หลายพื้นในภาคกลางเริ่มมีฝนตกลงมา ชาวนาก็เริ่มหว่านเมล็ดพันธุ์เพาะปลูก แต่ยังมีบางพื้นที่ที่ชาวนาไม่กล้าเสี่ยงหว่านเมล็ดข้าว เพราะน้ำในคลองชลประทานยังแห้งขอด ซึ่งมีมากกว่าหนึ่งพันไร่
อ.สามชุก จ.สุพรรณบุรี มีพื้นที่การเกษตร กว่า 160,000 ไร่ แต่มี 2 ตำบล ที่กำลังได้รับผลกระทบเพราะอยู่พื้นที่ปลายน้ำ คือ ต.หนองผักนาก และ ต.บ้านสระ แม้จะมีคลองชลประทานรับน้ำต่อจากคลองมะขามเฒ่า-อู่ทอง
แต่น้ำในคลองยังแห้งขอด ระดับไม่ถึงกับท่อสูบที่ชลประทานสร้างสถานีสูบน้ำไว้ ทำให้ชาวนา หมู่ 3 หมู่ 6 และ หมู่ 8 ต้องเลื่อนการหว่านข้าวออกไป ปล่อยนาเป็นทุ่งหญ้าโล่งเลี้ยงวัว
ชาวนาจึงเลื่อนการปลูกข้าว และไปหาอาชีพรับจ้างรายวัน หรือรับจ้างเลี้ยงวัว พอเลี้ยงครอบครัว
ส่วนที่หว่านข้าวไปแล้ว สภาพตอนนี้พื้นดินแตกระแหง ต้องรอลุ้นฝนตามประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยา ว่าจะตกในพื้นที่ภาคกลาง 70 % แต่ที่ผ่านมา พื้นที่ อ.สามชุก ได้รับเพียงละอองฝน ไม่ทำให้น้ำกักเก็บอยู่ในพื้นนาได้ เสี่ยงที่ให้หญ้าเติบโตปกคลุมข้าว สร้างความเสียหายต่อผลผลิต และเชื่อว่าปีนี้ฤดูกาลนาปี อาจต้องเลื่อนการเพาะปลูกไปจนถึงต้นเดือนสิงหาคม
นายสมเกียรติ สว่างศรี ชาวนา ต.บ้านสระ อ.สามชุก จ.สุพรรณบุรี บอกว่า หากชาวนาดำน้ำมาปกคลุมหน้าดินที่ต้นกล้าข้าวกำลังเติบโตไม่ได้ ต้นหญ้าจะขึ้นมาแทนเรียกว่า “หญ้าขี่ข้าว” และเกิดการแย่งอาหาร ข้าว 1 ไร่ จากที่เคยได้กว่า 1 ตัน เมื่อหญ้าขึ้นทดแทนข้าวอาจจะเหลือแค่ 400 กิโลกรัมต่อไร่ การปล่อยน้ำมาปกคลุมดินเพื่อไม่ให้หญ้าเติบโตมาขี่ข้าว
แม้ตอนนี้จะเข้าฤดูฝน แต่พื้นที่ อ.สามชุก มีฝนตกในปริมาณที่น้อยมาก เพียงให้ดินชื้นแต่ไม่พอให้น้ำท่วมนา ยิ่งส่งผลให้หญ้าโตไวขึ้น
ที่นากว่า 80 ไร่ ของนายสมเกียรติ อยู่ในหมู่ 8 ต.บ้านสระ เป็นพื้นที่ปลายน้ำ นาข้าวจึงยังเป็นทุ่งหญ้าไว้เลี้ยงวัว อาชีพเสริมของชาวนาบริเวณนี้ที่จะต้องเลื่อนการหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าว ถ้าต้องการปลูกข้าว เขาต้องใช้เครื่องสูบน้ำ 3 เครื่อง ดึงน้ำจากคลองชลประทาน ระยะทาง 3 กม.ใช้น้ำมันดีเซลมากกว่า 200 ลิตร เป็นเงินกว่า 7,000 บาท
อ.สามชุก มีพื้นที่ทำการเกษตร อยู่ 164,956 ไร่ มีจำนวนไม่น้อยที่เลื่อนการหว่านข้าว ไปปลูกอ้อยทดแทน แม้พื้นที่จะอยู่ข้างคลองส่งน้ำที่แห้งขอดตอนนี้ เป็นไปได้ว่า ถ้าฝนและน้ำท่า ยังมีไม่มากพอในพื้นที่ อ.สามชุก แม้แต่อ้อย ที่ใช้น้ำน้อยกว่าการปลูกข้าว อาจจะขาดน้ำจนแห้งตายในอีกไม่กี่วัน