ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"ไข้เลือดออก" ระบาดปีนี้ป่วยแล้ว 1.5 หมื่นคน เสียชีวิต 13 คน

สังคม
26 พ.ค. 66
16:05
1,801
Logo Thai PBS
"ไข้เลือดออก" ระบาดปีนี้ป่วยแล้ว 1.5 หมื่นคน เสียชีวิต 13 คน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กรมควบคุมโรค เผย ไข้เลือดออกระบาด ปีนี้ป่วยแล้ว 1.5 หมื่นคน ยอดมากกว่าปีก่อน 5.4 เท่า เสียชีวิต 13 คน แนะกำจัดยุงลายอย่างถูกวิธี หากมีอาการป่วยไข้ ไม่ควรซื้อยาลดไข้ในกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) มากินเองทำให้เสี่ยงเสียชีวิตมากขึ้น

วันนี้ (26 พ.ค.2566) นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยพบรายงานผู้ป่วยโรคติดต่อนำโดยยุงลายเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะโรคไข้เลือดออก ข้อมูลจากรายงานในปี 2566 ตั้งแต่ต้นปีจนถึงสัปดาห์ที่ 19 ของปี พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกสะสม 15,399 คน ซึ่งมากกว่าปี 2565 เมื่อเทียบในช่วงเวลาเดียวกัน พบผู้ป่วย 2,942 คน มากกว่าถึง 5.4 เท่า อีกทั้งยังพบผู้ป่วยเสียชีวิตด้วยโรคไข้เลือดออกยืนยันแล้วถึง 13 คน

5 จว.พบผู้ป่วยสูงสุด เปิดศูนย์บัญชาการสกัดโรค 

พื้นที่ระบาด 5 จังหวัดแรกที่พบผู้ป่วยสูงสุด คือ น่าน ตราด ชุมพร จันทบุรี และตาก ซึ่งกรมควบคุมโรคได้ให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวที่ไม่ใช่เหตุการณ์ปกติ และเข้าเกณฑ์ที่จะต้องเปิดศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ของกรมควบคุมโรค จะมีอธิบดีกรมควบคุมโรคเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ และดำเนินการไปพร้อมกับหน่วยงานเครือข่ายในพื้นที่ระบาด เพื่อระดมสรรพกำลังและทรัพยากรจากส่วนอื่น ๆ เข้ามาจัดการป้องกันควบคุมโรคให้เกิดประสิทธิผลให้ได้มากที่สุด

จากข้อมูลการสำรวจดัชนีลูกน้ำยุงลายของกองโรคติดต่อนำโดยแมลง ที่สำรวจลูกน้ำยุงลายในภาชนะน้ำขังตามสถานที่ต่าง ๆ พบว่า "วัด" เป็นสถานที่ที่พบลูกน้ำสูงสุด (ร้อยละ 64.6) รองลงมา คือ โรงเรียน (ร้อยละ 55.1) สถานที่ราชการและโรงงานพบมากเป็นลำดับถัดมา ความสำคัญคือวัดเป็นสถานที่มีประชาชนเข้ามาทำบุญมากมาย อาจเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดโรคเป็นอย่างมาก และโรงเรียนคือสถานที่ที่มีกลุ่มเสี่ยงคือเด็กนักเรียนกลุ่มวัย 5 ปีขึ้นไป ซึ่งจากสถิติเป็นกลุ่มที่มีรายงานการป่วยมากที่สุด

ป่วยไม่ควรซื้อยากินเอง - รีบพบแพทย์  

สำหรับประชาชน หากมีอาการป่วยหรือสงสัยว่าป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก ต้องรีบไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรับการรักษาที่ถูกต้อง ไม่ซื้อยารับประทานเองโดยเฉพาะยาในกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) เช่น ไอบูโพรเฟน ไดโครฟีแนก แอสไพริน รวมถึงยาชุด ซึ่งมีผลทำให้เลือดออกในทางเดินอาหารได้ง่าย และยากต่อการรักษา ทำให้เสี่ยงต่อการเสียชีวิต

นพ.รัฐพงษ์ บุรีวงษ์ ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กล่าวว่า การเปิดศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ เมื่อวันที่ 23 พ.ค.2566 ผ่านมา มีวัตถุประสงค์หลักคือ เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกของประเทศไทยให้ไม่เกินค่ามัธยฐานย้อนหลัง 5 ปี ภายในเดือน มิ.ย. และตลอดช่วงฤดูฝน (มิ.ย. - ส.ค.) และลดอัตราป่วยตายให้ไม่เกินร้อยละ 0.10 ในปี 2566 โดยใช้กลยุทธ์การติดตามกำกับและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายในทุกจังหวัดของประเทศไทย สอบสวนแหล่งแพร่โรคและควบคุมโรคในจังหวัดที่มีการระบาดของโรคไข้เลือดออก สื่อสารความเสี่ยงและประชาสัมพันธ์เรื่องโรคไข้เลือดออกด้วยสื่อที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง