ยิ่งขยาย ยิ่งเห็นชัด เมื่อปัญหาการจ่าย ”ส่วย” ในสังคมไทย ไม่ได้พบแค่ “สติกเกอร์” ส่วยรถบรรทุก ก็ยังลุกลามไปทุกวงการ ทั้ง ส่วยรถตู้โรงเรียน ส่วยขายล็อตเตอรี่เกินราคา ส่วยสถานบันเทิง ส่วยร้านอาหาร ส่วยตู้แดง ส่วย ฯลฯ
แม้ล่าสุด พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จะยอมรับว่า สติกเกอร์ส่วยมีจริง และได้สั่งการให้ พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว บก.ปปป. ในฐานะรักษาการตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจทางหลวงเร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วก็ตาม
แต่ต้องไมลืมว่า สติกเกอร์ส่วย หรือ การจ่ายส่วย ไม่ได้ใช้เฉพาะกับรถบรรทุก รถตู้นักเรียน ส่วยสติกเกอร์ขายสลากเกินราคา แต่ยังมีการจ่ายส่วยในรูปแบบอื่น ๆ ด้วย
เปิดส่วย 2019 “ราคา” ที่สถานบันเทิงต้องจ่าย
ข้อมูลจากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน ประเทศไทย ระบุว่า ในปี 2019 พบปัญหาร้องเรียนจากผู้ประกอบการสถานบันเทิงผับ-บาร์ ใน จ.ภูเก็ต ต้องจ่ายส่วยแห่งละ 37,300 บาทต่อเดือน ให้กับผู้ที่อ้างว่ามาจากหน่วยงานต่าง ๆ รวม 25 หน่วย
และหากสถานที่แห่งนั้นมีลูกจ้างเป็นต่างด้าวที่ทำงานอย่างผิดกฎหมายก็ต้องจ่ายรายหัวอีกหัวละ 9,100 บาท เช่น ถ้ามี 3 คนก็ต้องจ่าย 27,300 บาท ประเมินว่าทั่วเกาะภูเก็ตมีสถานบันเทิงราว 1,000 แห่ง เท่ากับต้องจ่ายส่วยรายเดือนรวมกันมากกว่า 37 ล้านบาท ยังไม่รวมส่วยแรงงานต่างด้าวกว่า 27 ล้านบาท
การเปิดโปงขบวนการส่วยใน จ.ภูเก็ต ซึ่งเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวถือเป็นครั้งใหญ่ที่สุด แต่ปัญหาการจ่ายส่วยก็ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
พลีชีพ 2022 สิงห์รถบรรทุกดับเครื่องชน ”ส่วย”
ปัจจุบันมีรถบรรทุกสิบล้อ หกล้อ รถลากพ่วงที่จดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบกมากกว่า 1,096,765 ล้านคัน (ม.ค.2561) ไม่รวมรถกระบะและรถตู้ โดยประเมินว่าครึ่งหนึ่งของรถบรรทุกที่วิ่งอยู่ตามท้องถนน หรือราว 500,000 คัน เลือกที่จะบรรทุกน้ำหนักเกินแลกกับการจ่ายส่วย - สินบน เฉลี่ยคันละ 3,500 บาทต่อเดือน ให้กับเจ้าหน้าที่หน่วยต่าง ๆ ซึ่งเมื่อคูณด้วยจำนวนรถแล้วจะมีมูลค่ามากถึง 1,750 ล้านบาทต่อเดือน หรือ 21,000 ล้านบาทต่อปี
ขณะที่ข้อมูลจากสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย ระบุว่า ในแต่ละปีมีการจ่ายส่วยทางหลวงให้แก๊งอั้งยี่ มาเฟียทางหลวง ปีละประมาณ 12,000 ล้านบาท โดยมีรูปแบบวิธีการเปลี่ยนจากการเหมาจ่ายรายปี เป็นจ่ายรายเดือน
โดยผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นเจ้าของรถบรรทุกที่บรรทุกเกินน้ำหนักจะผลิตสติกเกอร์สีเป็นรูปต่าง ๆ แล้วนำไปติดอยู่ที่หน้ารถบรรทุก รูปลักษณ์ของสติกเกอร์จะเปลี่ยนใหม่ในทุก ๆ เดือน
ทั้งนี้รถบรรทุก 1 คัน จะต้องจ่ายประมาณ 10,000-27,000 บาทต่อเดือน ขึ้นอยู่กับปริมาณการบรรทุกน้ำหนัก และมีรถบรรทุกที่จ่ายส่วยประมาณ 120,000 คัน หรือคิดเป็นมูลค่า 1,000 ล้านบาทต่อเดือน ปัจจุบันมีรถบรรทุกที่จดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ประมาณ 1,400,000-1,500,000 คัน
ส่องส่วย 2023 สติกเกอร์ “หวย-เบอร์ทอง”
หลังจากนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ว่าที่ ส.ส.พรรคก้าวไกล ออกมาขยี้ข้อมูลซ้ำเรื่องปัญหาส่วยรถบรรทุก ก็มีผู้ออกมาเปิดเผยการจ่ายส่วยสติกเกอร์เพื่อแลกกับการไม่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจกับกุม เนื่องจากขายล็อตเตอรี่เกินราคาที่กำหนดไว้ใบละ 80 บาท แต่ผู้ค้าขายจริงใบละ 100 บาท
แม้ผู้ค้าจะทราบว่า การขายสลากเกินราคาเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย แต่เมื่อจำเป็นต้องขายในราคาเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด จึงยอมจ่ายเงินซื้อสติกเกอร์ในราคา 500 บาทต่องวด เพื่อแลกกับการที่จะไม่ถูกตำรวจจับกุม
โดยจุดสังเกตที่ผู้ซื้อล็อตเตอรี่จากแผงอาจจะเคยเห็น คือ บนแผงล็อตเตอรี่นั้น ๆ จะมีตัวการ์ตูน หลายรูปแบบ เช่น ตัวการ์ตูนรูปไก่ รูปน้ำเต้า หรือรหัสตัวอักษรภาษาอังกฤษ ssk pass และมีหมายเลขลำดับเขียนติดอยู่ด้วย โดยติดบริเวณมุมด้านซ้ายแผงของแผงล็อตเตอรี่
ผู้ค้ารายหนึ่ง ให้ข้อมูลว่า พ่อค้า-แม่ค้าขายสลากในพื้นที่ต้องซื้อสติกเกอร์ดังกล่าวกันทุกคน เหตุที่ต้องซื้อสติกเกอร์เพราะต้องขายล็อตเตอรี่ในราคาใบละ 100 บาท ขายในราคา 80 บาทไม่ได้ เพราะต้นทุนที่รับมาราคาสูงกว่านี้ การซื้อสติกเกอร์เพื่อป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจับในข้อหาขายสลากกินแบ่งเกินราคา
นอกจากวิธีการนี้แล้ว ยังมีการเรียกเก็บเงินในรูปแบบของเบอร์ทองที่มีเลขสามตัว ราคาใบละ 200 บาท โดยพ่อค้าล็อตเตอรี่รายใหญ่ต้องซื้อเบอร์ทอง 8 ใบ เป็นเงิน 1,600 บาท ราคาซื้อขายจะลดหลั่นกันตามขนาดของผู้ค้าว่าเป็นรายเล็กหรือรายย่อย โดยรายย่อยสุดต้องซื้อเบอร์ทอง 2 ใบ เป็นเงิน 400 บาท
เขาให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า สำหรับผู้ค้าฯ จะต้องเก็บเบอร์ทองไว้เป็นหลักฐาน ในกรณีที่ถูกตำรวจเรียกดู หากใครไม่จ่ายก็จะถูกจับและเสียค่าปรับเป็นหมื่น ทำให้คนขายต้องยอม ซึ่งเบอร์ทองที่ซื้อจะต่างกับเบอร์ทองทั่วไป ตัวเลขของเบอร์ทองหากถูกรางวัลจะไม่ได้รับเงิน เพราะเป็นส่วยแลกกับการไม่ถูกจับ
เป็นที่รับรู้กันว่า กำหนดอัตราราคาของส่วยจะมี ”สติกเกอร์” เป็นตัวกลางแสดงถึงการ “สมยอม” จ่ายเงิน เพื่อเป็นค่าคุ้มครองระหว่างตำรวจในฐานะผู้รักษากฎหมายและผู้ละเมิดกฎหมาย