ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เทียบอาการ! 3 เชื้อสาเหตุ "โรคอุจจาระร่วง"

สังคม
9 มิ.ย. 66
15:38
10,404
Logo Thai PBS
เทียบอาการ! 3 เชื้อสาเหตุ "โรคอุจจาระร่วง"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
การรักษาอาการท้องเสียจากโรคอุจจาระร่วงนั้น ต้องรู้ถึงสาเหตุของเชื้อก่อโรคเป็นสำคัญ เพื่อการจ่ายยาที่ถูกต้อง และกำจัดเชื้อโรคได้ ช่วยให้ร่างกายของผู้ป่วยได้พักฟื้นและบรรเทาอาการ

โรคติดเชื้อไวรัสโนโร (Norovirus)

เชื้อไวรัสโนโรเข้าสู่ร่างกายผ่านการรับประทานอาหาร น้ำดื่ม และภาชนะใส่อาหารที่ปนเปื้อนเชื้อ หรือจากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อไวรัสชนิดนี้ 

อาการโรคติดเชื้อไวรัสโนโร

ผู้ป่วยจะแสดงอาการหลังจากได้รับเชื้อภายใน 12-48 ชั่วโมง หลังจากนั้นอาการจะค่อยๆ ดีขึ้น สามารถหายได้เองใน 1-3 วัน

  • ท้องเสีย ปวดท้อง
  • อาเจียนหรือคลื่นไส้
  • มีไข้ต่ำ รู้สึกหนาว
  • ปวดเมื่อยตามตัว ปวดศีรษะ

ให้ผู้ป่วยรีบพบแพทย์ทันที เมื่อมีอาการรุนแรงหรือมีโรคประจำตัว ดังต่อไปนี้ 

  • อุจจาระมีเลือดปน
  • ทารกหรือเด็ก ถ่ายเหลวมากกว่า 5 ครั้ง หรือ อาเจียนมากกว่า 2 ครั้ง/วัน
  • มีอาการของภาวะขาดน้ำ เช่น ปากแห้ง คอแห้ง ตาโหล อ่อนเพลีย เวียนศรีษะ รู้สึกมึนงง หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ ปัสสาวะน้อยลงและมีสีเข้ม
  • ทารกที่มีภาวะขาดน้ำอาจไม่ปัสสาวะเลยใน 6-8 ชั่วโมง ส่วนเด็กอาจไม่ปัสสาวะเลยใน 12 ชั่วโมง ร้องไห้โดยไม่มีน้ำตา รวมทั้งอาจแสดงอารมณ์หงุดหงิดหรือไม่พอใจ
  • ผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีโรคประจำตัวชนิดรุนแรง เช่น โรคไต ภูมิคุ้มกันบกพร่อง ร่วมกับมีอาการท้องเสียและอาเจียน 
  • อาการป่วยไม่ดีขึ้นใน 2-3 วัน
อาการจากโรคอุจจาระร่วงจากการติดเชื้อ

อาการจากโรคอุจจาระร่วงจากการติดเชื้อ

อาการจากโรคอุจจาระร่วงจากการติดเชื้อ

สาเหตุการติดเชื้อโนโรไวรัส

เชื้อไวรัสโนโรแพร่ระบาดได้ง่ายและรวดเร็ว แม้จะรับเชื้อในปริมาณเล็กน้อย ก็อาจก่อให้เกิดอาการป่วยได้ เชื้อมีความสามารถอาศัยในร่างกายผู้ป่วยต่อไปได้อย่างน้อยอีก 2 อาทิตย์หลังจากที่อาการหายดีแล้ว 

  • การรับประทานอาหาร ดื่มน้ำ หรือใช้ภาชนะใส่อาหารที่ปนเปื้อนเชื้อ 
  • การนำอาหาร น้ำที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าปาก
  • การสัมผัสใกล้ชิดหรือรับประทานอาหารร่วมกับผู้ติดเชื้อโนโรไวรัส

การรักษาโรคติดเชื้อไวรัสโนโร

ยังไม่มีวิธีรักษาโรคโดยเฉพาะ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะค่อยๆ มีอาการดีขึ้นและหายเป็นปกติได้เอง ในระหว่างนี้ผู้ป่วยควรประคับประคองอาการไม่ให้แย่ลง เช่น ดื่มน้ำหรือผงเกลือแร่ โอ อาร์ เอส แต่ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่อาจดื่มน้ำด้วยตนเอง แพทย์จะให้น้ำเกลือผ่านทางเส้นเลือด, รับประทานอาหารรสอ่อนหลีกเลี่ยงอาหารรสจัด, กินยาพาราเซตามอลเมื่อมีไข้หรือรู้สึกปวด และพักผ่อนให้มากๆ

การป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโรโน

ไม่อาจป้องกันได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่สามารถลดปัจจัยเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดการติดเชื้อได้ หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารดิบหรืออาหารที่ปรุงไม่ถูกสุขลักษณะ, กดชักโครกและชำระล้างร่างกายให้สะอาดทุกครั้งหลังขับถ่ายของเหลว, หลีกเลี่ยงการไปในสถานที่แออัดและเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ

โรคติดเชื้อไวรัสโรต้า (Rota virus)

ไวรัสชนิดนี้มักเข้าสู่ร่างกายผ่านการนำมือ อาหาร หรือสิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าปาก 

อาการของโรคติดเชื้อไวรัสโรต้า

ผู้ป่วยมักเริ่มแสดงอาการหลังจากได้รับเชื้อภายใน 2-3 วัน แรกเริ่มมีอาเจียน ต่อมามีไข้ ท้องเสีย และปวดท้องตามมา โดยอาการดังกล่าวจะค่อย ๆ ดีขึ้นภายใน 3-7 วัน ผู้ใหญ่ที่ติดเชื้อไวรัสโรต้ามักมีอาการไม่รุนแรง 

  • รับประทานอาหารหรือดื่มน้ำไม่ได้
  • ท้องเสียรุนแรงต่อเนื่องนานกว่า 2-3 วัน
  • มีเลือดปนในอาเจียนหรืออุจจาระ
  • มีไข้สูงกว่า 39.4 องศาเซลเซียส
  • มีสัญญาณของภาวะขาดน้ำ เช่น กระหายน้ำอย่างมาก ปากแห้ง ปัสสาวะลดลงหรือปัสสาวะไม่ออก เวียนศีรษะ อ่อนเพลีย เดินเซ เป็นต้น

ทารกและเด็กที่ป่วย จะมีอาการรุนแรงกว่าผู้ใหญ่ หากมีอาการรุนแรงต่อไปนี้ ต้องพาเด็กไปพบแพทย์ทันที

  • ท้องเสียรุนแรงนานกว่า 24 ชั่วโมง
  • อาเจียนบ่อยครั้ง
  • อุจจาระมีเลือดปน หรืออุจจาระเป็นสีดำ
  • มีไข้สูงตั้งแต่ 40 องศาเซลเซียสขึ้นไป
  • เซื่องซึม รู้สึกไม่สบายตัว หรือปวดตามร่างกาย
  • มีสัญญาณของภาวะขาดน้ำ เช่น ปากแห้ง ตาโบ๋ ร้องไห้ไม่มีน้ำตา ปัสสาวะลดลงหรือไม่มีปัสสาวะ ง่วงนอนผิดปกติ กระหม่อมบุ๋ม ไม่ตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นภายนอก เป็นต้น

สาเหตุของโรคติดเชื้อไวรัสโรต้า

ไวรัสโรต้าจะแพร่ระบาดได้ง่ายและรวดเร็ว เชื้อมีความทนทานต่อสภาพแวดล้อมภายนอกร่างกายคน เข้าสู่ร่างกายคนผ่านการรับประทานอาหารหรือการดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อ รวมถึงการนำนิ้วมือที่สัมผัสกับสิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าปาก โรคติดเชื้อไวรัสโรต้าเกิดขึ้นได้ในคนทุกเพศทุกวัย แต่กลุ่มเสี่ยงคือ ทารกอายุต่ำกว่า 5 ปี 

การรักษาโรคติดเชื้อไวรัสโรต้า

ไม่มีการรักษาเพื่อกำจัดเชื้อไวรัสชนิดนี้โดยเฉพาะ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะค่อย ๆ มีอาการดีขึ้นและหายเป็นปกติได้เอง ในระหว่างนี้ผู้ป่วยควรประคับประคองอาการไม่ให้รุนแรง

ภาวะแทรกซ้อนของโรคติดเชื้อไวรัสโรต้า

ผู้ติดเชื้อไวรัสโรต้ามักไม่มีอาการแทรกซ้อน แต่ผู้ป่วยที่มีอาการท้องเสียอย่างรุนแรงและไม่ได้ดื่มน้ำหรือผงเกลือแร่อาจเกิดภาวะขาดน้ำและเกลือแร่ได้ และหากไม่รีบรักษาอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ นอกจากนี้ ไวรัสโรต้ายังทำให้ลำไส้เกิดความเสียหายและผลิตเอนไซม์แลคเตสไม่เพียงพอ หรืออาจทำให้ผู้ป่วยมีภาวะแพ้น้ำตาลแลคโตส ทำให้มีอาการท้องอืด จุกเสียดท้อง และถ่ายเหลวหลังจากดื่มนม

เมื่อมีอาการรุนแรง ให้รีบพบแพทย์

เมื่อมีอาการรุนแรง ให้รีบพบแพทย์

เมื่อมีอาการรุนแรง ให้รีบพบแพทย์

การป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโรต้า

  • ล้างมือด้วยสบู่และน้ำเปล่าให้สะอาดเป็นประจำ
  • รักษาสุขอนามัยและหมั่นล้างมือให้สะอาดจนเป็นนิสัย
  • ทำความสะอาดเครื่องใช้ต่างๆ โดยเฉพาะของเด็กให้สะอาดปลอดภัยอยู่เสมอ
  • รับประทานอาหารที่ปรุงสุก สะอาด และดื่มน้ำที่ไม่มีสิ่งสกปรกปนเปื้อน
  • รับวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโรต้า 

โรคติดเชื้อ E. coli (Escherichia coli) หรืออีโคไล

อีโคไลเป็นแบคทีเรียที่พบในลำไส้ของคนและสัตว์ บางสายพันธุ์ที่อันตรายต่อร่างกายคน อาจก่อให้เกิดอาการปวดท้อง ท้องเสีย หรือมีไข้ ซึ่งอาการจะค่อย ๆ ดีขึ้นและอาจหายเป็นปกติได้เอง 

อาการของโรคติดเชื้ออีโคไล

ผู้ป่วยอาจเริ่มแสดงอาการหลังจากได้รับเชื้อ E. coli ภายใน 1-10 วัน หลังจากนั้นอาการจะค่อย ๆ ดีขึ้นและหายเป็นปกติใน 5-10 วัน อาการโดยทั่วไปของโรคติดเชื้อชนิดนี้ ได้แก่

  • ท้องเสีย ปวดท้อง ท้องอืด
  • คลื่นไส้หรืออาเจียน
  • เบื่ออาหาร
  • อ่อนเพลีย มีไข้

หากผู้ป่วยมีอาการดังกล่าวหรือมีอาการรุนแรงต่อไปนี้ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

  • ผู้ใหญ่ที่อาการท้องเสียไม่ดีขึ้นภายใน 4 วัน หรือเด็กและทารกที่อาการท้องเสียไม่ดีขึ้นภายใน 2 วัน
  • เด็กอายุต่ำกว่า 3 เดือนที่มีอาการคลื่นไส้และอาเจียน
  • อาเจียนอย่างต่อเนื่องและรุนแรง
  • กลั้นปัสสาวะหรืออุจจาระไม่ได้
  • ท้องเสียร่วมกับมีไข้
  • มีอาการของภาวะขาดน้ำ เช่น ง่วงซึม ปากแห้ง ผิวแห้ง กระหายน้ำอย่างมาก เวียนศีรษะ เป็นต้น

สาเหตุของโรคติดเชื้ออีโคไล

การได้รับเชื้อ E. coli แม้ในปริมาณเพียงเล็กน้อยก็อาจก่อให้เกิดอาการป่วยได้ การรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อ โดยเฉพาะอาหารที่ผ่านกรรมวิธีการปรุงที่ไม่สะอาด ปรุงไม่สุก หรือเก็บรักษาอย่างไม่เหมาะสม, นิ้วมือที่สัมผัสกับสิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าปาก, สัมผัสสัตว์ที่ติดเชื้อหรือมูลสัตว์ที่มีเชื้อปะปน, สัมผัสใกล้ชิดผู้ติดเชื้อ เป็นต้น

ระวังการกินอาหารปนเปื้อนเชื้อโรค

ระวังการกินอาหารปนเปื้อนเชื้อโรค

ระวังการกินอาหารปนเปื้อนเชื้อโรค

โรคติดเชื้อ E. coli มีโอกาสเกิดขึ้นกับคนทุกเพศ ทุกวัย ทว่าบุคคลบางกลุ่มอาจเสี่ยงติดเชื้อชนิดนี้ได้มากกว่าคนทั่วไป ได้แก่ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ผู้ที่รับประทานอาหารกึ่งสุกกึ่งดิบ และผู้ที่มีระดับกรดในกระเพาะอาหารต่ำอย่างผู้ที่กำลังใช้ยาลดกรดในกระเพาะอาหาร

การวินิจฉัยโรคติดเชื้ออีโคไล

การวินิจฉัยในขั้นแรกทำได้โดยการซักประวัติทางการแพทย์ สอบถามอาการผิดปกติ และตรวจร่างกายเบื้องต้น จากนั้นแพทย์อาจเก็บตัวอย่างอุจจาระหรือปัสสาวะของผู้ป่วยเพื่อนำไปตรวจหาเชื้อ E. coli และอาจมีการเพาะเลี้ยงแบคทีเรียที่พบในห้องปฏิบัติการต่อไป เพื่อวิเคราะห์สายพันธุ์ของเชื้อและยืนยันผลการวินิจฉัยอย่างแน่ชัด 

การรักษาโรคติดเชื้ออีโคไล

ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาโรคติดเชื้อชนิดนี้โดยเฉพาะ เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการดีขึ้นและหายเป็นปกติได้เอง อย่างไรก็ตาม ในระหว่างที่ติดเชื้อ ผู้ป่วยควรประคับประคองอาการไม่ให้รุนแรงขึ้น โดยพักผ่อนให้มาก ดื่มน้ำหรือผงเกลือแร่ โอ อาร์ เอส หลีกเลี่ยงการใช้ยาปฏิชีวนะหรือยาแก้ท้องเสีย หากต้องการรับประทานยาชนิดดังกล่าวให้ปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ 

การป้องกันโรคติดเชื้ออีโคไล

ในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนหรือยาที่มีสรรพคุณป้องกันการติดเชื้อชนิดนี้ ต้องใช้การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตแทน เช่น

  • ล้างมือเป็นประจำก่อนปรุงอาหาร ก่อนรับประทานอาหาร หลังจากใช้ห้องน้ำ และหลังจากสัมผัสสัตว์
  • รับประทานอาหารที่ปรุงสุกและผ่านกรรมวิธีการปรุงที่ถูกสุขลักษณะ ล้างผักและผลไม้ให้สะอาดก่อนรับประทานสด
  • ล้างภาชนะใส่อาหารให้สะอาดก่อนนำมาใช้งาน
  • ไม่นำอุปกรณ์ทำครัวและภาชนะที่สัมผัสเนื้อดิบมาใช้กับผักผลไม้หรืออาหารที่ปรุงสุกแล้ว
  • ดื่มนมที่ผ่านการพาสเจอร์ไรซ์ ซึ่งเป็นกระบวนการกำจัดแบคทีเรียที่เป็นอันตรายต่อร่างกายด้วยความร้อน

ที่มา : POBPAD

อ่านข่าวเพิ่ม : 

เทียบอาการ! ไข้เลือดออก-ไข้หวัดใหญ่-โควิด อะไรเหมือน-ต่าง?

เช็กให้ชัวร์! อาการ สาเหตุ การดูแลตัวเองเบื้องต้น "โรคอุจจาระร่วง"

สธ.เปิดศูนย์ EOC สืบหาต้นตอ "โรคอุจจาระร่วง" ระบาดภูเก็ต

ข่าวที่เกี่ยวข้อง