ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ขยายพื้นที่ค้นหาเรือดำน้ำ "ไททัน" ออกซิเจนใกล้หมดวันนี้

ต่างประเทศ
22 มิ.ย. 66
08:16
3,868
Logo Thai PBS
ขยายพื้นที่ค้นหาเรือดำน้ำ "ไททัน" ออกซิเจนใกล้หมดวันนี้
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
การค้นหาเรือดำน้ำ "ไททัน" เข้มข้นขึ้นทุกขณะ ท่ามกลางอากาศในเรือที่คาดเหลือไม่ถึง 20 ชั่วโมง และความท้าทายหลายประการที่ทีมค้นหาต้องเผชิญ ล่าสุดขยายพื้นที่ค้นหาเพิ่ม พร้อมยืนยันยังคงเป็นปฏิบัติการค้นหา 100%

วันนี้ (22 มิ.ย.2566) เว็บไซต์ Marine Traffic เผยภาพความเคลื่อนไหวของเรืออย่างน้อย 11 ลำ ที่เคลื่อนตัวอยู่บริเวณตอนเหนือของมหาสมุทรแอตแลนติก ระหว่างภารกิจค้นหาเรือดำน้ำ "ไททัน" ที่สูญหายไประหว่างดำลงไปสำรวจซากเรือไททานิก ตั้งแต่วันที่ 18 มิ.ย.ที่ผ่านมา ตามเวลาท้องถิ่น จนถึงขณะนี้คาดไททันอาจมีอากาศสำหรับหายใจหลงเหลืออยู่ไม่ถึง 20 ชั่วโมงแล้ว ตามการคาดการณ์ก่อนนี้ที่ว่าอากาศจะหมดลงในช่วงเช้าตามเวลาท้องถิ่น ตรงกับเวลาประมาณ 17.00 น.ตามเวลาไทย

หน่วยยามชายฝั่งสหรัฐฯ ระบุว่า ขณะนี้เน้นค้นหาบริเวณที่ได้ยินเสียง หลังจากได้ยินเสียงทุบช่วงเช้าวันอังคารและวันพุธตามเวลาท้องถิ่น โดยพื้นที่ค้นหาขยายวงกว้างและกินบริเวณเป็น 2 เท่า ของรัฐคอนเนกติคัต สหรัฐฯ ซึ่งเวลานี้เจ้าหน้าที่ยืนยันว่า ยังคงเป็นปฏิบัติการค้นหา 100% พร้อมแสดงความกังวลเกี่ยวกับอาหารและน้ำภายในเรือ แต่ข้อมูลเดียวที่ทราบคือเรื่อง ออกซิเจน

แต่ผู้เชี่ยวชาญการดำน้ำ ระบุว่า การจะระบุตำแหน่งเสียงที่โซนาร์ตรวจพบ เสมือนการหาที่มาของเสียงกลองในคอนเสิร์ตใหญ่ ๆ เพราะในน้ำมีคลื่นที่อาจทำให้ยากต่อการระบุตำแหน่ง และต้องตัดเสียงรบกวนต่าง ๆ ออกไปให้ได้

เวลานี้ผู้เชี่ยวชาญต่างชาติมองความเป็นไปได้ 2 แนวทางของเรือไททัน หลังจากขาดการติดต่อกับเรือ Polar Prince ตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ผ่านมา ฉากทัศน์แรก คือ เรือลอยขึ้นมาแล้ว แต่ยังติดต่อไม่ได้ หรือ ฉากทัศน์ที่ 2 คือ เรือถูกกระแสน้ำก้นทะเลซัดไปติดบริเวณซากเรือไททานิก

อีกประเด็นหนึ่งซึ่งเป็นที่สนใจคือข้อกังขาเรื่องความปลอดภัยของตัวเรือไททัน โดยมีข้อมูลจากเอกสารของศาลในสหรัฐฯ เมื่อปี 2018 ที่ระบุว่า David Lochridge ผู้อำนวยการฝ่ายการปฏิบัติการทางน้ำของทางบริษัท OceanGate เคยแสดงความกังวลเกี่ยวกับเรื่องความปลอดภัยของเรือเอาไว้ในรายงานการตรวจสอบในปีนั้น โดยระบุว่า เขาพบสิ่งที่น่ากังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยหลายข้อ รวมถึงวิธีการทดสอบลำตัวเรือที่ยังไม่ได้ทดสอบอย่างเหมาะสม นั่นคือการนำไปทดสอบภายใต้แรงดันสูง ๆ และวิเคราะห์ผลกระทบต่าง ๆ เพื่อดูว่าอาจเกิดปัญหาอะไรขึ้นได้บ้าง

"ไททัน" กับข้อกังขาด้านความปลอดภัย

Lochridge ให้ความสำคัญเรื่องของอันตรายและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับผู้โดยสารของไททัน เมื่อตัวเรือดำดิ่งลงไปถึงความลึกระดับยิ่งยวด แต่ว่าคำเตือนของเขาถูกเพิกเฉยและหลังจากมีการเรียกประชุมกับผู้บริหารของทางบริษัท เขากลับถูกให้ออกจากงาน

หลังจากนั้นทางบริษัท OceanGate ฟ้องร้องเขาข้อหาเปิดเผยข้อมูลที่เป็นความลับและตัวเขาเองก็ฟ้องกลับในกรณีของการให้ออกจากงานอย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งในภายหลังคดีความเหล่านี้ไกล่เกลี่ยกันได้และสิ้นสุดลงในที่สุด แต่ไม่ทราบรายละเอียดว่าไกล่เกลี่ยกันอย่างไรบ้าง

อีกกรณีหนึ่งเปิดเผยโดย the New York Times เป็นจดหมายที่สมาคมเทคโนโลยีทางน้ำ (Marine Technology Society - MTS) ส่งหาทางบริษัท OceanGate เมื่อเดือน มี.ค.ปี 2018 ที่ระบุว่า เรืองของทางบริษัทที่ยังคงอยู่ในขั้นตอนการทดลองอาจจะนำมาซึ่งผลในเชิงลบได้

ผลในเชิงลบครอบคลุมตั้งแต่ความเสียหายเล็กน้อยไปจนถึงระดับหายนะ ซึ่งสมาคมดังกล่าวเป็นการรวมตัวกันของบรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีทางน้ำ มีทั้งวิศวกร ผู้พัฒนาเทคโนโลยี นักวิจัย นักการศึกษา รวมถึงกลุ่มผู้ออกนโยบายและอื่น ๆ

ทาง OceanGate ยังไม่ยอมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นด้านความปลอดภัยที่มีการหยิบยกมาพูดถึง 2 กรณี

ยานดำน้ำหรือเรือดำน้ำต่าง ๆ แม้จะไม่มีหน่วยงานรัฐคอยตรวจสอบรับรอง แต่มีหน่วยงานทางน้ำที่รับตรวจสอบและจัดอันดับประเภทเรือดำน้ำ เช่น สำนักงานเรืออเมริกัน - American Bureau of Shipping (ABS) หรือ หน่วยงานตรวจสอบระดับโลกอย่าง DNV ในนอร์เวย์ หรือสถาบันลอยด์แห่งลอนดอน ซึ่งเป็นแหล่งรวมของผู้รับประกันภัย

"ไททัน" ไม่เข้าตรวจสอบรับรองมาตรฐาน

หากผ่านการตรวจสอบเหล่านี้ อย่างน้อยเท่ากับว่าเรือจะต้องผ่านมาตรการความแข็งแรง ความเสถียร ความปลอดภัย และมีสมรรถนะเพียงพอในระดับหนึ่ง เพราะจะต้องตรวจสอบเรื่องการออกแบบ การต่อเรือ การทดสอบ และต้องตรวจสภาพเป็นประจำหลังใช้งานจริงไประยะหนึ่ง

แต่ OceanGate ระบุว่า การตรวจสอบโดยหน่วยงานต่าง ๆ ทำให้นวัตกรรมล่าช้าลง เป็นอุปสรรคต่อการนำไปทดลองใช้งานจริงเพื่อพัฒนานวัตกรรมได้อย่างรวดเร็ว

นอกจากการไม่ส่งเรือเข้ารับการตรวจสอบรับรอง สิ่งที่แปลกเกี่ยวกับไททันยังมีอีก 2 ข้อ ตามความเห็นของผู้เชี่ยวชาญด้านสมุทรศาสตร์ คือ

1. ไททันทำขึ้นจากวัสดุที่ค่อนข้างแปลกใหม่ สำหรับการเดินทางในทะเลลึก โดยลำตัวเรือหรือส่วนกลางที่ห่อหุ้มช่องว่างภายในซึ่งเป็นที่นั่งของผู้โดยสารทำจากคาร์บอนไฟเบอร์

คาร์บอนไฟเบอร์ ถือเป็นวัสดุที่แข็งแรงทนทานมาก ราคาถูกกว่าไทเทเนียมหรือเหล็กกล้า แต่สำหรับการเดินทางใต้ทะเลลึกหรือในเรือดำน้ำ ที่ต้องลงไปในความลึกมากๆ ใต้มหาสมุทร ยังไม่ค่อยมีการทดสอบใช้วัสดุนี้มากเท่าไรนัก

2. รูปร่างของไททัน ปกติแล้ว เรือดำน้ำที่ต้องลงไปใต้มหาสมุทรลึกมากๆ มักเป็นทรงกลม เพื่อให้รับแรงดันจากทุกด้านได้เท่าๆ กัน แต่ลำตัวเรือไททันกลับเป็นทรงกระบอก เท่ากับว่าจะรับแรงดันไม่เท่ากัน ซึ่งอาจนำไปสู่ความเสี่ยงทำให้มีบางจุดเสียหายได้

"ไททัน" ถือเป็นเรือดำน้ำขนาดเล็ก เพียง 1 ใน 5 ลำของโลก ที่ดำลงไปสำรวจเรือไททานิก ในระดับความลึกกว่า 3,000 เมตร

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

วิเคราะห์ : จับตาค้นหาเรือ "ไททัน" เทียบภารกิจกู้ภัยใต้ทะเลลึก

ทีมค้นหาเรือดำน้ำ "ไททัน" ตรวจพบเสียงดังทุก 30 นาที

เร่งค้นหายานดำน้ำ "ไททัน" สูญหายใต้ทะเล คลุมพื้นที่ 26,000 ตร.กม.

เร่งค้นหา "เรือดำน้ำ" พาเที่ยวชมซากไททานิก สูญหายใต้ทะเล

ข่าวที่เกี่ยวข้อง