วันที่ 14 ก.ค.2566 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. พร้อมด้วย นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม. และ นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผอ.สำนักการโยธา เปิดเผยภายหลังเชิญตัวแทนบริษัท ผู้รับเหมา มาประชุมกำหนดมาตรการความปลอดภัยการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ (เมกโปรเจกท์) ในพื้นที่ถนนสาธารณะกรุงเทพมหานคร ที่เป็นคู่สัญญากับ สำนักการโยธา มีทั้งงานก่อสร้างถนน, สะพาน, ทางเท้า อาคารต่างๆ ซึ่ง กทม.เชิญไปจำนวน 42 ราย แต่ขาด 4 รายที่ไม่ได้มา
ผู้ว่าฯ กทม. ระบุว่า แม้ กทม. มองว่า ผู้รับเหมาเป็นเพื่อนร่วมงาน เพราะเป็นหนึ่งในผู้สร้างความเจริญให้กับกรุงเทพมหานคร แต่ถ้างานก่อสร้างเกิดปัญหา หากผู้รับเหมาทำไม่ดี ประชาชนจะด่าผู้ว่าฯ ก่อนเป็นคนแรกมีปัญหาอะไร
อ่านข่าว : สะพานถล่ม ย่านลาดกระบัง เบื้องต้น บาดเจ็บ 7 ตาย 1
แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่และจากสถานการณ์ล่าสุดที่เกิดเหตุทางยกระดับพังเส้น อ่อนนุช - ลาดกระบังพังถล่ม ซึ่งเป็นโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ มูลค่ากว่า 1,600 ล้านบาท ส่งผลให้ประชาชนเกิดความไม่ไว้วางใจ ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ ที่ กทม. และ ผู้รับเหมา ร่วมใจกันสร้างความไว้วางใจให้กลับคืนมา โดย กำหนดมาตรการ 7 เรื่องนี้ ได้แก่
1. ขอให้ทุกทีมกลับไปทบทวนมาตรการความปลอดภัยในโครงการของตัวเอง ทั้ง ผู้ควบคุมงาน, ผู้รับเหมา เพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีช่องว่าง หรือจุดโหว่ต่างๆ โดยเน้นเรื่องความปลอดภัย ทั้งความปลอดภัยในไซต์งานการก่อสร้าง และความปลอดภัยของผู้สัญจร
2. เรื่องคุณภาพชีวิตสิ่งแวดล้อม ทั้งการควบคุมฝุ่น, การควบคุมปูน และวัสดุก่อสร้าง เศษชิ้นส่วน ของตกหล่น โดย กทม. จะใช้ทราฟฟี่ฟองดูว์ เป็นตัวหาข้อบกพร่อง และแยกส่วนงานก่อสร้างขึ้นมาโดยเฉพาะให้ประชาชนแจ้งได้ข้อมูล
3. ด้านการจัดการจราจร ที่ต้องเร่งคืนพื้นที่ให้ประชาชนโดยเร็วที่สุด เพราะบางครั้งผู้รับเหมาเร่งแต่งานก่อสร้าง แต่ไม่คืนพื้นที่ให้ประชาชน รวมถึงการนำอุปกรณ์มากอง มาจอดไว้ทับเลนจราจร เอารถมาจอดตามไซด์งาน ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำไม่ได้ ต้องขยับ หรือ ไปจอดที่อื่นที่ไม่กินพื้นที่การสัญจร
4. ด้านการระบายน้ำ ที่มีผลกระทบจากไซต์งานก่อสร้าง
5.การใช้รถบรรทุกที่มีน้ำหนักเกินหรือมีควันพิษ ตอนนี้ นายวิศณุ รองผู้ว่าฯ ได้ติดตั้งระบบตรวจสอบน้ำหนักรถบรรทุกแล้วในหลายเส้นทาง
6. การจ้างผู้รับเหมาช่วง ตามหลัก กทม.ไม่อนุญาตให้มีการจ้างผู้รับเหมาช่วง แต่ในอนาคตหากจำเป็นต้องใช้ก็ต้องขออนุญาตให้เป็นไปตามสัญญา
7. จะมีการจัดทีมผู้บริหารลงไปตรวจสอบทุกไซต์งานก่อสร้างโดยสั่งการให้ทางผู้บริหารลงพื้นที่ตลอดโดยไม่ต้องบอกให้ลงไปตรวจว่ามาตรการต่างๆ ที่ทำไว้ เป็นตามที่ในสัญญาหรือไม่ หากละเลยต้องหยุดการก่อสร้างเพื่อเอาจริงเอาจังต่อเรื่องนี้
ปัจจุบันกรมบัญชีกลาง ไม่มีการขึ้นบัญชี แบล็กลิสต์ แต่เรื่องพวกนี้ ต่อไปนี้ ผมเตือนถึงผู้รับเหมาไว้เลย ว่า กทม. เอาจริง เราพยายามหาวิถีทาง เพื่อออกเป็นข้อบัญญัติ หรือระเบียบ ของ กทม. เพื่อให้เรามั่นใจได้ว่า ประชาชนจะมีคุณภาพชีวิต มีความปลอดภัย และมีประสิทธิภาพ สูงสุด
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม.
นายชัชชาติ กล่าวด้วยว่า สิ่งที่เรากังวลใน 3 เรื่อง และในอนาคต เราอาจจะนำออกมาเป็นเกณฑ์ ในการคัดเลือกผู้รับเหมาด้วย 3 ประเด็น คือ
1. เรื่องของอุบัติเหตุ ว่าผู้รับเหมาเคยก่อสร้างแล้วเกิดอุบัติเหตุสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินหรือไม่
2.ความล่าช้า ในการก่อสร้าง ที่ต้องไม่ดีเลย์เกิน 10%
3.คุณภาพการก่อสร้างไม่ดี เช่น ปล่อย PM 2.5 หรือทำเศษวัสดุตกหล่น บรรทุกเกินน้ำหนัก ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องกำหนดเพิ่มเติมขณะนี้ อยู่ระหว่างให้ฝ่ายกฎหมายศึกษาว่าจะเพิ่มเข้าไปเป็นข้อกำหนดเพิ่มใน TOR ได้หรือไม่
อนาคตทางกรุงเทพมหานคร อาจจะมีมาตรการแบล็กลิสต์ ผู้รับเหมาแบบนี้ แต่ทั้งนี้เราทำเกินกว่ากฎหมายไม่ได้เราเป็นตัวแทนประชาชน เราจึงต้องมั่นใจได้ว่า กทม. ต้องได้ผู้รับเหมาที่มีคุณภาพมาทำงานตรงนี้ เพราะจะได้สร้างความเป็นธรรมให้กับประชาชน ขอเตือนถึงผู้รับเหมาว่า ในอนาคตอาจจะมีข้อกำหนดนี้ หากคุณกังวลคุณจะต้องทำให้ดีขึ้นตั้งแต่วันนี้ โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างศึกษาโดยฝ่ายกฎหมาย คาดว่าไม่เกิน 1 เดือนน่าจะศึกษาแล้วเสร็จ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
พิสูจน์ "กลิ่นปริศนา" ใต้ซากสะพานถล่ม-ผู้รับเหมาเมินพบ ตร.
วันที่ 5 กู้ซากสะพานถล่ม จนท.รอเข้าเคลียร์อีกรอบหลังได้ยินเสียงโทรศัพท์
ไทม์ไลน์ 18 ชั่วโมง สะพานถล่ม ย่านลาดกระบัง