืองใช้ "เทคนิคทางการตลาด" เพิ่มฐานเสียงของตัวเองในช่วงหาเสียงเลือกตั้งจนสร้างแบรนด์ให้กับตัวเอง หรือ Personal Branding ได้

บวกกับยุคที่คนเข้าไปอยู่ในโลกออนไลน์ การสร้างฐานเสียงให้ตนเองจึง "ง่ายและไว" มากขึ้น เพราะโลกออนไลน์แทบไม่ต้องใช้ต้นทุนใดๆ อยากลงคอนเทนต์อะไรก็ไม่ต้องกังวลเรื่องข้อจำกัดทางการสื่อสารเหมือนสถานีโทรทัศน์ และไม่ต้องรอเวลา สามารถอัปคอนเทนต์ได้ตลอด 24 ชั่วโมง และที่สำคัญที่สุดคือ "ฟรี"

หลายพรรคการเมืองสื่อสารข้อมูลผ่านช่องทางออนไลน์กับประชาชนก็จริง แต่ดูเป็นการสื่อสารทางเดียว หรือ One-way Communication เสียมากกว่า แต่นั่นไม่ใช่เป้าหมายที่สำคัญที่สุด

การส่งต่อข้อมูลระหว่างคนทั่วไป จนกระทั่งนำไปสู่การพูดคุย แลกเปลี่ยน การติดตาม ช่วยเหลือ ปกป้อง และลามไปสู่ การนำข้อความจากออนไลน์สู่ออฟไลน์ สู่คนที่ไม่มีเครื่องมือสื่อสาร ไม่มีอินเตอร์เน็ต เหล่านี้คือกุญแจสำคัญที่ทำให้เกิด Two-way Communication เป็นการสื่อสารที่ได้ประสิทธิภาพที่สุด ที่ "ก้าวไกล" ใช้ 

"ก้าวไกล" กับ "โลกออนไลน์"

นักวิชาการด้านการตลาดระบุว่า ในยุคที่คนเบื่อการเมืองแบบเก่าๆ เบื่อความไม่ชัดเจน "ไม่ Hit to the point" แต่พรรคก้าวไกลใช้กลยุทธ์ เปลี่ยน Pain Point เป็น Gain Point นั่นคือ การหยิบเอาจุดที่คนเจ็บปวดมาแก้ไขเพื่อสร้างเป็นประโยชน์กลับคืนไป

คำๆ นี้ไม่ใช่ศัพท์ใหม่ แต่ก้าวไกลใช้เป็นคอนเทนต์ใหม่ที่ใช้ในการหาเสียง

นักการตลาด CK Fastwork เล่าถึงจุดเด่นที่ทำให้ก้าวไกลเป็นกระแสในโลกออนไลน์ ได้แก่

1. จุดยืนขององค์กรที่ชัดเจน ทั้งการสร้างวาทกรรม "มีลุง ไม่มีเรา" หรือการพูดถึงมาตรา 112 อย่างไม่ตะขิดตะขวงใจ จนทำให้คนเริ่มมีภาพจำและนึกถึงพรรคแม้จะไม่ได้พูดชื่อพรรค หรือ ชื่อบุคคลก็ตาม

2. การสร้างแบรนด์ตัวตนของ "พิธา" ที่ทุกสื่อ ทุกเวทีดีเบต ต้องเจอหัวหน้าพรรคก้าวไกลคนนี้ จนทำให้ผู้สมัครเขตอื่นๆ ที่อาจจะไม่มีใครรู้จักกว้างขวาง แต่ประชาชนก็เลือกให้เพราะเชื่อในตัวบุคคลและองค์กร

พิธา และผู้สมัคร ส.ส. เขตอื่น

พิธา และผู้สมัคร ส.ส. เขตอื่น

พิธา และผู้สมัคร ส.ส. เขตอื่น

3. การทำให้คนรู้สึกเข้าถึง เป็นเพื่อน เป็นครอบครัวเดียวกัน อย่างที่เห็นชัดเจนคือการดีเบตครั้งสุดท้ายที่พรรคก้าวไกลเลือกจะทำเวทีแบบวงกลมกลางสนาม และให้คนมานั่งล้อมรอบ สร้างความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวระหว่างพรรคและคน

เวทีดีเบตครั้งสุดท้าย พรรคก้าวไกล

เวทีดีเบตครั้งสุดท้าย พรรคก้าวไกล

เวทีดีเบตครั้งสุดท้าย พรรคก้าวไกล

อีกสิ่งที่สำคัญคือ ก้าวไกลมักจะบอกว่า พรรคตนเองไม่มีเงิน เพื่อสร้างความโปร่งใส ขจัดปัญหาการซื้อเสียง เรื่องเดิมๆ ที่ต้องมาพร้อมกับการเลือกตั้ง สร้างประสบการณ์ใหม่ที่แฝงด้วยการแก้ปัญหาพื้นฐานของการเลือกตั้งให้คนรับรู้ กระทั่งเป็นพรรคการเมืองพรรคเดียวในการเลือกตั้ง 2566 ที่ "ชวน หลีกภัย" ยอมรับกับ สุทธิชัย หยุ่น ในรายการพิเศษเกาะติดสถานการณ์เลือกตั้ง ไทยพีบีเอส เมื่อวันที่ 14 พ.ค.ที่ผ่านมา

ก้าวไกลไม่ได้ใช้เงินซื้อเสียง ได้มาด้วยกระแสความนิยมของพรรค

หรือ "ด้อมส้ม" แฟนด้อมทางการเมืองนั่นเอง

"พิธา" กับ "ด้อมส้ม"

ทุกแฟนด้อม จะมีความควาดหวังเป็นที่ตั้งอยู่แล้ว
ก่อนที่จะไปถึงจุดหมาย พวกเขาเต็มที่กับการสนับสนุนทุกอย่าง
แต่เมื่อคนที่เขารักไปถึงจุดหมายแล้ว ... เขาจะเริ่มเรียกร้องกลับมา

ผศ.ดร.สกุลศรี ศรีสารคาม อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายถึงความสัมพันธ์เชิงการสื่อสารของ "พิธา" และ "ด้อมส้ม"

การวางตัวให้คนรู้สึกว่าเข้าถึงง่าย เข้าใจถึงปัญหาปากท้องที่แท้จริง และพร้อมรับฟังเสียงทุกเสียง คือ วิธีการที่ "พิธา" เลือกสื่อสารเพื่อลดช่องว่างระหว่างนักการเมืองกับ "ด้อมส้ม" ของเขา แต่ในขณะเดียวกัน "ด้อมส้ม" ก็เป็นเหมือน "ดาบ 2 คม" เช่นกรณี #มีกรณ์ไม่มีกู ที่ถือว่าเป็นกรณีศึกษา วิชาการจัดการ การสื่อสารในสภาวะวิกฤต 101 ที่ก้าวไกลต้องเรียนรู้อย่างมาก ว่าอิทธิพลของ "ด้อมส้ม" นั้นกำลังส่งผลในทางใดกับโลกแห่งความเป็นจริงของก้าวไกลและการจัดตั้งรัฐบาลของเขา

พรรคก้าวไกลแถลงขอโทษ ปม #มีกรณ์ไม่มีกู

พรรคก้าวไกลแถลงขอโทษ ปม #มีกรณ์ไม่มีกู

พรรคก้าวไกลแถลงขอโทษ ปม #มีกรณ์ไม่มีกู

อีกกรณีที่น่าจับตา เมื่อ "พิธา" เปิดเผยเรื่องราวส่วนตัวสู่โลกออนไลน์ ในมุมของพิธา อาจต้องการสื่อให้คนเข้าใจว่า นักการเมืองก็คือคนธรรมดาคนหนึ่ง ใช้ชีวิตตามปกติทั่วไป แต่ก็ไม่ใช่แฟนคลับทุกคนที่จะเข้าใจสิ่งที่เขาสื่อสาร เพราะยังมีด้อมส้มบางส่วน ที่ "จิ้น" กับบางเรื่องจนลามไปสร้างความลำบากใจให้ ไม่เฉพาะแต่ตัวของพิธา แต่รวมถึงใครก็ตามที่อยู่รอบข้างและเป็นประเด็นในขณะนั้น  

แฟนคลับ สร้างได้ ก็ทำลายได้

และแฮชแท็กกรณ์ก็คงไม่ได้เป็นแฮชแท็กแรกและสุดท้าย แต่จะต้องมีอีกหลายแฮชแท็กตามมาอีกมาก ก้าวไกลเองจะต้องจัดระเบียบรักษาสมดุลระหว่าง ความต้องการของด้อมส้ม กับกลุ่มคนอื่นๆ ให้ได้

เมื่อ สร้าง เหล่าด้อมขึ้นมา พวกเขาจะคอยสนับสนุน
เมื่อ มี เหล่าด้อมแล้ว พวกเขาจะช่วยกระจายข้อมูล เป็น "หัวคะแนนธรรมชาติ"
แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ต้อง รักษา เหล่าด้อมให้ได้ เพราะนั่นคือความคาดหวัง
กว่าจะได้มาว่ายากแล้ว แต่การรักษาไว้นั้นยากยิ่งกว่า

ถ้าเลือกจะเอาใจแต่ ด้อมส้ม ฝ่ายเดียว แน่นอนว่าจะถูกภาคสังคม ประชาคมอื่นๆ ตรวจสอบ แต่หากจะไม่เอาใจฝ่ายใดเลย ก็จะทำให้ตัวเองเคลื่อนไหวไม่ได้

หาก พิธา และ ก้าวไกล สามารถทำให้กลุ่มคนที่ชอบก้าวไกลและไม่ชอบ หาจุดกลางหันหน้าพูดคุยกัน เพื่อผลประโยชน์ของประเทศได้ จะถือว่าเป็นสังคมประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ที่ความหลากหลายทางความคิดถูกนำมาพูดคุยแลกเปลี่ยนกันอย่างสันติ จะถือว่าเป็นการทลายกำแพงการเมืองลง และนี่คือสิ่งที่ยังไม่มีใครพูดถึง ดร.สกุลศรี กล่าวทิ้งท้าย

"พิธา" และ "ชัชชาติ"

ปรากฏการณ์ "ชัชชาติแลนด์สไลด์" กับ "ส้มทั้งแผ่นดิน" อาจถูกนำมาเปรียบเทียบได้ในมุมตัวบุคคล ที่มีความเหมือนกันในเรื่องของการสื่อสารกับประชาชน นั่นคือเข้าใจความเดือดร้อน ปัญหาพื้นฐานของคน แนวทางการแก้ไขที่โดนใจคน การเข้าถึง ลดช่องว่างระหว่างกัน และสื่อสารแบบกระชับ เข้าใจง่าย 

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

และน่าจะเป็นสิ่งที่นักการเมือง และ พรรคการเมืองอื่นๆ ต้องรีบปรับตัว ประชาชนไม่ได้ต้องการนโยบายโลกสวยหรือระดับมหภาคที่ฟังแล้วรู้สึกเอื้อมไม่ถึง แต่ประชาชนต้องการความจริงที่จับต้องได้ ยิ่งในโลกปัจจุบันที่แทบทุกอย่างอยู่ในโลกออนไลน์ และกระแสแฟนด้อมที่รักรุนแรง

หมดยุคปลาใหญ่กินปลาเล็ก มีแต่ปลาที่ว่ายน้ำเร็วเท่านั้น
ถึงจะอยู่รอดในโลกปัจจุบัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง