ในงานประชุมนักพัฒนาระดับโลก (Worldwide Developer Conference) ของแอปเปิลเมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2023 แอปเปิลได้เปิดตัวแว่นตา AR ของตัวเองในชื่อ Apple Vision Pro ซึ่งหลายคนอาจนำผลิตภัณฑ์ชิ้นนี้ไปเทียบกับผลิตภัณฑ์แนวแว่นตาโลกเสมือนจริงของค่ายอื่น ๆ เช่น โฮโลเลนส์ (Hololens) ของไมโครซอฟท์ (Microsoft) หรือ เมตา เควสต์ (Meta Quest) ของเมตา (Meta) อย่างไรก็ตาม ความสนใจจำนวนหนึ่งพุ่งเป้าไปที่การนิยามผลิตภัณฑ์ชิ้นใหม่นี้ ที่แอปเปิลตัดสินใจเรียกมันว่า Spatial Computer
นี่จัดว่าเป็นครั้งแรกที่มีการนำคำว่า Spatial Computer มาใช้เรียกผลิตภัณฑ์ที่มีการวางตลาดจริง ๆ หลังจากที่ก่อนหน้านี้คำดังกล่าวปรากฏบนงานวิจัยด้านปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับคอมพิวเตอร์ (Human-Computer Interaction) ซึ่งหมายถึงการนำเอาคอมพิวเตอร์ มาวางซ้อนทับบนโลกแห่งความเป็นจริง และมีการพูดถึงคอมพิวเตอร์ในลักษณะดังกล่าวมาตั้งแต่ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1980
แล้วเหตุใดแอปเปิลจึงเลือกใช้คำใหม่ที่ไม่เคยมีใครใช้มาก่อน
แอปเปิล ภายใต้ยุคการนำของสตีฟ จ็อบส์ (Steve Jobs) ขึ้นชื่อได้ว่าเป็นบริษัทนวัตกรรมที่มักจะนำเอาส่วนติดต่อผู้ใช้งานใหม่ ๆ มาใช้ในผลิตภัณฑ์ของตน เช่น การนำเอาส่วนติดต่อผู้ใช้งานแบบกราฟิก (Graphical User Interface) และเมาส์ (Mouse) มาใช้ในคอมพิวเตอร์ลิซาและแมคอินทอช ที่เปิดตัวในปี ค.ศ.1984 ซึ่งในตอนนั้นการสั่งการคอมพิวเตอร์ยังต้องกระทำผ่านการพิมพ์คำสั่งลงบนหน้าจอที่มีแต่ตัวอักษร การนำเอาวงล้อคลิก (Click Wheel) มาใช้กับไอพอด (iPod) ในปี ค.ศ. 2001 หรือแม้กระทั่งการเปิดตัวไอโฟน (iPhone) และไอแพด (iPad) อุปกรณ์ส่วนบุคคลที่มีเพียงแต่หน้าจอและควบคุมผ่านการสัมผัสหลายจุด (multi-touch) ในปี ค.ศ. 2007 และ 2010 ตามลำดับ และแม้ว่าสตีฟ จ็อบส์ จะส่งไม้ต่อให้กับ ทิม คุก (Tim Cook) มาดูแลแอปเปิลต่อในปี ค.ศ. 2011 แต่แอปเปิลก็ยังคงใช้ปรัชญาในการออกแบบผลิตภัณฑ์ในลักษณะเดิม ที่เห็นได้ชัดคือการเปิดตัว แอปเปิลวอตช์ (Apple Watch) ในปี ค.ศ. 2014 และเรียกผลิตภัณฑ์ดังกล่าวว่า อุปกรณ์ที่สวมใส่ได้ (Wearable Device)
เราอาจจะกล่าวได้ว่า แม้แอปเปิลเองจะไม่ได้เป็นผู้พัฒนาส่วนติดต่อผู้ใช้งานแบบกราฟิก เมาส์ เทคโนโลยีการสัมผัสหน้าจอ หรืออุปกรณ์ที่สวมใส่ได้ แต่แอปเปิลกลับเป็นผู้ที่ผลักดันให้งานวิจัยด้านปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับคอมพิวเตอร์นี้ สามารถกลายมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างยอดขายถล่มทลายในตลาดได้
เช่นนี้แล้วเราจึงอาจไม่น่าแปลกใจมากนักที่แอปเปิลเลือกที่จะผสมผสานนวัตกรรมใหม่ และการเชื่อมต่อกับผู้ใช้งานรูปแบบใหม่ เข้ากับตัวผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างนิยามใหม่ให้กับเทคโนโลยี การเลือกใช้ Spatial Computer ของแอปเปิลจึงอาจมองได้ว่าเป็นการตอกย้ำจุดยืนของการสร้างนิยามใหม่ให้กับผลิตภัณฑ์ของตนเอง
นักวิเคราะห์ด้านเทคโนโลยี สตีเฟน เลวี (Steven Levy) หนึ่งในผู้โชคดีไม่กี่คนในโลกที่มีโอกาสได้ลองใช้ Apple Vision Pro ได้เขียนบทความลงในนิตยสาร Wired วิเคราะห์ไว้ว่า เทคโนโลยีใน Apple Vision Pro มีจุดร่วมกับเทคโนโลยีด้านปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับคอมพิวเตอร์ที่ได้รับการพัฒนามาตั้งแต่ในยุคคริสต์ทศวรรษ 1960 โดยศูนย์วิจัยพาโล อัลโต (Palo Alto Research Center) ของซีร็อกซ์ (Xerox) ซึ่ง อลัน เคย์ (Alan Kay) นักวิทยาการคอมพิวเตอร์ได้เสนอแนวคิดด้านการผสมผสานระหว่างข้อมูลดิจิทัล ให้มาซ้อนทับกับโลกแห่งความเป็นจริง เพียงแต่ว่าในยุคนั้นเทคโนโลยีด้านคอมพิวเตอร์ยังไม่สามารถทำให้เกิดการซ้อนทับที่ซับซ้อนได้ จึงเกิดเป็นเทคโนโลยีการแสดงภาพในลักษณะ 2 มิติบนหน้าจอเท่านั้น ในขณะที่งานวิจัยจากนักวิจัยอีกกลุ่มหนึ่งจากอีกฟากของสหรัฐฯ อย่างเอ็มไอทีมีเดียแล็บ (MIT Media Lab) ในเมืองเคมบริดจ์ ซึ่งนำโดยนิโคลาส เนโกรปอนเต (Nicholas Negroponte) ที่เสนอไอเดียเรื่องการควบคุมคอมพิวเตอร์ด้วยการสัมผัสวัตถุในโลกดิจิทัลที่อยู่บนหน้าจอ ก็อาจจะนับว่าทรงอิทธิพลและเป็นรากฐานของปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับคอมพิวเตอร์ยุคใหม่
ผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ออกแบบโดยปรัชญาเดิม
แม้เราอาจจะมองว่า Apple Vision Pro เป็นผลิตภัณฑ์แห่งอนาคต (ที่มีราคาสูงถึง 3,500 ดอลลาร์สหรัฐ) แต่เมื่อมองย้อนกลับไปถึงรากฐานแล้ว เราจะพบว่ามันสะท้อนวิวัฒนาการของการออกแบบปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับคอมพิวเตอร์ ที่เทคโนโลยีในปัจจุบันช่วยทำให้แนวคิดที่ครั้งหนึ่งเคยอยู่บนกระดาษสามารถเกิดขึ้นเป็นผลิตภัณฑ์ในชีวิตประจำวันได้จริง
และแม้ Spatial Computer จะไม่ใช่คำใหม่ หรือไม่ได้เป็นบัซเวิร์ด (Buzzword เป็นการเรียกคำที่มักจะถูกนำมาพูดตามกระแสของเทคโนโลยี โดยที่คำว่า “บัซ” นั้นมาจากเสียงหึ่ง ๆ ของผึ้ง) เหมือนคำว่าปัญญาประดิษฐ์ (AI) หรือข้อมูลมหัต (Big Data) แต่มันกลับเป็นคำที่ทรงพลังและมีประวัติศาสตร์ย้อนกลับไปนานกว่าครึ่งศตวรรษ ในช่วงที่มนุษย์เพิ่งเริ่มรู้จักกับคอมพิวเตอร์ และเพ้อฝันถึงปฏิสัมพันธ์ใหม่ ๆ ระหว่างเรากับพวกมัน
ที่มาข้อมูล: Apple
ที่มาภาพ: Apple
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech