ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"คุก" ทางตัน-ทางออก "ทางเลือกหลังพ้นโทษ"

สังคม
27 มิ.ย. 66
15:56
1,750
Logo Thai PBS
"คุก" ทางตัน-ทางออก "ทางเลือกหลังพ้นโทษ"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ประตูทางเข้าทัณฑสถานหญิงกลางถูกเปิดออก ทำให้เห็นแดนขังหญิงอยู่ไกลๆ สถานที่แห่งนี้ มีผู้ต้องหาหญิงหลากวัยอยู่รวมกันกว่า 4,000 คน คดีมโนสาเร่ ตั้งแต่ ลัก วิ่ง ชิงทรัพย์ จนถึงคดีที่ครองแชมป์ความผิดทุกเรือนจำทั่วประเทศคือ คดียาเสพติด

นิยามใหม่ของ "เรือนจำ-นักโทษ"

เมย์ ผู้ต้องขังคดียาเสพติด บอกว่าหากจะให้คำนิยามตามความหมายที่รู้สึกของคำว่า"คุก" คือ โรงเรียนประจำ และ "นักโทษ" ก็คือ เด็กดื้อ และอยากให้คนภายนอกมองว่า ผู้ต้องขัง ก็คือคนๆ หนึ่ง เพียงแค่จังหวะชีวิตเดินเซตกหลุมไป เมื่อถูกขัดเกลาหรือได้ความช่วยเหลือส่งให้ ก็เหมือนได้รับโอกาสใหม่ของชีวิต

ถ้าอยู่บ้าน เราจะไม่ได้ทำกิจกรรมต่างๆ ที่เรือนจำระบุไว้ พ่อแม่ก็บังคับเราไม่ได้ แต่อยู่ที่นี่ ต้องทำตามระเบียบ ถ้าไม่ทำก็ไม่มีใครทำให้ แม่หรือผู้คุม ไม่ได้บังคับ เพราะการที่เราจะปฎิบัติหรือไม่ทำตามกฎกติกา ไม่ได้ทำให้เงินเดือนเขาลดหรือเพิ่ม แต่ที่เขาทำ เพราะเขาอยากเอาสิ่งดีๆ เข้าตัวพวกเรา

เช่นเดียวกับ เป้ ผู้ต้องขังคดียาเสพติดอีกคนหนึ่งที่มองว่า เรือนจำคือศูนย์รวมของเด็กดื้อ ผู้คุมเหมือนพ่อแม่ที่พยายามให้แต่สิ่งดีๆ เพื่อให้ทุกคนออกไปและได้โอกาสดีๆ โอกาสใหม่ในชีวิต

แต่ใช่ว่าทุกคนเมื่อพ้นโทษออกไปแล้ว จะไม่กลับเข้ามาอีก บางคนไปกระทำความผิด ก่อคดีซ้ำต้องกลับเข้าเรือนจำครั้งที่ 9 ครั้งที่ 10 จำนวนนี้บางส่วนอาจเห็นว่าอยู่ในนี้สบาย ไม่ต้องทำงานหาเงิน ไม่ต้องคิดอะไร อยู่ที่นี่มีข้าวกิน มีที่นอน ถึงแม้ว่าความแออัดในเรือนจำจะมีมากแค่ไหน แต่เมื่อต้องออกไปสู่โลกกว้างหลังพ้นโทษ ผู้ต้องขังบางคนจึงเลือกที่จะกระทำผิดซ้ำเพื่อให้ได้กลับมาหนแล้วหนเล่า

"หมดทางไป-ขาดโอกาส" ทำผิดซ้ำกลับเข้าคุก

การถูกคุมขังในทัณฑสถานหญิง แม้ในนี้จะมีการฝึกทักษะอาชีพต่างๆ ให้นักโทษ เมื่อพ้นคุกออกไปจะได้สร้างโอกาสใหม่ให้ชีวิต แต่บางคนไม่มีโอกาส หรือ ไม่ได้รับโอกาส ทำให้กำลังใจที่เคยมีเต็มเปี่ยมค่อยๆ ลดลง

เป้ บอกว่า บางคนอยากสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้ตัวเอง แต่ไม่มีใครสนับสนุน เขามองว่าหากอยู่ในเรือนจำมีข้าวกินแน่นอน 3 มื้อ มีที่หลับที่นอน ไม่สบายมีหมอดูแล ชีวิตไม่ลำบากกว่าข้างนอก

ขณะที่ เมย์ สนับสนุนว่า นักโทษที่คิดแบบนี้จะมีบุคลิกที่แตกต่างอย่างชัดเจน ทำให้คนอื่นมองว่าเป็นคนจิตผิดปกติ จึงเลือกที่จะอยู่ในเรือนจำเพราะมีเจ้าหน้าที่ดูแล อีกประเภทคือ คนที่ไม่มีความรู้ ไม่ได้เรียนหนังสือขั้นพื้นฐาน ครอบครัวแตกแยกและฐานะไม่ดี

เมื่อพ้นโทษออกไป เขาไม่รู้จะไปหาใคร หาทางไปให้กับชีวิตตัวเองหลังจากออกจากเรือนจำไม่ได้ สุดท้ายก็วนกลับไปสู่สิ่งแวดล้อมแบบเดิมๆ และก็กลับเข้ามาสู่เรือนจำที่เดิม

ครอบครัว กำลังใจคนเคยพลาด

แม้จะมาจากครอบครัวที่อบอุ่น แต่จิตใจไม่เข้มแข็ง ทำให้ เมย์ พาตัวเองเข้าไปพัวพันกับยาเสพติด ต้องเสียเวลาชีวิตไปกว่า 7 ปีในเรือนจำ เธอบอกว่า ทุกความสูญเสียเกิดจากจิตใจที่อ่อนแอและสิ่งแวดล้อมรอบข้างที่เป็นตัวผลัก แต่จากนี้จะปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้น ให้สมกับโอกาสใหม่ที่ได้จากครอบครัว

"เมย์และเป้" โชคดีเหมือนกันตรงที่ "ครอบครัว" ยอมรับและพร้อมสนับสนุนเมื่อวันแห่งอิสรภาพมาถึง

เมย์บอกว่าตั้งใจจะกลับไปทำงานที่บ้าน ปรับตัวเข้าหาที่บ้าน ไม่อยากทำให้ครอบ ครัวผิดหวังอีกแล้ว

ส่วนเป้มีหลานวัย 3 ขวบเป็นเป้าหมายใหญ่ในชีวิต เธอต้้งใจที่จะทำตัวเป็นคนที่ดีขึ้น เป็นที่ภูมิใจ เป็นแบบอย่างให้กับหลาน มอบแต่สิ่งดีๆ ให้กับกำลังใจตัวน้อยของเธอ

บ้านพระพร-ศูนย์แคร์ ประตูแห่งความหวัง

ไม่ใช่ผู้ต้องขังทุกคนจะมีครอบครัวรอรับหลังพ้นโทษ และประตูแห่งโอกาสให้กลับตัวเป็นคนดีไม่ได้ปิดตาย เพราะเรือนจำไม่ได้ทิ้งคนเคยพลาด มี "ศูนย์ Care" ช่วยเหลือผู้พ้นโทษให้มีงานทำ และยังมี "มูลนิธิบ้านพระพร" ที่เป็นที่พึ่งพิงให้ผู้พ้นโทษแต่ไร้ที่ไป ให้อาศัยชั่วคราวก่อน

นฤมล จอมวิญญาณ์ เจ้าหน้าที่ทัณฑสถานหญิงกลาง กล่าวว่า ไม่ว่าใครที่เข้ามาอยู่ในเรือนจำแห่งนี้ พ้นโทษออกไปแล้วจะต้องมีความรู้ติดตัวไปด้วย คุกในภาพจำของคนนอก คือ การในห้องขัง ลูกกรงมีสนิมเกาะ บรรยากาศมืดอึมครึม แต่ความจริงไม่ใช่

นักโทษทุกคนยังมีสิทธิขั้นพื้นฐานตามปกติ ยกเว้นเพียง "เสรีภาพ" ถามว่าคุ้มหรือไม่กับความผิดที่คนเหล่านี้ทำ บางคนค้ายา ฆ่าคนตาย เหมือนได้ใช้ชีวิตสบาย มีข้าว มีที่นอน มีการศึกษา มีหมอคอยรักษาดูแล แต่บอกเลยว่า "เขาไม่ได้สบายอย่างที่คิด" และคำว่า ถูกจำกัดเสรีภาพ คือ บทลงโทษแสนสาหัสสำหรับนักโทษทุกคน

นฤมล กล่าวว่า นักโทษมีความทุกข์อยู่แล้ว แต่ราชทัณฑ์ไม่มีหน้าที่ไปทำให้เขาทุกข์เพิ่ม และต้องสร้างโอกาสใหม่ให้พวกเขา ให้เรียนจบ ม.6 สอนทักษะ หางาน หาที่อยู่ ต้องไม่ซ้ำเติม

ลบประวัติอาชญากรรม-ไม่ตีตราผู้ทำผิด

เคยมีข้อเสนอจากนักกฎหมายและตำรวจ ให้ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายทะเบียนประวัติอาชญากร ลบประวัติ ล้างความผิด โดยการคัดแยกหรือเปลี่ยนแปลง รายการข้อมูลทะเบียนประวัติอาชญากรของบุคคลที่ถูกบันทึกไว้ในประวัติ แต่ยังไม่มีความคืบหน้ามากนัก

จรัสสา การเกษตร ผอ.ส่วนประสานราชการและส่งเสริมการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิง ทัณฑสถานหญิงกลาง เล่าว่า ในสหรัฐอเมริกาหากผู้พ้นโทษไม่ได้กระทำความผิดซ้ำภายใน 5 ปี ประวัติอาชญากรจะถูกลบทันที ซึ่งต่างจากไทย ที่ทะเบียนประวัติอาชญากรจะไม่มีวันถูกลบ และหากกฎหมายฉบับนี้ถูกปรับปรุง ก็น่าจะเป็นทางออกให้กับผู้ต้องขังที่ยังกังวลกับการก้าวสู่โลกนอกเรือนจำได้

เช่นเดียวกับ ผู้คุมนฤมล ที่ย้ำว่า เมื่อนักโทษปรับปรุงตัวเอง ร่วมกับเรือนจำที่ช่วยให้ความรู้ ทักษะ เพื่อประกอบอาชีพ ที่เหลือก็เป็นส่วนของสังคม ที่ต้องให้โอกาส สมการจึงจะสมบูรณ์ แต่ความจริงมีบริษัทน้อยมากที่เปิดใจยอมรับผู้พ้นโทษ และทำให้ผู้พ้นโทษถูกตีตราแม้พ้นความผิดไปแล้ว

ครั้งหนึ่งที่คนๆ หนึ่งเคยกระทำผิด จะด้วยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม เมื่อกระบวนการยุติธรรมตัดสินแล้ว เขาก็มีหน้าที่ชดใช้ความผิดตามกรรมที่ก่อไว้ เมื่อพ้นโทษออกจากเรือนจำประตูที่เปิดออกไปอาจเป็นทางออกของใครหลายคน

แต่อาจมีอีกหลายปัจจัย ที่สุดท้ายกลายเป็นทางตันของผู้พ้นโทษ และทำให้วงล้อแห่งกรรม หมุนวนที่เดิม ไม่ได้เคลื่อนไปข้างหน้าเสียที

อ่านข่าวเพิ่ม :

"บิ๊กโจ๊ก" คืนชีวิตให้ ปชช. แก้ประวัติอาชญากรไปแล้วกว่า 9 ล้านคน

ศรัทธาพลิกชีวิต “บอมม์ ขี้คุกเขียนรูป” จากผู้ค้ายาฯ สู่ศิลปิน

ฝึก "โขน" นาฏศิลป์ไทย ช่วยเยาวชนพ้นยาเสพติด

หลังม่านชีวิตอดีตนักเสพฯ "แอ๊ด" ภาพสะท้อน "ทาสยา" GEN ใหม่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง