ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

สัญญาณเตือน-ปัจจัยเสี่ยง "มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง"

สังคม
22 มิ.ย. 66
12:30
4,388
Logo Thai PBS
สัญญาณเตือน-ปัจจัยเสี่ยง "มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กรมการแพทย์ชี้ "มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง" เริ่มจากเป็นติ่งเนื้อในลำไส้และพัฒนาเป็นมะเร็ง อาการพบบ่อยถ่ายอุจจาระผิดปกติ ท้องผูกสลับท้องเสีย รวมถึงถ่ายเป็นมูก แนะเลี่ยงอาหารไขมันสูง-ฟาสต์ฟู้ด-ปิ้งย่างไหม้เกรียม

วันนี้ (22 มิ.ย.2566) นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง ว่า พบมากเป็นอันดับต้นๆ ของหลายประเทศทั่วโลก สำหรับประเทศไทยมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรงเป็น 1 ใน 5 ของมะเร็งที่พบมากในคนไทย มีอัตราการเกิดโรคสูงขึ้นทุกปี ปัจจุบันพบมากเป็นอันดับ 3 ในเพศชาย และอันดับ 2 ในเพศหญิง

ขณะที่ พญ.นภา ศิริวิวัฒนากุล ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า วิถีชีวิตของคนไทยเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะพฤติกรรมการบริโภค เช่น อาหารไขมันสูง อาหารฟาสต์ฟู้ดต่างๆ กินอาหารปิ้งย่างไหม้เกรียม อาหารจากน้ำมันทอดซ้ำ และเนื้อสัตว์แปรรูป ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อการเกิดโรค อีกทั้งยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น สูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ขาดการออกกำลังกาย มีภาวะอ้วนน้ำหนักเกิน ตลอดจนมีประวัติครอบครัวหรือตนเองเป็นติ่งเนื้อในลำไส้ เป็นต้น

"มะเร็งลำไส้ใหญ่" เริ่มจากติ่งเนื้อในลำไส้

โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ เริ่มจากการเกิดติ่งเนื้อในลำไส้ (polyp) และพัฒนาจนเป็นมะเร็ง ใช้เวลาประมาณ 10-15 ปี มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรงมักจะไม่มีอาการในระยะเริ่มแรกของโรค จะมีอาการก็ต่อเมื่อโรคลุกลามมากขึ้นจนถึงระยะสุดท้าย ส่งผลทำให้การรักษาไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร

อาการของโรคที่พบบ่อย ได้แก่ การถ่ายอุจจาระผิดปกติ มีอาการท้องผูกสลับท้องเสีย ถ่ายอุจจาระบ่อยครั้ง ถ่ายไม่สุด ถ่ายเป็นมูกหรือมูกปนเลือด หรืออาจถ่ายเป็นเลือดสด ขนาดลำอุจจาระเล็กลง และมีอาการปวดท้อง แน่นท้อง ท้องอืด จุกเสียด เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง สามารถตรวจคัดกรองเพื่อค้นหามะเร็งในระยะเริ่มแรกได้ ส่งผลให้การรักษาได้ผลดีและมีโอกาสหายจากโรคสูง ผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปควรตรวจคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง โดยการตรวจหาเลือดแฝงในอุจจาระปีละครั้ง หากผิดปกติควรส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ กรณีพบติ่งเนื้อหรือความผิดปกติในลำไส้ใหญ่ แพทย์จะตัดชิ้นเนื้อบริเวณดังกล่าวเพื่อวินิจฉัย

อ่านข่าวอื่นๆ

มะเร็งคร่าชีวิต "ณรงค์ศักดิ์" ผู้ว่าฯ หมูป่า

26 มิถุนายน วันต่อต้านยาเสพติดโลก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง