ลองจินตนาการถึงอนาคตที่ผู้ป่วยเบาหวานสามารถผลิตอินซูลินได้เอง โดยไม่จำเป็นต้องฉีดเข้าทางหน้าท้องทุกวัน ความฝันนี้อาจกลายเป็นจริงได้ด้วยการค้นพบที่ก้าวล้ำเกี่ยวกับสเต็มเซลล์ที่ได้มาจากกระเพาะอาหารของมนุษย์
เมื่อไม่นานมานี้ นักวิจัยประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนสเต็มเซลล์ในกระเพาะอาหารให้เป็นเซลล์ที่สามารถผลิตอินซูลินซึ่งตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำตาลในเลือดได้ โดยเลียนแบบพฤติกรรมของเซลล์ตับอ่อนที่แข็งแรง ความก้าวหน้านี้มีศักยภาพอย่างมากในการปฏิวัติการรักษาโรคเบาหวาน
ในการศึกษาครั้งใหม่นี้แสดงให้เห็นว่าสเต็มเซลล์จากกระเพาะอาหารของมนุษย์สามารถเปลี่ยนเป็นเซลล์ที่หลั่งอินซูลินได้ โดยนักวิจัยได้สกัดตัวอย่างสเต็มเซลล์ในกระเพาะอาหารของมนุษย์โดยใช้วิธีการส่องกล้อง จากนั้นนักวิจัยได้แปลงเซลล์เหล่านี้ให้เป็นเซลล์หลั่งอินซูลินในกระเพาะอาหาร และขยายจำนวนออกเป็นกลุ่มที่รู้จักกันในชื่อออร์แกนอยด์ จากการทดลองภายใน 10 วัน นักวิจัยพบว่าออร์แกนอยด์เริ่มไวต่อน้ำตาลกลูโคสและหลั่งอินซูลินออกมาตอบสนอง
เพื่อทดสอบประสิทธิภาพของเซลล์ นักวิจัยได้ปลูกถ่ายสเต็มเซลล์นี้ในหนูที่เป็นเบาหวาน ผลลัพธ์ที่ได้มีแนวโน้มที่จะประความสำเร็จ เนื่องจากเซลล์ที่ปลูกถ่ายมีพฤติกรรมคล้ายกับเซลล์ของตับอ่อนซึ่งเป็นเซลล์ที่ผลิตอินซูลิน ส่งผลให้ร่างกายของหนูตอบสนองต่อระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงขึ้นโดยการหลั่งอินซูลินออกมาควบคุมระดับกลูโคสในหนูได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเซลล์ที่ปลูกถ่ายยังคงผลิตอินซูลินอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงระยะเวลาการทดสอบ 6 เดือนได้อย่างน่าประทับใจ
ความสำเร็จในการศึกษานี้เป็นการพิสูจน์แนวคิด ซึ่งเป็นการวางรากฐานที่สำคัญสำหรับการพัฒนาแนวทางการรักษาโดยใช้เซลล์ของผู้ป่วยเบาหวาน ทั้งแบบเบาหวานชนิดที่ 1 ที่ต้องฉีดอินซูลินด้วยตนเองอย่างต่อเนื่อง และเบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งเป็นระยะลุกลาม
ถึงแม้ว่าจะยังต้องมีการศึกษาวิจัยอีกหลายขั้นตอนก่อนที่จะเริ่มการทดลองทางคลินิก แต่งานวิจัยที่ก้าวล้ำนี้ก็สามารถมอบความหวังให้กับผู้ป่วยเบาหวานทั่วโลก
ที่มาข้อมูล: interestingengineering, newatlas, indiatimes, techexplorist
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech