วันนี้ (23 มิ.ย.2566) กรมควบคุมโรค รายงานสถานการณ์โรคไข้เลือดออกระหว่างวันที่ 1 ม.ค.–21 มิ.ย.นี้ ผู้ป่วยสะสม 24,090 คน โดยสัปดาห์ที่ 24 มีผู้ป่วยรายใหม่ 2,633 คน ผู้เสียชีวิตสะสม 20 คน เพิ่มขึ้น 1 คน
ด้านนายสัตวแพทนภัทรพล มณีอ่อน นายสัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ หัวหน้า
กลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าพันธุ์พืช ได้นำทีมเจ้าหน้าที่กลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า ไปศึกษาวิธีการผสมผลิตภัณฑ์ชุบเสื้อมุ้งตาข่าย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันยุง และแมลงต่างๆ ณ กองโรคติดต่อนำโดยแมลง อาคาร 4 ชั้น 5 กรมควบคุมโรค
เพื่อจะได้นำวิธีการดังกล่าว ไปเผยแพร่แก่เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าที่มีความเสี่ยงจากยุงและแมลงระบาดหนักในช่วงฤดูฝนที่อาจจะก่อโรคต่างๆ เช่น โรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย โรคไข้มาลาเรีย โรคไข้สมองอักเสบเจอี และโรคติดเชื้อไวรัสซิก้า นำโดย ดร.พญ.ฉันทนา ผดุงทศ ผอ.กองโรคติดต่อนำโดยแมลง ได้สาธิตวิธีการผสมผลิตภัณฑ์ชุบมุ้งป้องกันยุงและแมลง
นอกจากนี้ได้ให้การสนับสนุนผสมผลิตภัณฑ์ชุบมุ้งตาข่ายป้องกันและกำจัดยุง ทั้งนี้เสื้อมุ้งตาข่ายเหล่านี้ไปแจกจ่าย ให้แก่เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าได้สวมใส่ป้องกันยุงและแมลงในการปฏิบัติหน้าที่
อ่านข่าวเพิ่ม เทียบอาการ! ไข้เลือดออก-ไข้หวัดใหญ่-โควิด อะไรเหมือน-ต่าง?
กรมอุทยานฯ-สธ.ร่วมทดสอบเสื้อกันมุ้งนาโน ให้เจ้าหน้าที่ใส่เพื่อป้องกันโรคจากยุง
เช็กอาการ ชิคุณกุนยา
นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดี กรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคชิคุนกุนยา หรือ “โรคไข้ปวดข้อยุงลาย” เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อไวรัสที่มียุงลายสวนและยุงลายบ้านเป็นพาหะนำโรค พบได้ในทุกกลุ่มอายุ รวมทั้งเด็กเล็ก มีอาการคล้ายกับโรคไข้เลือดออกแต่ไม่รุนแรงเท่า
โรคชิคุนกุนยา มักไม่เป็นอันตรายร้ายแรงต่อชีวิต แต่ผู้ป่วยบางคนอาจมีอาการปวดข้อเรื้อรังต่อเนื่อง ส่วนรายที่รุนแรงอาจพบเกล็ดเลือดต่ำและมีอาการช็อกได้ แต่พบได้น้อยมาก โดยทั่วไปเมื่อผู้ป่วยถูกยุงลายที่มีเชื้อไวรัสชิคุนกุนยากัด จะมีระยะฟักตัวของโรค 1-12 วัน แต่ที่พบบ่อยจะอยู่ที่ประมาณ 3-7 วัน
ยุงลาย ต้นเหตุโรคไข้เลือดออก โรคชิคุนกุนยา
นพ.จินดา โรจนเมธินทร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อครบระยะฟักตัวผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูงอย่างฉับพลัน โดยอาจสูงถึง 40 องศาเซลเซียส ประมาณ 2-4 วัน และไข้จะลดลงอย่างรวดเร็ว มีผื่นแดงขึ้นตามร่างกาย บางรายอาจมีอาการบวมที่มือและเท้า หรือมีอาการคันร่วมด้วย รวมทั้งอาจจะมีตาแดง
ส่วนอาการที่เด่นชัดในผู้ใหญ่คืออาการปวดข้อ ร่วมกับมีการอักเสบ มักพบที่ นิ้วมือ ข้อศอก ข้อเข่า โดยมักจะพบได้หลายข้อและเปลี่ยนตำแหน่งไปเรื่อยๆ บางคนอาจมีอาการรุนแรงทำให้ไม่สามารถขยับข้อได้
อาการปวดข้อช่วงแรกมักหายได้ภายใน 1-2 สัปดาห์ แต่บางคนอาจมีอาการปวดข้อเกิดขึ้นได้อีกภายใน 2-3 สัปดาห์ต่อมา หรือบางอาจอยู่ได้นานเป็นเดือนหรือเป็นปี แต่ในเด็กจะมีอาการไม่รุนแรงเท่าผู้ใหญ่
ข้อแตกต่างจากไข้เลือดออก
นพ.ภาณุวัฒน์ วงษ์กุหลาบ นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ ด้านเวชกรรม สาขาอายุรกรรม อายุรแพทย์ โรคติดเชื้อ โรงพยาบาลราชวิถี กล่าวว่า โรคชิคุนกุนยามีความแตกต่างจากโรคไข้เลือดออก โดยผู้ป่วยโรคชิคุนกุนยา ในรายที่รุนแรงอาจมีเกร็ดเลือดต่ำและมีอาการช็อกแต่พบได้น้อยมาก บางคนอาจมีภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้เช่น กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ตับอักเสบ
ปัจจัยที่ทำให้เกิดความรุนแรงคือ ผู้สูงอายุ ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวเบาหวาน โรคหัวใจหรือความดันโลหิตสูง
โดยทั่วไปโรคนี้ไม่มีการรักษาที่จำเพาะเจาะจง แต่เป็นการรักษาตามอาการของโรค เช่น การให้ยาลดไข้ (ควรทานยาพาราเซตามอล เพื่อลดไข้และอาการปวด) แพทย์อาจให้ยาแก้ปวดในกลุ่มต้านอักเสบในผู้ป่วยที่มีอาการปวดข้อและสามารถแยกโรคได้จากโรคไข้เลือดออก
ผู้ป่วยควรเช็ดตัวด้วยน้ำสะอาดเพื่อช่วยลดไข้ ดื่มน้ำและนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ การป้องกันที่ดีที่สุด คือ ไม่ให้ยุงกัด เช่น ใส่เสื้อผ้าที่มิดชิด ทายากันยุง ติดตั้งอุปกรณ์กันยุง เช่นมุ้งลวดภายในบ้าน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง