"ป่าฝนแอมะซอน" เรียกได้ว่าเป็นปอดของโลก แต่ในปัจจุบันกำลังประสบปัญหาผืนป่าเสื่อมโทรม โดยมีรายงานว่าพื้นที่ป่ากว่า 870,000 กิโลเมตร ถูกถางออกไปตั้งแต่ปี ค.ศ. 1985 เพื่อใช้ทำการเกษตร คิดเป็นกว่า 20% ของพื้นป่าทั้งหมด องค์กรไม่แสวงผลกำไรจึงใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการอนุรักษ์ธรรมชาติ ด้วยการปฏิบัติภารกิจเพื่อปกป้องพื้นที่ 55,000 เอเคอร์ในป่าแอมะซอนของเปรู ด้วยการใช้หุ่นยนต์ช่วยปลูกป่าที่เรียกว่า "YuMi" จากบริษัท ABB Robotics
"หุ่นยนต์เพาะเมล็ด" เปิดตัวในปี ค.ศ. 2015 มีวัตถุประสงค์เพื่อตอบสนองความต้องการผลิตที่มีความยืดหยุ่น และทำให้เกิดความคล่องตัวของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภค โดยสร้างขึ้นจากโลหะผสมกับแมกนีเซียม มีน้ำหนักเบา พร้อมมีปลอกพลาสติก และบุนวมแบบนุ่ม อีกทั้งได้รับการออกแบบให้สามารถทำงานร่วมกันกับมนุษย์ได้อย่างใกล้ชิด จึงช่วยแก้ปัญหาความต้องการแรงงานคนจำนวนมากในการเพาะปลูก
การเพาะปลูกของหุ่นยนต์จะทำในห้องทดลอง โดยจะเริ่มจากการขุดหลุมในภาชนะที่มีดิน หยอดเมล็ดพืช และกลบหน้าดิน จากนั้นจะมีการแท็กรหัสสีกับถุงต้นไม้ และย้ายไปปลูกในถุงถัดไป การเพาะเมล็ดของหุ่นยนต์ใช้เวลา 12 นาทีต่อถุง หรือ 3.5 นาทีต่อลัง และสามารถปลูกได้ 640 ลังต่อครั้ง หลังจากนั้นอาสาสมัครที่เป็นมนุษย์จะนำลังที่หุ่นยนต์เพาะเมล็ดแล้วไปไว้ที่เรือนเพาะชำ ด้วยความช่วยเหลือจากหุ่นยนต์เพาะเมล็ดทำให้สามารถปลูกต้นไม้ได้ขนาดเท่าพื้นที่สนามฟุตบอล 2 สนามต่อวัน
"หุ่นยนต์เพาะเมล็ด" ถูกพัฒนาและควบคุมการทำงานโดยทีมงานที่อยู่ห่างออกไปกว่า 12,000 กิโลเมตร ในเมืองวาสเตราส ประเทศสวีเดน ทำให้โครงการนำร่องปลูกป่าแอมะซอนในประเทศเปรูเป็นการทำงานร่วมกันของเจ้าหน้าที่มนุษย์ และหุ่นยนต์ที่มีการควบคุมระยะไกลที่สุดในโลก โดยช่วยกันทำงานที่ต้องทำซ้ำ ๆ ซึ่งความร่วมมือดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงการใช้งานหุ่นยนต์ และเทคโนโลยีคลาวด์ที่มีความสำคัญมาช่วยในการต่อสู้กับการตัดไม้ทำลายป่า
ที่มาข้อมูล: designboom, newatlas, rte, futurism
ที่มาภาพ: abb
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech