เมื่อวันที่ 19 มิ.ย.2566 กรมศิลปากร ทำการสำรวจ "พระปรางค์" ของ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นโบราณสถานที่สำคัญของประเทศ ซึ่งจากผลการสแกนพระปรางค์วัดอรุณฯ จากกรมศิลปากร พบมีการทรุดตัวเล็กน้อย ส่งผลพระปรางค์ทิศและมณฑป เริ่มเอียงเข้าหาพระปรางค์ประธาน
พระครูปลัดสุวัฒนรัตนคุณ(ชุมพร) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดอรุณราชวราราม และเลขานุการวัด ระบุว่า หลังกรมศิลปากรทำการสำรวจ "พระปรางค์" พบว่าบริเวณองค์พระปรางค์ประธานมีการทรุดตัวลงเล็กน้อย ทำให้พระปรางค์ทิศทั้ง 4 รวมทั้งมณฑปทั้ง 4 ทิศได้รับผลกระทบ โดยเริ่มมีการเอียงเข้าหาพระปรางค์ประธานเล็กน้อย
กรมศิลปากร อธิบายเรื่องการทรุดตัวครั้งนี้ว่าอาจเกิดจากการทรุดตัวเดิมอยู่แล้วหรืออาจจะเป็นการทรุดตัวจากผลกระทบหลายอย่าง ซึ่งแนวทางการดูแลรักษาหลังจากที่ได้ปรึกษากันแล้วว่าทางกรมศิลปากรได้วางเงื่อนไขร่วมกันว่าจะมีการสำรวจความเอียงขององค์พระปรางค์ทั้งหมดและการทรุดตัวทุก 3 เดือน เพื่อดูว่าความเอียงมีมากขึ้นหรือเท่าเดิม รวมทั้งวางแนวทางการบูรณะองค์พระปรางค์ด้วย
การดำเนินการในระยะแรกได้มีการวางแผนจะสำรวจทุก 3 เดือนก่อน หากไม่พบความผิดปกติเพิ่มเติม ก็จะปรับมาเป็นสำรวจทุก 6 เดือน และจะมีการเฝ้าดูแลอย่างใกล้ชิดมากขึ้น
สำหรับพระปรางค์ของวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร หรือเรียกสั้น ๆ ว่า พระปรางค์วัดอรุณฯ เป็นพระปรางค์สถาปัตยกรรมไทยขนาดใหญ่ ประกอบด้วยปรางค์ประธานและปรางค์รองอีก 4 ปรางค์ ตั้งอยู่ที่วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหารตัว พระปรางค์ปัจจุบันนี้มิใช่พระปรางค์เดิมที่สร้างขึ้นราวสมัยกรุงศรีอยุธยาที่มีความสูงเพียง 16 เมตร
โดยปรางค์ปัจจุบันนี้ถูกสร้างขึ้นแทนในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยในปี พ.ศ.2363 แต่ก็ได้แค่รื้อพระปรางค์องค์เดิมและขุดดินวางรากก็เสด็จสวรรคตเสียก่อน ต่อมาพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ได้ทรงมีพระราชดำริให้ดำเนินการสร้างต่อ โดยพระองค์เสด็จมาวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 2 ก.ย. พ.ศ. 2385 จนแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2394 ใช้เวลารวมกว่า 9 ปี