นายประชา คุณธรรมดี อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ขณะนี้มีสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จำกัด ซึ่งเป็นอดีตอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จำนวนหนึ่งร้องเรียนผ่านตนถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจากการบริหารงานของคณะกรรมการดำเนินการ สหกรณ์ออมทรัพย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จำกัด (สอมธ.) ในหลายประเด็น ตั้งแต่ปี 2563 2564 และ 2565 เช่น ซุกหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ไม่มีการรายงานคณะกรรมการดำเนินการ ปลอมแปลงเอกสารราชการ และซุกบัญชีเงินฝาก
นายประชา กล่าวว่า สหกรณ์ออมทรัพย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จำกัด ในปี 2565 มีสมาชิกประมาณ 10,000 คน มีทุนดำเนินการกว่า 35,000 ล้านบาท โดยที่ทุนดำเนินการเป็นเงินรับฝากกว่าร้อยละ 49 ทุนเรือนหุ้นและทุนสำรองประมาณร้อยละ 25 และเงินกู้ยืมประมาณร้อยละ 26 ทั้งนี้สหกรณ์มีหน้าที่รับฝากเงิน ปล่อยกู้และลงทุน จากรายงานประจำปี 2565 พบว่า มีการกระทำที่ส่อไปทางผิดกฎหมายครบทุกองค์ประกอบของหน้าที่ดังกล่าว
"ปัญหาแรก คือ สหกรณ์ปล่อยให้มีบุคคลภายนอกนำเงินมาฝากไว้ที่สหกรณ์ เพราะนอกจากจะได้ดอกเบี้ยสูงแล้วอาจเข้าข่ายการเลี่ยงภาษีด้วย นอกจากนั้น พบว่าการปล่อยกู้ของสหกรณ์ฯ การไม่ควบคุมและติดตามเงินกู้ทำให้มีหนี้เสียหรือหนี้ NPL มีการนำเงินไปลงทุนในหุ้นสามัญที่ผิดกฎหมายสหกรณ์ นำเงินไปลงทุนกับสหกรณ์ฯ อื่นที่เป็นพรรคพวกโดยให้ดอกเบี้ยต่ำมากและใช้มติเวียน ทั้งที่เป็นการปล่อยกู้กว่า 680 ล้านบาท ซึ่งระเบียบนายทะเบียนมีข้อกำหนดให้คณะกรรมการดำเนินการจะต้องประชุมหารือการปล่อยกู้จำนวนนั้น ต้องสอดส่องระมัดระวังเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายแก่สหกรณ์” อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ กล่าว
นายประชา กล่าวอีกว่า ในปี 2563 มีการตรวจพบหนี้เสียจากปัญหาการปล่อยกู้สมาชิกทั้งเงินกู้สามัญ และเงินกู้พิเศษ จำนวน 205 สัญญา มีผู้เสียหายจำนวนมาก มูลค่าความเสียหายกว่า 300 ล้านบาท ซึ่งมูลค่าหนี้เสียเหล่านี้ก่อนปี 2563 ไม่เคยมีการรายงานให้คณะกรรมการดำเนินการของสหกรณ์และสมาชิกสหกรณ์รับทราบเลย แต่เมื่อเกิดปัญหาขึ้น สมาชิกกลับต้องเป็นผู้รับภาระ แม้คณะกรรมการฯ ในขณะนั้นได้พยายามแก้ปัญหาด้วยการตั้งสำรองไว้ 35 ล้านบาท แล้วก็ตาม
นายประชา กล่าวอีกว่าต่อมาปี 2564 คณะกรรมการดำเนินการในขณะนั้นได้ตรวจสอบ พบว่าสหกรณ์ฯ มีการปล่อยกู้เพื่อซื้อที่ดินและอาคารโดยอาจมีการปลอมแปลงหนังสือราชการ 12 ราย ขยายผลพบเพิ่มเป็น 20 ราย คดีนี้มีการแจ้งความกับตำรวจ สน.ชนะสงคราม ในปี 2564
นอกจากนี้ยังพบว่า อดีตกรรมการดำเนินการของสหกรณ์จำนวนหนึ่งพัวพันกับกรณีการนำที่ดินเปล่าราคาต่ำมาเป็นหลักประกันเงินกู้โดยใช้เอกสารราชการที่ไม่ถูกต้องมาประกอบการขอสินเชื่อเพื่อให้ได้จำนวนเงินกู้ที่สูงขึ้น เอกสารของผู้กู้หลายรายไม่สามารถตรวจสอบราคาประเมินจากกรมที่ดิน หรือกรมธนารักษ์ได้ แต่สหกรณ์กลับไม่ตรวจสอบราคาประเมินที่ดินแต่ใช้หนังสือดังกล่าวมาประกอบกับแผนก่อสร้างอาคาร เพื่อให้สมาชิกใช้เป็นหลักประกันในการจำนองขอสินเชื่อ ซึ่งสมาชิกก็ไม่เคยเห็นเอกสารดังกล่าวมาก่อน
นายประชา กล่าวต่อว่า การตรวจสอบยังพบปัญหาที่คาดว่าจะมีการปลอมแปลงเอกสารหนังสือรับรองราคาที่ดินอย่างเป็นขบวนการ ประมาณ 100 ฉบับ ซึ่งทั้งหมดเกี่ยวข้องกับกรณีหลักประกันบกพร่อง มีการคำนวณว่ามีส่วนต่างของหลักประกันกับเงินกู้ที่ปล่อยออกไปประมาณ 200 ล้านบาท โดยมีอดีตกรรมการดำเนินการสหกรณ์ฯ บางราย และอาจมีเจ้าหน้าที่เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย ปัญหาดังกล่าวทางนายทะเบียนฯ และผู้ตรวจสอบกิจการตรวจสอบพบแล้ว แต่สหกรณ์ฯ ยังไม่ได้ดำเนินการแก้ไขตามขั้นตอนทางกฎหมายสหกรณ์
นอกจากนั้น ยังพบกรณีการสร้างบ้านในแปลงที่ไม่ได้มีการจำนองกับสหกรณ์ สหกรณ์จ่ายเงินครบแต่ได้ที่ดินเปล่าที่ไม่มีบ้าน และผู้กู้รายนี้ก็หนีไปเรียบร้อยแล้วหลังจากเกิดเรื่องหนังสือรับรองราคาที่ไม่ตรงกับฐานข้อมูลของกรมธนารักษ์ นั่นคือ หลักประกันบกพร่องและกลายเป็นหนี้เสียโดยที่มีการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่เกิดขึ้นในหลายส่วน
ปี 2565 มีการขยายผลสอบสวน เรื่องการปลอมแปลงเอกสารโดยผู้ตรวจสอบกิจการ ซึ่งผู้ตรวจสอบกิจการพบว่า มีการใช้หนังสือรับรองราคาประเมินที่อาจไม่ตรงตามหลักฐานราชการ จำนวน 128 ครั้ง และพบว่า ราคาประเมินตามหนังสือรับรองดังกล่าวที่มายื่นกู้ มีมูลค่าสูงกว่า ราคาประเมินจากเว็บไซต์ของกรมธนารักษ์ จำนวน 135.52 ล้านบาท
นอกจากนั้น อดีตอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์จำนวนหนึ่งให้ข้อมูลว่า ในปีเดียวกัน (2565) พบว่า คณะอนุกรรมการลงทุน และคณะกรรมการดำเนินการฯ อนุมัติให้นำเงินสหกรณ์ไปซื้อหุ้นบริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก (โออาร์) และบริษัท ปตท.สผ. ซึ่งผิดกฎหมายสหกรณ์และประกาศ คพช. ที่ระบุห้ามลงทุนในตราสารทุนหรือหุ้นสามัญที่ไม่ใช่เป็นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายสหกรณ์
แม้ปัจจุบันสหกรณ์ฯ จะอ้างว่ายังไม่ได้ขายหุ้นโออาร์ และ ปตท. สผ. ดังนั้น จึงยังไม่ขาดทุน แต่สหกรณ์ยอมรับว่า ดำเนินการไม่เป็นไปตามกฎหมายสหกรณ์จริง แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับสมาชิกเกิดขึ้นแล้ว คือ ดอกเบี้ยที่จะต้องจ่ายเงินกู้ยืมที่นำมาซื้อหุ้นดังกล่าวกว่า 357 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565) และขณะนี้มีความเสียหายเกิดขึ้นแล้ว
นายประชา กล่าวว่า หากประเมินความเสียหายทั้งหมดพบว่ามีมูลค่าประมาณ 300 - 400 ล้านบาท แม้ผู้เกี่ยวข้องจะอ้างว่าเป็นความเสียหายทางบัญชี แต่ปัญหาคือ มีการทำผิดกฎหมายเกิดขึ้นโดยที่สมาชิกต้องเป็นผู้รับผิดชอบความเสียหายทั้งหมดผ่านสิ่งที่เรียกว่า ค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ หรือ หนี้สูญ ทั้งที่บางกรณีเป็นความผิดในหน้าที่ บางกรณีเป็นการกระทำทุจริตของผู้ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารสหกรณ์ และหากดูบัญชีย้อนหลังไป 3 ปี พบว่า ค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญจะสูงมาก รวมถึงการลงทุนในหุ้นสามัญที่ผิดกฎหมาย ทำให้สมาชิกทุกคนต้องรับสภาพความเสียหายไปด้วยทั้งที่คนที่มีหน้าที่และเกี่ยวข้องกับการก่อความเสียหายยังลอยนวล