ข้อหาเก็บเอกสารลับของรัฐบาลหลังพ้นจากตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ทำให้ “โดนัลด์ ทรัมป์” ตกที่นั่งลำบาก ซึ่งต้องจับตาว่าการดำเนินคดีทางกฎหมายจากกรณีนี้ จะกระทบกับการเลือกตั้งปี 2024 มากน้อยแค่ไหน
แต่ความสามารถอย่างหนึ่งของ “ทรัมป์” คือการพลิกวิกฤตเป็นโอกาส โดยเฉพาะการใช้คดีความทางกฎหมายเรียกคะแนนสงสาร และกระชับเสียงสนับสนุนจากฐานเสียง จนได้รับคะแนนนิยมเพิ่มมากขึ้น และการถูกฟ้องร้องครั้งล่าสุดนี้ อดีตผู้นำสหรัฐฯ ก็ใช้กลยุทธ์เดิมในการหาเสียง
สุนทรพจน์ของ “ทรัมป์” บนเวทีประชุมพรรครีพับลิกันในรัฐนอร์ท แคโรไลนา เมื่อวันที่ 10 มิ.ย.ที่ผ่านมา ไม่ต่างจากท่าทีบนเวทีในรัฐจอร์เจียและทุกๆ ครั้งที่อดีตผู้นำคนนี้ถูกฟ้อง ซึ่งจะป่าวร้องว่า เขาไม่ได้รับความเป็นธรรมและข้อกล่าวหามีแรงจูงใจทางการเมืองเพื่อหวังทำลายตัวเขา ไม่ก็ขัดขวางไม่ให้ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง แต่ข้อโต้แย้งนี้ของทรัมป์เป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน
โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนปัจจุบัน
ไม่กี่เดือนหลัง FBI บุกค้นบ้านพักของทรัมป์ในรัฐฟลอริดา เพื่อหาเอกสารลับ เมื่อเดือน ส.ค.2022 มีรายงานว่า โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนปัจจุบัน ก็เก็บเอกสารลับไว้ที่สำนักงานและบ้านพัก หลังพ้นจากตำแหน่งรองประธานาธิบดีเมื่อปี 2017 เช่นกัน
ขณะที่ ไมค์ เพนซ์ อดีตรองประธานาธิบดี ขนเอกสารลับกลับบ้านพักในรัฐอินดีแอนา ก่อนจะรู้ตัวเมื่อต้นปี 2023 หรือ 2 ปีหลังพ้นจากตำแหน่ง
แม้ทั้ง 3 คนจะทำผิดเหมือนกัน แต่จุดที่ต่างกันนอกเหนือจากจำนวนเอกสารที่พบ ซึ่งทรัมป์มีเก็บเอาไว้ทั้งหมดหลักหมื่น ยังมีประเด็นเรื่องความตั้งใจในการส่งเอกสารคืน โดยกรณีไบเดนและเพนซ์ มีการแจ้งเจ้าหน้าที่และให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ ทำให้การส่งคืนรวดเร็ว ใช้เวลาไม่กี่วัน ต่างจากทรัมป์ที่พยายามปกปิดความจริง ซึ่งอาจทำให้คดีนี้ไม่ง่ายสำหรับอดีตผู้นำฝีปากกล้า
ไมค์ เพนซ์ อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา
มีการเผยแพร่ภาพกล่องเอกสารถูกวางทิ้งไว้ตามห้องต่างๆ รวมทั้งห้องน้ำ ห้องนอนของทรัมป์ และห้องเก็บของ เป็นภาพที่ทำให้หลายคนไม่อยากจะเชื่อว่าเอกสารที่อยู่ในกล่องเหล่านี้คือข้อมูลลับของรัฐบาลอเมริกัน โดยมีทั้งเรื่องขีดความสามารถด้านกลาโหมและอาวุธของสหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ ข้อมูลโครงการนิวเคลียร์ ไปจนถึงจุดอ่อนของกองทัพและแผนการโจมตี ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ หากรั่วไหลออกไปอาจส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่อความมั่นคงของสหรัฐฯ และชาติพันธมิตร
ภาพและข้อมูลเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้องความยาว 49 หน้า ซึ่งระบุว่า “ทรัมป์” ถูกฟ้องทั้งหมด 37 กระทง ในจำนวนนี้ 31 กระทง เป็นการฟ้องกรณีตั้งใจเก็บข้อมูลกลาโหมแห่งชาติที่เกี่ยวข้องกับเอกสารพิเศษ โดยมีโทษจำคุกสูงสุดกระทงละ 10 ปี นอกจากนี้ทรัมป์ยังเผชิญข้อหาสมคบคิดเพื่อขัดขวางกระบวนการยุติธรรม เก็บเอกสารและให้ข้อมูลเท็จ ซึ่งแต่ละข้อหามีโทษจำคุกสูงสุด 20 ปี
4 เดือนหลังจากทรัมป์ย้ายออกจากทำเนียบขาว หอจดหมายเหตุแห่งชาติพบว่าเอกสารสำคัญที่รัฐบาลของทรัมป์ควรจะคืนให้กลับไม่มี จึงได้มีการติดต่อประสานงานจนได้เอกสารคืนมา 15 กล่องจากบ้านพักของทรัมป์ ซึ่งในจำนวนนี้เป็นแฟ้มลับมากกว่า 100 ฉบับ
โดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้หอจดหมายเหตุตัดสินใจขอกระทรวงยุติธรรมเปิดการสอบสวนการจัดการเอกสารราชการของทรัมป์ พร้อมๆ กับการเข้ามามีบทบาทของ FBI ซึ่งมีหมายเรียกให้ทรัมป์คืนเอกสารลับอื่นๆ แต่สิ่งที่ได้กลับมาเป็นเพียงซองจดหมายเล็กๆ ทั้งที่ FBI ได้เบาะแสจากกล้องวงจรปิดว่า มีคนงานของทรัมป์ย้ายกล่องเอกสารจากห้องเก็บของ ซึ่งจุดนี้เองนำมาสู่การขอหมายค้นเมื่อเดือน ส.ค.2022
นักกฎหมายหลายคน มองว่า ความพยายามปกปิดและให้ข้อมูลเท็จกับเจ้าหน้าที่ กลายเป็นข้อกล่าวหาที่ร้ายแรงและมีน้ำหนักในการเอาผิด ซึ่งเมื่อประเมินจากข้อมูลในคำร้อง ชี้ว่า หลักฐานในการเอาผิดทรัมป์กรณีนี้ค่อนข้างแน่นหนา เพราะมีทั้งพยานวัตถุเป็นเอกสาร รูปภาพ ข้อความ ไปจนถึงคำให้การของพยานหลายปาก
นอกจากนี้ การตั้งข้อหาของอัยการในครั้งนี้ยังอยู่ภายใต้กฎหมายจารกรรม ทำให้ข้ออ้างของ “ทรัมป์” เรื่องปลดสถานะชั้นความลับของเอกสารก่อนเอากลับบ้านจะฟังไม่ขึ้นตามไปด้วย เนื่องจากกฎหมายฉบับนี้ไม่สนว่าเอกสารนั้นๆ จะลับหรือไม่ แต่ความผิดเกิดจากการครอบครองข้อมูลกลาโหมแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาต
ทั้งนี้ ทรัมป์มีกำหนดขึ้นศาลในวันที่ 13 มิ.ย.นี้ แต่ตามกฎหมายแล้ว แม้ทรัมป์จะต้องคดีก็สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งและนั่งเก้าอี้ผู้นำสหรัฐอเมริกาได้
วิเคราะห์โดย ทิพย์ตะวัน ธีรนัยพงศ์