ท่ามกลางข้อวิตกกังวล หลัง "บองบอง มาร์กอส" หรือ เฟอร์ดินานด์ โรมูอัลเดซ มาร์กอส จูเนียร์ ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ในครั้งนี้ว่า จะนำพาประชาชนและประเทศไปในทิศทางใด
โดยเฉพาะการเผชิญหน้าวิกฤติเศรษฐกิจ และการแก้ไขปัญหาปากท้องประชาชน ซึ่งถือเป็นเรื่องเร่งด่วน และเศรษฐกิจภายในประเทศราคาสินค้าที่พุ่งขึ้นสูง ผลผลิตทางการเกษตรที่น้อยลง มีราคาตกต่ำ ซึ่งระยะยาวอาจส่งผลกระทบต่อการปกครอง
ปัจจัยดังกล่าวจะทำให้คนลุกขึ้นมาประท้วงเหมือนอดีตหรือไม่ และอนาคตของชาวฟิลิปปินส์ในเงื้อมมือของ "บองบอง" ลูกชายมาร์กอสจะเป็นเช่นไร
เลิกเผด็จการใช้นโยบายเป็นมิตร
กวี จงกิจถาวร ผู้สื่อข่าวอาวุโส ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านต่างประเทศ วิเคราะห์ว่า แม้หลายคนจะกังวลว่า การที่บองบองขึ้นมาปกครองประเทศ จะทำให้ส่งผลกระทบต่อระบอบประชาธิปไตย ความมีประชาธิปไตยในประเทศจะลดลง เนื่องจากเฟอร์ดินาน มาร์กอส บิดาของเขา ในอดีตเป็นเผด็จการที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งของโลก แต่เชื่อว่าบองบองคงไม่ทำเช่นนั้น
ดังจะเห็นจากนโยบายต่างๆ ของพรรคสมาพันธ์แห่งฟิลิปปินส์ ที่ไม่ได้ดำเนินตามรอยของรัฐบาล โรดรีโก ดูเตอร์เต หรือแม้แต่นโยบายด้านสื่อ ถึงแม้ว่าเสรีภาพสื่อของฟิลิปปินส์ในเอเชียอาคเนย์ก็ยังมีมากอยู่ แต่เรื่องการให้ข่าวไม่ค่อยเกิดขึ้น นักข่าวฟิลิปปินส์มองว่า บองบองไม่ค่อยให้ข่าวกับนักข่าวที่ตนไม่รู้จัก หรือไม่ได้เป็นพวกของตน
ในยุคของ ปธน.ดูเตอร์เต มีปัญหาความแตกแยกของสังคมมาก โดยเฉพาะจากนโยบายปราบยาเสพติด ที่ค่อนข้างจะมีความรุนแรง แต่บองบองไม่ได้ให้ความรู้สึกในลักษณะนั้นต่อประชาชน เขามีความเป็นมิตรมากกว่า
ส่วนปัญหาด้านอื่นๆ นักข่าวอาวุโสมองว่า มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ฟิลลิปปินส์ต้องรื้อฟื้นศักยภาพในอดีต ในการเป็นประเทศที่สามารถชักนำการลงทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนจากประเทศที่นอกเหนือจากจีน ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความชัดเจน
กวี บอกว่า ในช่วงแรกๆ มีการคาดคะเนว่า ยุคที่บองบองเป็นประธานาธิบดีบทบาทและนโยบายที่ฟิลิปปินส์มีต่อจีน จะมีความต่อเนื่องจากรัฐบาลชุดก่อน ซึ่งปรากฏว่าในช่วงต้น นโยบายค่อนข้างสนับสนุนการลงทุนจากจีน แต่ระยะหลังช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา จะเห็นว่า ทางรัฐบาลฟิลิปปินส์มีนโยบายเพิ่มสัมพันธภาพกับประเทศในโลกตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐอเมริกา ทั้งด้านความมั่นคง และการลงทุน
ปัจจุบัน ฟิลลิปปินส์ก็มีความพยายามที่จะชักจูงให้นักธุรกิจจากเกาหลี หรือประเทศอื่นๆ ที่ไม่ใช่จีน เข้ามาลงทุน และขยายความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจ
ชวนแรงงานคืนถิ่นแก้ปัญหาเศรษฐกิจ
นักวิเคราะห์ข่าวอาวุโส ยังกล่าวอีกว่า ประเด็นปัญหาสำคัญของฟิลิปปินส์ตลอดเวลาที่ผ่านมา ยังคงเป็นเรื่องของปากท้อง และการชักจูงคนฟิลิปปินส์ที่ทำงานอยู่นอกประเทศทั่วโลกกว่า 11 ล้านคน ให้กลับมาในประเทศ
โดยเฉพาะผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านด้านไอทีในประเทศ ซึ่งฟิลิปปินส์ต้องการมาก หากคนเหล่านี้กลับเข้ามาทำงานในประเทศจะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นได้ อย่างที่บองบองเล็งเห็นและตั้งใจไว้
อย่างไรก็ตาม นอกจากบองบอง ลูกชายอดีต ปธน.มาร์กอส ได้เป็น ปธน. คนใหม่แล้ว ซารา ดูเตอร์เต-คาร์ปิโอ ลูกสาวของ โรดริโก ดูเตร์เต อดีต ปธน. คนที่แล้วของฟิลิปปินส์ ยังได้เป็นรอง ปธน. ที่ชาวฟิลิปปินส์เลือกเข้ามาอีกด้วย
กวี กล่าวว่า ซาราได้เป็นรอง ปธน. ส่วนหนึ่งมาจากบุญบารมีของพ่อ เมื่อทั้งบองบองและซาราทำงานร่วมกัน ก็เป็นเหมือนการเอากระเเสประวัติศาสตร์ และกระแสโซเชียลมีเดียที่ต่อเนื่องยาวนานมาเชื่อมต่อ หรือ นำสิ่งที่ถูกส่งเสริมด้วยความรวดเร็วฉับพลันของโซเชียลมารวมกัน
กระเเสสนับสนุน บองบองและซารามาแรงมาก เมื่ออยู่ด้วยกัน จะทำให้เกิดการสมประโยชน์ทางการเมืองหรือไม่ เป็นประเด็นที่น่าสนใจมาก
กวี กล่าวว่าคนที่เลือกบองบอง เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่รู้จักครอบครัว มาร์กอส รู้ทั้งสิ่งที่ดีและไม่ดี ส่วนคนรุ่นใหม่เลือกเขา เพราะเห็นว่าอาจเป็นตัวเลือกใหม่ ที่ต่างจากดูเตอร์เต พวกเขาต้องการเปลี่ยนแปลง ขณะเดียวกันคนที่นิยมดูเตอร์เตก็มีไม่น้อย จึงเลือกซารา ลูกสาวให้เป็นรอง ปธน.
สื่อโซเชียลเสี่ยงติดกับดักการเมือง
นักวิเคราะห์ข่าวอาวุโส ตั้งข้อสังเกตว่า ในฟิลลิปปินส์โซเชียลมีเดียเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการใช้เปลี่ยนกระเเสความคิด กระตุ้นให้เกิดความรู้สึก โดยเฉพาะการใช้นำเสนอภาพลักษณ์ของพรรคและตัวบุคคลที่เสมือนจริง รวมทั้งภาพลักษณ์ที่พวกเขาเป็นอยู่จริงในสังคมก็ตาม
สิ่งที่โซเชียลทำได้ แต่สิ่งอื่นทำไม่ได้คือ การตอกย้ำอารมณ์ชอบ-ไม่ชอบ ให้กับคนที่ใช้มันได้ทุกเวลา ซึ่งขึ้นอยู่กับอารมณ์ของผู้คนในช่วงนั้น ว่ากระแสอะไรที่มาแรง และจะใช้โซเชียลไปตอกย้ำความรู้สึกแบบไหนของกลุ่มที่ยังอยู่
กวี บอกว่า หากใช้สื่อโซเชียลตอกย้ำทุกวัน ความรู้สึกเหล่านั้นก็จะมีความคงทน (Durability) เช่น ตนเเป็นนักเขียนข่าวธรรมดา ตัวข่าวก็จะมีความคงทนอยู่ 24 ชั่วโมง แต่ในโซเชียลมีเดียตัวข่าวอาจมีความคงทนเดี๋ยวเดียว แต่เป็นเดี๋ยวเดียวที่หลายครั้ง
การตอกย้ำหลายๆ ครั้ง ต่อๆ กันเป็นรูปแบบ หรือระเบียบของการใช้ข้อมูลในการตอกย้ำไปยังผู้รับสื่อ ทำให้พวกเขาเกิดอารมณ์ ต่อสิ่งที่ชอบ หรือไม่ชอบ
และการใช้สื่อโซเชียลตอกย้ำไม่ต่างจากการใช้พวกอินฟลูเอนเซอร์หรือกลุ่มคนที่มีอิทธิพลต่อความคิดของกลุ่ม เป้าหมายในการเสนอขายสินค้า บทบาทของอินฟลูเอนเซอร์บนโลกโซเชียลสำคัญมาก นักการเมืองและพรรคการเมืองจึงพยายามนำเสนอโยบายต่างๆ ผ่านบนแพลตฟอร์มของเขา เพราะรู้ว่ามีกลุ่มคนบนโซเชียลที่สนใจและต้องการรับรู้เนื้อหาอยู่จำนวนมาก
กวี มองว่า การใช้โซเชียลมีเดียมากไป อาจทำให้มีโอกาสติดกับดักทางการเมืองได้ ก็ขึ้นอยู่กับผู้ใช้ เพราะผู้ใช้บนโซเชียลมีเดีย บางคนก็เลือกดูแค่ข่าวที่ตัวเองชอบ หรือรู้สึกเชื่อมโยงกับตน ที่เรียกว่า (Echo chambers social media) ซึ่งน้อยคนที่ใช้โซเชียลมีเดียเพื่อดูข่าวทุกมิติ และฟังข่าวในทุกๆ ด้าน ฉะนั้นคนที่ใช้โซเชียลอย่างระมัดระวัง ก็จะไม่หลงกลข้อความที่คอยตอกย้ำซ้ำแล้วซ้ำเล่า
กวี ยังวิเคราะห์อีกว่า นักการเมืองที่ใช้โซเชียลมีเดียเก่งๆ มีโอกาสที่จะพลาด แต่ปกตินักการเมืองจะมีเกราะกำบัง อีกชั้นหนึ่งก่อนส่งข้อความ คือ แอดมินคอยดูแล แต่ปกติผู้นำหรือนักการเมืองที่มีชื่อเสียง ส่วนมากจะใช้โซเชียลมีเดียในบางกรณีที่มีข่าวสำคัญเท่านั้น
พวกเขาอาจใช้บุคคลหรือระบบตอบกลับข้อความอัตโนมัติเข้าใช้ และไม่ตอบข้อความด้วยตัวเอง เช่น ลี เซียนลุง (หลี เสี่ยนหลุง) นายกรัฐมนตรีประเทศสิงคโปร์ จะโพสต์ข่าวสำคัญๆ ที่ตัวเองได้ทำเท่านั้น ไม่ได้โพสต์ข่าวด้วยตัวเองทันทีทันใด หรือวันต่อวัน
ต่างจาก โดนัลด์ ทรัมป์ ที่มีการใช้โซเชียลมีเดียในช่วงหาเสียง หรือตอนที่ยังดำรงตำแหน่ง ปธน.สหรัฐฯ ซึ่งขึ้นอยู่กับลักษณะนิสัยของผู้นำแต่ละคนด้วย ขณะที่ไทยมักใช้ตัวแทนหรือแอดมินทำหน้าที่แทนมากกว่า
จึงน่าจับตาว่า สถานการณ์การเมืองภายในฟิลิปปินส์หลังจากนี้จะเป็นอย่างไร
พบกับสารคดีเชิงข่าว "BBM มาร์กอสคืนบัลลังก์ ภารกิจ 36 ปี ยึดเก้าอี้ผู้นำ" ที่นี่เร็วๆ นี้
อ่านข่าวเพิ่ม :
เบื้องหลังเหนือคู่แข่งการเมือง "ฟิลิปปินส์-ไทย"
ติดตามสารคดีเชิงข่าว “ BBM มาร์กอสคืนบัลลังก์ ภารกิจ 36 ปียึดเก้าอี้ผู้นำ ”
ฟิลิปปินส์ 101 “การกลับมาของตระกูลมาร์กอส”