จับกระแสการเมือง 23 มิ.ย.2566 : เพิ่มแรงกดดันพรรคก้าวไกล เมื่อพรรคร่วมรัฐบาลเดิมส่ง “สุชาติ” ชิงประธานสภาฯ

การเมือง
23 มิ.ย. 66
14:04
1,706
Logo Thai PBS
จับกระแสการเมือง 23 มิ.ย.2566 : เพิ่มแรงกดดันพรรคก้าวไกล เมื่อพรรคร่วมรัฐบาลเดิมส่ง “สุชาติ” ชิงประธานสภาฯ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เมื่อกรรมการการเลือกตั้ง หรือกกต. ประกาศรับรองส.ส.ทั้ง 500 คน ความจริงน่าจะมีความคืบหน้าเรื่องตั้งรัฐบาลภายใต้การนำของ 2 พรรคใหญ่ ก้าวไกลและเพื่อไทย หลังการเมืองติดหล่มมานานกว่า 3 สัปดาห์หลังการเลือกตั้ง

แต่กลายเป็นว่า ช่วง 2-3 วันหลังการรับรองผล กลับมีเรื่องราวข่าวคราวความเคลื่อนไหวในแวดวงการเมืองมากมาย สร้างความสับสนปั่นป่วนไปทั่ว และส่วนใหญ่ ไม่เป็นผลในเชิงบวกต่อพรรคก้าวไกล และนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกฯ จากพรรคก้าวไกล มากนัก

ตั้งแต่ตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่นายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรค ในฐานะตัวแทนชุดเจรจาจากพรรคเพื่อไทย พูดชัดเจนตามหลักการให้พรรคอันดับ 1 คือ ก้าวไกลเป็นประธานสภาฯ พรรคอันดับ 2 ที่มี ส.ส.ห่างกันไม่มาก ควรต้องได้รองประธาน 2 ตำแหน่ง

เป็นที่มาของการออกโรงวิจารณ์แสดงความไม่เห็นด้วย ของนายอดิศร เพียงเกษ แกนนำรุ่นอาวุโส ตั้งแต่พรรคไทยรักไทย และได้นำเรื่องนี้ไปอภิปรายอย่างร้อนแรง ในการสัมมนา ส.ส.พรรค ทั้งเหน็บนายภูมิธรรม และชุดเจรจาว่า “เป็นคนของพรรคเพื่อไทยหรือก้าวไกลกันแน่” ขณะที่เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นร้อนในพรรค กระทั่งมีแชทไลน์หลุดว่อนโลกโซเชียล

จึงมีคำถามว่า ในฐานะตัวแทนเจรจาจากพรรค ต้องขอมติเห็นชอบจากพรรคก่อนหรือไม่ หรือมีอำนาจเต็มในการเจรจาตัดสินใจได้เลย รวมทั้งนายภูมิธรรม ซึ่งถือเป็นสายตรงของคนแดนไกล สุ้มเสียงไม่ขลังเหมือนเดิมหรืออย่างไร

เช่นเดียวกับในพรรคก้าวไกล เกิดคำถามตามมาเช่นกันว่า เกิดอะไรขึ้น เพราะอุตส่าห์เจรจาตกลงกันจนได้ข้อสรุปเบื้องต้น ตามหลักการที่พรรคเพื่อไทยเสนอมาแล้ว แต่กลับมีท่าทีไม่เห็นด้วยในพรรคเพื่อไทย

ทั้งที่ก่อนหน้านี้ นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรค ที่เป็นเสมือนผู้จัดการรัฐบาล ได้เอ่ยปากขอบคุณพรรคเพื่อไทย ที่ยอมถอยจากตำแหน่งประธานสภาไปแล้ว หรือว่าฟังผิด หรือฟังแล้วเข้าใจผิดไปหรือไม่

หรือเป็นเรื่องเล่นตามบทของพรรคเพื่อไทย ที่ถูกมองอย่างสงสัยมาตั้งแต่แรกว่า เพื่อไทยจะยอมพรรคก้าวไกลจริงหรือไม่ ในเมื่อมีทางเลือกมากกว่า 1 ทาง เป็นการเพิ่มแรงกดดันไปยังพรรคก้าวไกลในวงเจรจาการแบ่งเค้กรัฐมนตรีหรือไม่

หรือถึงเวลาแล้ว สำหรับจุดเริ่มของการเปลี่ยนแปลงเรื่องตั้งรัฐบาล จากเดิมภายใต้การนำของพรรคก้าวไกล ต้องเปลี่ยนไปเป็นพรรคเพื่อไทย

เนื่องจากคนวงในการเมือง ต่างเชื่อมาตั้งแต่ต้นแล้วว่า การตั้งรัฐบาลโดยพรรคก้าวไกลเป็นแกนนำ จะไม่ประสบความสำเร็จ นายพิธาจะไปไม่ถึงเก้าอี้นายกรัฐมนตรี เพราะมีปัจจัยและด่านหินรออยู่มาก

เฉพาะแค่ด่าน ส.ว. จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีแนวโน้มในทางที่ดี ถึงแม้ น.ส.สิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรค จะอ้างว่ามีความคืบหน้าไปมาก แต่กลับไม่มี ส.ว.คนใด หรือคนในวงในที่เกี่ยวข้อง ออกมายืนยันว่าเป็นเรื่องจริง

แม้แต่เรื่องแกนนำกลุ่มสามมิตร ที่ย้ายไปพรรคเพื่อไทย เคยพูดว่า จะไปช่วยเจรจาโน้มน้าว ส.ว.ให้โหวตสนับสนุน แต่ในทางปฏิบัติ ยังไม่มี ส.ว.ยืนยันเพิ่มเติมจากเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน

ไปสอดคล้องกับการโพสต์ข้อความล่าสุดผ่านทางเฟซบุ๊คของนายวันชัย สอนสิริ สมาชิกวุฒิสภาว่า “รู้แล้วจะหนาว บอกเกมนี้หลายชั้น พลิกไปพลิกมา ล็อกถล่มแผ่นดินทลาย”

แม้จะยังไม่ได้เฉลยชัด แต่ไม่วายถูกคนโยงไปถึงความเคลื่อนไหวล่าสุด จากพรรคร่วมรัฐบาลเดิม เตรียมเสนอชื่อนายสุชาติ ตันเจริญ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เป็นประธานสภาผู้แทนฯ แข่งกับคนของพรรคก้าวไกล หลังจากก่อนหน้านี้ มีชื่อของนายสุชาติติดโผชิงตำแหน่งประธานสภาฯของพรรคเพื่อไทยพร้อมกับ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรค

ไม่เพียงเท่านั้น ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา แกนนำพรรคพลังประชารัฐ ได้พูดล่าสุดเแบบมีนัยว่า ทุกพรรคสามารถเสนอชื่อชิงประธานสภาฯ ได้ และแม้จะบอกปัดเรื่องส่งนายสุชาติชิงเก้าอี้ประธานสภาฯ แต่ไม่วายจะพูดย้ำในเรื่องข้อเท็จจริงว่า การโหวตเลือกประธาน เป็นเอกสิทธิ์ของส.ส. หมายถึง ไม่จำเป็นต้องโหวตตามมติพรรค

ที่น่าแปลกไม่น้อย คือกระทั่งถึงช่วงบ่ายวานนี้ (22 มิ.ย.) นายสุชาติ ยังไม่ได้ออกมาชี้แจงใด ๆ หลังไม่ได้ไปร่วมสัมมนาพรรคเพื่อไทยร่วมกับส.ส.คนอื่น ๆ โดยมีข่าวว่าไปผ่าฟันคุด

แต่ได้ส่งแรงกระเพื่อมต่อแวดวงการเมืองไม่น้อย เพราะก่อนหน้านี้ นายสุชาติเป็นรองประธานสภาฯ โควตาพรรคพลังประชารัฐ เป็นแกนนำ ส.ส.กลุ่มบ้านริมน้ำ และเป็นอดีตแกนนำกลุ่ม 16 ที่ลือลั่นในอดีต ทำให้เชื่อกันว่า หากมีการปล่อยฟรีโหวตในสภาฯ ดังที่นายอดิศร เรียกร้อง ผลคะแนนมีสิทธิ์พลิกผันได้

ขณะที่ ร.อ.ธรรมมนัส ระหว่างนี้ร่วมทริปกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคไปอังกฤษท่ามกลางกระแสข่าวลือสะพัดบนหน้าสื่อว่า ถูกจับตาเป็นพิเศษ เพราะอาจมีเรื่องดีลลับจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคเพื่อไทย แม้ พล.อ.ประวิตร จะยืนยันไม่มีดีลลับแต่อย่างใด

เช่นเดียวกับนายชัยธวัช ที่ปฏิเสธข่าวลือว่า พรรคก้าวไกลมีดีลลับกับภูมิใจไทย ผ่านนายเนวิน ชิดชอบ ครูใหญ่ของพรรค แต่กระนั้น เป็นการสะท้อนในทีว่าขณะนี้กระแสข่าวมากมายเกิดขึ้น ทั้งข่าวจริง ข่าวลือ ข่าวลวง

ปัญหาสำคัญอยู่ที่ว่า ชิ้นไหนเป็นข่าวจริง ชิ้นไหนเป็นข่าวลือ และชิ้นไหนเป็นข่าวลวง

วิเคราะห์ : ประจักษ์ มะวงศ์สา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง