วันนี้ (21 มิ.ย.2566) เจ้าหน้าที่หน่วยยามชายฝั่งสหรัฐฯ เปิดเผยว่า ขณะนี้ภารกิจค้นหาที่มีหน่วยยามชายฝั่งสหรัฐฯ แคนาดา และหน่วยงานอื่น ๆ ร่วมมือกัน ยังไม่พบความคืบหน้าในการค้นหายานดำน้ำไททัน ที่ขาดการติดต่อตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ผ่านมา แม้จะเดินหน้าภารกิจค้นหาตลอด 24 ชั่วโมง
ขณะที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ร่วมสนับสนุนหน่วยยามชายฝั่งสหรัฐฯ ในภารกิจค้นหาด้วยโดยส่งเครื่องบินแบบ C-130 เข้าร่วม 2 ลำ พร้อมสั่งการกองทัพเรือสหรัฐฯ ร่วมประสานงานช่วยเหลือเพื่อเตรียมสนับสนุนกรณีต้องการอุปกรณ์ที่มีขีดความสามารถปฏิบัติการในน้ำลึก ตามคำสั่งของโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเช่นกัน
การค้นหาทั้งหมดครอบคลุมบริเวณกว่า 26,000 ตร.กม. จุดการค้นหาอยู่บริเวณตอนเหนือของมหาสมุทรแอตแลนติก ห่างจากชายฝั่งรัฐนิวฟันด์แลนด์ของแคนาดาประมาณ 600 กิโลเมตร
ไททันขาดการติดต่อไปเมื่อวันอาทิตย์ หลังจากดำลงสู่ใต้ทะเลเพื่อสำรวจเรือไททานิกเพียง 1 ชั่วโมง 45 นาที
ไททันเป็น Submersible หรือ ยานดำน้ำ ตามข้อมูลของกองทัพเรือไทย ยานดำน้ำจะต่างจากเรือดำน้ำที่ระดับการพึ่งพาตนเอง ไม่ใช่แค่เรื่องขนาด เนื่องจากยานดำน้ำขนาดเล็กไม่มีพลังงานสำรองมากเพียงพอ ที่จะขับเคลื่อนจากท่าเรือลงสู่มหาสมุทรด้วยตัวเองเหมือนเรือดำน้ำ
อย่างไททันจะต้องพึ่งพาเรือ Polar Prince นำยานออกจากเมืองเซนต์ จอห์นส์ มุ่งหน้าไปยังจุดที่เรือไททานิกอับปางกลางมหาสมุทรแอตแลนติก
ไททัน มีขนาดเท่ารถบรรทุก 1 คัน ยาว 6.7 เมตร น้ำหนักราว 10,432 kg สามารถจุดคนได้ทั้งหมด 5 คน นาน 96 ชั่วโมง หรือ 4 วัน เพื่อสำรวจในระดับความลึก 4,000 เมตร มีเครื่องยนต์ไฟฟ้า 4 ตัว ทำความเร็วได้ประมาณ 4 กม./ชม. ใช้การควบคุมในลักษณะคล้ายกับเครื่องเล่นวิดีโอเกมที่ดัดแปลงมา
ยานดำน้ำขนาดเล็กลำนี้ติดตั้งระบบนำทางล้ำสมัยแบบตรวจจับคลื่นโซนาร์ รวมทั้งอุปกรณ์ถ่ายภาพความละเอียดสูงทั้งภายในและภายนอก มีเซ็นเซอร์จะตรวจวัดแรงดันในเรือและแจ้งเตือนความผิดปกติ มีอุปกรณ์ยังชีพสำหรับลูกเรือ 5 คน ไว้ใช้กรณีฉุกเฉินเป็นเวลา 4 วัน
แต่เมื่อดำดิ่งลงใต้น้ำจะไม่มีระบบ GPS มีเพียงระบบสื่อสารผ่านข้อความที่ให้ลูกเรือรับคำสั่งจากทีมที่อยู่บนเรือใหญ่บนผิวน้ำได้
เร่งค้นหายานสำรวจไททานิกเหลืออากาศราว 40 ชม.
ภารกิจมีตั้งแต่การสำรวจซากเรือไททานิก รวบรวมข้อมูลเพื่อการวิจัย ถ่ายทำภาพยนตร์ ไปจนถึงทดสอบอุปกรณ์ต่าง ๆ ในทะเลลึก
จากการคำนวณตั้งแต่เวลาที่ออกเรือช่วงเช้าวันอาทิตย์ตามเวลาท้องถิ่น ราว 6.00 น. จนถึงตอนนี้ทำให้คาดการณ์ได้ว่า ยานดำน้ำน่าจะมีอากาศเหลือพอสำหรับลูกเรือทุกคนเป็นเวลาอีกราว 40 ชั่วโมง และอาจจะหมดลงเช้าวันพฤหัสบดีตามเวลาท้องถิ่น นับเป็นความท้าทายอย่างยิ่งสำหรับภารกิจช่วยเหลือ
ความเป็นไปได้ของสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นกับยานดำน้ำลำนี้ มีการคาดเดาไปตั้งแต่อาจจะไปติดอยู่ในซากของเรือไททานิก หรือระบบขับเคลื่อนยานขัดข้อง จนถึงปัญหาเกี่ยวกับระบบการสื่อสาร สำหรับกรณีเหล่านี้ยานไททันจะมีอุปกรณ์ช่วยให้ลอยขึ้นสู่ผิวน้ำได้ และจะมีระบบไฟ อุปกรณ์สะท้อนต่าง ๆ เพื่อส่งสัญญาณให้ได้รับความช่วยเหลือ
แต่อีกความเป็นไปได้คือยานรั่วจะไม่ค่อยดีเท่าไร เพราะหากเกิดปัญหาแบบนี้แล้วจมดิ่งลงสู่ก้นมหาสมุทรจะเป็นปฏิบัติการช่วยเหลือที่ยากมาก เพราะมีเรือดำน้ำไม่มากนักที่สามารถดำลงไปลึกขนาดนั้นได้ สำหรับนักดำน้ำไม่ต้องพูดถึง
ตอนนี้ที่ปรึกษาของ OceanGate Expedetions เปิดเผยว่าเจ้าหน้าที่กำลังพยายามใช้ยานควบคุมระยะไกลที่ดำน้ำได้ลึก 6,000 เมตร ให้ลงไปยังจุดค้นหาให้ได้โดยเร็วที่สุด แต่ว่าภารกิจนี้ก็ยังท้าทาย เพราะจะต้องระบุให้ได้ว่าอันไหนซากเรือไททานิก อันไหนยานไททัน ถ้ายานอยู่ที่ก้นมหาสมุทรในจุดนั้นจริง ๆ
ส่วนผู้ที่โดยสารอยู่บนยาน ประกอบด้วย Stockton Rush ผู้ก่อตั้ง OceanGate, Hamish Harding มหาเศรษฐีชาวอังกฤษ, Paul-Henry Nargeolet นักสำรวจชาวฝรั่งเศส, Shahzada Dawood นักธุรกิจชาวอังกฤษเชื้อสายปากีสถานและลูกชาย
ผู้โดยสารทุกคนจะต้องลงนามในเอกสารรับทราบว่าเรือยังไม่ได้รับใบอนุญาตและอาจส่งผลให้เกิดอาการบาดเจ็บ พิการ หรือเสียชีวิตได้
ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญซึ่งศึกษาซากเรือไททานิกและทฤษฎีการอับปาง ระบุว่า สภาวะใต้น้ำมืดสนิทในระดับที่ต่อให้เอามือมาไว้ตรงหน้าก็มองไม่เห็น และถ้าจะเปรียบก็ค่อนข้างคล้ายกับการเดินทางท่องอวกาศ ในเชิงความเสี่ยง และต่างก็รู้สึกกังวลถึงโอกาสการรอด ซึ่งหลายคนมองว่า 24 ชั่วโมงแรกสำคัญที่สุด และตอนนี้โอกาสเจอข่าวดีลดลงเรื่อย ๆ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง