วันนี้ (21 มิ.ย.2566) สหรัฐอเมริกาและแคนาดาส่งเครื่องบินและเรือออกสำรวจ เพื่อมองหาเรือดำน้ำ "ไททัน" ทั้งจากบนฟ้าและในน้ำ หลังหายไปในมหาสมุทรแอตแลนติกตั้งแต่วันที่ 18 มิ.ย.ที่ผ่านมา
เครื่องบินที่ถูกส่งมาร่วมทำภารกิจกู้ภัยครั้งนี้ คือเครื่องบินลาดตระเวนทางทะเล รุ่น P-8 Poseidon ของ Boeing และ P-3 โอไรออนของ Lockheed Martin โดยตามปกติเครื่องบินทั้ง 2 รุ่นนี้จะถูกใช้ทำภารกิจสอดแนมและเก็บข้อมูลข่าวกรอง แต่ก็มีบทบาทในปฏิบัติการกู้ภัยหลายครั้ง รวมถึงการค้นหาเครื่องบินที่สูญหายและอาจตกลงสู่ทะเล เนื่องจากทั้ง 2 รุ่นนี้มีขีดความสามารถตรวจจับวัตถุใต้น้ำและเรือดำน้ำได้ นอกจากนี้ทางการยังปล่อยทุ่นโซนาร์ เพื่อให้คอยตรวจจับสัญญาณใต้ทะเล
อ่านข่าว : เร่งค้นหา "เรือดำน้ำ" พาเที่ยวชมซากไททานิก สูญหายใต้ทะเล
ปัจจุบัน ยังไม่มีใครทราบว่าเรือไททันเกิดปัญหาตรงไหน จึงทำให้ไม่สามารถคาดการณ์การรับมือของคนบนเรือได้ กรณีที่ดีที่สุดที่อาจเกิดขึ้นได้ คือ เรือลำนี้มีปัญหาที่ระบบสื่อสารหรือระบบไฟฟ้า ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง คนบนเรือก็สามารถเปิดระบบความปลอดภัยได้ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการปล่อยน้ำหนักในตัวเรือออกไป เพื่อให้เรือลอยขึ้นสู่ผิวน้ำ
เรือดำน้ำไททัน
แต่เมื่อพิจารณาสถานการณ์จนถึงขณะนี้ ซึ่งยังไม่พบร่องรอยของเรือไททัน ผู้เชี่ยวชาญบางส่วนจึงมองว่าโอกาสพบเรือบนผิวน้ำลดน้อยลงเรื่อยๆ ประกอบกับมีรายงานว่า เจ้าหน้าที่และอุปกรณ์โซนาร์สามารถตรวจจับเสียงเคาะได้ ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ว่าเรืออาจอยู่ใต้ทะเลหรือไม่ หากเป็นเช่นนี้จริงแล้วเรืออยู่ตรงไหน จุดนี้มีความเป็นไปได้ 2-3 อย่าง
อย่างแรก คือ เรือไททันอาจติดอะไรอยู่ใต้ทะเล หรือติดอยู่กับซากเรือไททานิก สำหรับกรณีนี้ต้องส่งเรือดำน้ำลงไปสำรวจในจุดที่เรือไททันดำลงไป แต่อุปสรรคสำคัญ คือ สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาและทัศนวิสัยที่ย่ำแย่ อาจทำให้การค้นหาไม่ง่ายนัก ซึ่งอุปสรรคนี้ไม่ต่างจากความเป็นไปได้อีกหนึ่งอย่าง คือ การที่เรือตกลงสู่พื้นทะเล
อ่านข่าว : ทีมค้นหาเรือดำน้ำ "ไททัน" ตรวจพบเสียงดังทุก 30 นาที
การกู้เรือดำน้ำไม่ใช่สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ โดยเหตุการณ์ที่ถูกยกให้เป็นความสำเร็จในการกู้เรือในระดับลึกที่สุดและคนบนเรือรอดชีวิต คือ การกู้เรือ "Pisces III" เมื่อปี 1973 เรือดำน้ำของแคนาดาลำนี้พาวิศวกรชาวอังกฤษ 2 คน ลงไปทำภารกิจวางสายเคเบิลโทรศัพท์ข้ามแอตแลนติก ก่อนที่จะเกิดอุบัติเหตุระหว่างที่เรือแม่กำลังดึงเรือขึ้นสู่ผิวน้ำ ทำให้เรือตกลงสู่ก้นทะเลนอกชายฝั่งไอร์แลนด์ที่ความลึก 480 เมตร
ภารกิจกู้เรือลำนี้ใช้เวลาไปประมาณ 80 ชั่วโมง และตอนที่ช่วยขึ้นมามีออกซิเจนเหลืออยู่ในเรือพอหายใจเพียง 12 นาทีเท่านั้น แต่ที่น่าสังเกตคือ จริงๆ แล้วเรือลำนี้มีออกซิเจนสำรองแค่ 72 ชั่วโมง แต่เหตุใดถึงอยู่ได้มากกว่า 80 ชั่วโมง คนบนเรือใช้วิธีจำกัดการเคลื่อนไหว เพื่อลดการใช้ออกซิเจนและปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์น้อยลง จะช่วยยืดเวลาที่อยู่ในเรือได้นานขึ้น ซึ่งผู้เชี่ยวชาญมองว่าคนบนเรือไททันอาจใช้วิธีการเดียวกันนี้ ซึ่งอาจรวมถึงการหลับด้วย
แต่ความต่างของ 2 กรณีนี้คือ เรือ Pisces III สามารถติดต่อเรือแม่และระบุตำแหน่งที่จมได้ในวันเดียวกัน เพียงแค่การดึงเรือขึ้นมาล้มเหลวหลายครั้ง แต่สำหรับเรือไททัน ปัจจุบันยังระบุตำแหน่งไม่ได้ ขณะที่ระดับความลึกที่คาดว่าเรือลำนี้จะจมลงไปมากกว่าเรือ Pisces III ถึง 8 เท่า ทำให้การหาเรือที่จะลงไปช่วยกู้เรือไททันในระดับความลึกนี้ ไม่ใช่เรื่องง่าย และเมื่อลงไปถึงแล้ว การจะดึงเรือไททันขึ้นมาจากระดับความลึก 3,800 เมตร ก็ถือเป็นงานหิน
ขณะที่ CURV-21 เป็นยานบังคับระยะไกลในตระกูลเดียวกับเรือที่ทำภารกิจกู้เรือ Pisces III เมื่อปี 1973 แต่รุ่นนี้มีเทคโนโลยีล้ำหน้ามากกว่าและสามารถดำลึกลงไปได้สูงสุดถึง 6,000 เมตร ดังนั้น หลายคนมองว่าเรือรุ่นนี้อาจเป็นหนึ่งในตัวช่วยที่จะเข้ามาทำภารกิจกู้เรือไททัน นอกเหนือจากเรือรุ่นอื่นๆ ที่มีศักยภาพคล้ายกัน ซึ่งทั้งหน่วยงานรัฐและภาคเอกชนต่างระดมความช่วยเหลือในช่วงนี้ แต่ความกังวลในขณะนี้คือ หากเรือได้รับความเสียหายหรือตกไปในจุดที่เลยไหล่ทวีปออกไป อาจยิ่งทำให้โอกาสในการช่วยเหลือคนบนเรือลดลง
วิเคราะห์โดย ทิพย์ตะวัน ธีรนัยพงศ์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เร่งค้นหายานดำน้ำ "ไททัน" สูญหายใต้ทะเล คลุมพื้นที่ 26,000 ตร.กม.