จับกระแสการเมือง 26 มิ.ย.2566 : กิจการน้ำมันรำข้าว “พิธา” อีกปมปัญหาที่รอความกระจ่าง

การเมือง
26 มิ.ย. 66
16:26
2,187
Logo Thai PBS
จับกระแสการเมือง 26 มิ.ย.2566 : กิจการน้ำมันรำข้าว “พิธา” อีกปมปัญหาที่รอความกระจ่าง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

ผลจากการติดโควิด 19 ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค และแคนดิเดตนายกฯ พรรคก้าวไกล ส่งผลให้การประชุม 8 พรรคร่วมรัฐบาล และเรื่องปมร้อนตำแหน่งประธานสภาผู้แทนฯที่พรรคก้าวไกล นัดคุยเพื่อหาข้อสรุปกับพรรคเพื่อไทย ต้องเลื่อนออกไปเป็นสัปดาห์ ท่ามกลางมรสุมข่าวที่มาจากหลากหลายทิศทางตลอด 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา

การโพสต์ข้อความว่า หายจากติดเชื้อโควิด 19 และพร้อมจะนำ ส.ส.ลูกพรรคไปรายงานตัวที่สภาฯ 27 มิ.ย.แล้ว วันเดียวกันยังมีคิวเดินสายไปพบปะขอบคุณประชาชนและด้อมส้มทั้งหลายที่สมุทรสาครและสมุทรสงคราม ให้ได้คึกคักกันอีกรอบ

แต่น่าเสียดายเป็นการไป หลังเทศกาลกินกุ้งที่สมุทรสาคร ซึ่งเป็นเรื่องที่นายพิธาปลุกกระตุ้นให้คนไทยช่วยกันกินกุ้ง เพื่อแก้ปัญหาราคากุ้งตกต่ำ ได้ปิดฉากไปก่อนตั้งแต่วันที่ 25 มิ.ย. หาไม่อาจได้เห็นการร่วมเทศกาลเปิบกุ้งเป็นไวรัลในโลกโซเชียล

คิวนายพิธาสัปดาห์ใหม่เชื่อว่าจะแน่นมาก รวมทั้งการหารือกับพรรคเพื่อไทย เรื่องปมร้อนประธานสภาฯ และการหารือ 8 พรรคร่วมวันที่ 28 มิ.ย. เป็นการเตรียมพร้อมรับศึกใหญ่การโหวตเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 4 ก.ค.

ซึ่งนายพิธาต้องให้ได้ข้อสรุปก่อนถึงวันดังกล่าว โดยเฉพาะตำแหน่งประธานสภาฯ ต้องกล่อมให้พรรคเพื่อไทยยอมอ่อนข้อให้ หากตกลงกันไม่ได้ ต้องไปเปิดฟรีโวตในการประชุมสภาฯ นัดแรก 4 ก.ค.

มีโอกาสฝันสลายอย่างที่แกนนำพรรคร่วม นายวันมูหะหมัดนอร์ มะทา และคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ ว่าไว้ แม้วงในส่วนหนึ่งจะเชื่อว่า เป็นเพียงการเล่นตามเกมบีบ เพื่อต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรีกระทรวงเกรดเอ

เป็นด่านหินแรกใน 3 ด่าน ยังไม่นับด่าน กกต. และด่าน ส.ว.ที่เชื่อว่าจะโหดหินของจริง เพราะท่าทีที่แสดงออกของทั้งนายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานกมธ.พัฒนาการเมือง ยืนยัน 20 เสียงที่พร้อมจะโหวตให้นายพิธาตอนนี้ถอยหลังแล้ว นายวันชัย สอนสิริ ที่โพสต์ข้อความ 312 เสียงชนะเลือกตั้งแต่แพ้โหวต ส่วน 188 เสียงจะชนะโหวต แม้จะแพ้เลือกตั้ง

ล่าสุด ยังมีความเคลื่อนไหวจาก นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ยืนยันพรรคก้าวไกลติดต่อ ส.ว.บางคนจริง แต่ถูกปฏิเสธไม่ต้องมาพบ และมี 23 ส.ว.ที่จ่อปิดสวิตช์ตัวเองไม่ว่าจะเสนอชื่อใคร

นพ.เจตน์ ย้ำด้วยว่า ความจริงเส้นทางเป็นนายกรัฐมนตรีของนายพิธาไม่ยากมาก แต่ไปติดกับดักเรื่องการแก้ไขมาตรา 112 ของตนเอง สำทับด้วย พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ เพื่อนเตรียมทหาร รุ่น 12 ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แนะให้ไปรวบรวมเสียง ส.ส.ด้วยกันให้ได้ 376 เสียง

แล้ว ส.ว.จะได้ปิดสวิตช์ตัวเองทันที ทั้งแสดงความข้องใจหลายเรื่อง รวมทั้งแผนปฏิรูปกองทัพที่ไปลอกของสหรัฐฯ มาทั้งดุ้น แล้วจะเอาจอมทัพไทย ซึ่งหมายถึงพระมหากษัตริย์ ไปอยู่ตรงไหน

ตอกย้ำโอกาสของนายพิธายากเย็นและริบหรี่ แม้จะได้เห็นความพยายามของพรรคก้าวไกลและนายพิธา ทั้งในเรื่องการเตรียมข้อมูลเอกสาร ทีมทนายความ รวมถึงทีมประสานเจรจากับส.ว. โดยอาศัยมวลชนเป็นพนังทองแดงให้ใช้หลังพิง

อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกเรื่องหนึ่งที่แม้จะไม่เกี่ยวข้องกับคุณสมบัติหรือข้อห้ามสำหรับการเป็นนายกฯโดยตรง แต่สำคัญเพราะเป็นเรื่องสะท้อนถึงฝีมือการบริหารงาน และจริยธรรมความรับผิดชอบ ที่อาจถูกตั้งคำถามว่าเหมาะสมหรือไม่

คือประเด็นปัญหาภายในของบริษัท ที่เดิมเป็นกิจการในครอบครัวของนายพิธา ก่อตั้งมาตั้งแต่สมัยคุณพ่อ ก่อนที่นายพิธาจะเข้าไปเป็นกรรมการ ระหว่างปี 2549-2560 คือบริษัท ซีอีโอ อกริฟู้ด จำกัด หรือบริษัท ออยล์ฟอร์ไลฟ์ จำกัด ธุรกิจผลิตน้ำมันรำข้าว

เดิมทีข่าวที่ปรากฏ คือบริษัทเติบโตอย่างต่อเนื่อง สร้างกำไรให้กับบริษัทตั้งแต่ปีแรกที่นายพิธาเป็นกรรมการ และภายใน 2 ปี ได้กลายเป็นผู้ผลิตรายใหญ่อันดับ 3 ของอาเซียน โดยเฉพาะปี 2554 รายได้มากถึง 1,040 ล้านบาท กำไรสุทธิ 31.9 ล้านบาท

แต่ล่าสุด สื่อหลายสำนักอ้างตรงกันว่า ระหว่างที่นายพิธาเป็นกรรมการบริษัท ได้มีการทำธุรกรรมให้เงินกู้ยืมระยะสั้นแก่บุคคลที่เกี่ยวข้องกัน รวมกว่า 117 ล้านบาท แต่กลับไม่มีการชำระหนี้คืน

ทั้งนี้ ผู้ตรวจสอบบัญชีรับอนุญาตได้ระบุในหมายเหตุงบการเงินว่า เป็นการกู้ยืมที่ไม่คิดดอกเบี้ย ไม่มีการวางหลักประกันการกู้ยืม และจะรับชำระคืนเมื่อทวงถาม

นำไปสู่การเป็นหนี้สูญ และการขาดสภาพคล่อง รวมทั้งบริษัทขาดทุนต่อเนื่องในเวลาต่อมาหรือไม่ โดยเฉพาะระหว่างปี 2559-2561 ที่ขาดทุนสุทธิ 3 ปีติดต่อกัน กระทั่งธนาคารในฐานะเจ้าหนี้ได้ยื่นฟ้องร้องต่อศาล เพื่อให้บริษัทชำระหนี้ ต่อมาบริษัทได้ยื่นคำร้องขอต่อศาลล้มละลายกลางเพื่อขอฟื้นฟูกิจการ

แม้การตัดหนี้สูญดังกล่าว เกิดขึ้นหลังจากนายพิธาลาออกจากกรรมการบริษัท เมื่อปี 60 แล้ว แต่ทั้งหมดเป็นคำถามค้างคาใจว่า เป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับช่วงที่นายพิธาเป็นกรรมการอยู่หรือไม่ และเป็นเรื่องที่นายพิธา ควรต้องชี้แจงเพื่อสร้างความกระจ่าง และแสดงความโปร่งใสในทางธุรกิจ

เป็นอีกหนึ่งวิบากรรมที่นายพิธาอาจต้องเชิญ ในช่วงเวลาแห่งความยากลำบากอย่างยิ่งในขณะนี้

วิเคราะห์ : ประจักษ์ มะวงศ์สา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง