ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"สมเด็จพระสังฆราช" ประทานพระคติธรรม เนื่องในวันวิสาขบูชา

สังคม
3 มิ.ย. 66
11:25
491
Logo Thai PBS
"สมเด็จพระสังฆราช" ประทานพระคติธรรม เนื่องในวันวิสาขบูชา
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เจ้าพระคุณ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประทานพระคติธรรม เนื่องในวันวิสาขบูชา 2566 ให้พุทธบริษัทน้อมระลึกถึง “พระพุทธคุณ” 3 ประการ

เนื่องในดิถีวิสาขบูชา วันเสาร์ ที่ 3 มิ.ย.2566 เจ้าพระคุณ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประทานพระคติธรรม ความว่า

“ดิถีวิสาขบูชา คล้ายดีถีประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้เวียนมาบรรจบอีกคำรบหนึ่ง ควรที่พุทธบริษัททั้งหลาย จักได้พร้อมเพรียงกันประกอบกุศลกิจ กระทำสักการะบูชาพระรัตนตรัยเป็นกรณีพิเศษ

วันวิสาขบูชา เป็นเหตุช่วยเตือนใจให้พุทธบริษัท น้อมระลึกถึง “พระพุทธคุณ” ซึ่งประมวลสรุปลงได้สามประการ ได้แก่ 1.พระปัญญาคุณ พระพุทธเจ้า ทรงพระญาณหยั่งรู้การเกิดและการตายของสัตว์โลก รู้การหลุดพ้นจากกิเลส และทรงค้นพบความจริงอันยิ่งใหญ่ 4 ประการ คือ รู้ทุกข์ รู้เหตุที่ทำให้เกิดความทุกข์ รู้ความดับทุกข์ และรู้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์,

2.พระบริสุทธิคุณ พระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญเพียรจนได้บรรลุโมกขธรรม ทรงหลุดพ้นจากกิเลส คือความโลภ ความโกรธ และความหลง อันเป็นเครื่องเศร้าหมองได้อย่างสะอาดหมดจดสิ้นเชิง และ 3.พระมหากรุณาคุณ หลังจากที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว ได้ทรงพระกรุณาสั่งสอนเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายให้ได้รู้แจ้งธรรมตามที่พระองค์ตรัสรู้ โดยพระพุทธประสงค์ให้หมู่สัตว์หลุดพ้นจากห้วงทุกข์ เป็นเวลาเนิ่นถึง 45 ปีตราบกระทั่งเสด็จดับขันธปรินิพพาน

เมื่อสาธุชนได้ตระหนักซาบซึ้งถึงพระพุทธคุณทั้งสามประการดั่งนี้แล้ว จึงพึงบูชาพระพุทธคุณ โดยการอุทิศชีวิตพากเพียรศึกษา และอบรมพัฒนาตนเองให้เฉลียวฉลาดในทางธรรม หมั่นฝึกฝนรักษากายจริยา วจีจริยา และมโนจริยา ให้มั่นคงอยู่ในธรรมสุจริต มีดวงจิตเอิบอาบด้วยความกรุณา แผ่ความปรารถนาดีไปยังสรรพชีวิตผู้ร่วมเกิดแก่เจ็บตายโดยเสมอหน้า จัดเป็น “ปฏิบัติบูชา” ที่พึงกระทำต่อพระรัตนตรัย อันจักนำมาซึ่งความรุ่งเรืองไพศาลแห่งพระบวรพุทธศาสนาสืบไป

จิรํ ติฏฺฐตุ สทฺธมฺโม ธมฺเม โหนฺตุ สคารวา. ขอพระสัทธรรมจงดํารงคงมั่นอยู่ตลอดกาลนาน และขอสาธุชนทั้งหลาย จงมีความเคารพในพระธรรมนั้น เทอญ.”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง