หากก้าวไกลไปไม่ได้จริงๆ แล้วเพื่อไทยต้องพลิกเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล จะหาว่าเราปล้นอำนาจไม่ได้ เราต้องรอให้ก้าวไกลเป็นฝ่ายพูดก่อน
เสียงจากแกนนำเพื่อไทยที่ให้สัมภาษณ์ต่อบีบีซีไทยก่อนวันโหวตนายกฯ ครั้งที่ 2 (19 ก.ค.ที่ผ่านมา) ต่อมาช่วงเช้าวันนี้ (21 ก.ค.2566) ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล แถลงส่งไม้ต่อให้พรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาลแทน หลัง "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" ไม่สามารถถูกเสนอชื่อโหวตนายกฯ ได้ด้วยข้อบังคับที่ 41
พิธา ลิ้มเจริญรัตน์
โจทย์ใหญ่ของเพื่อไทยจึงเป็น "แคนดิเดตนายกฯ ของเพื่อไทยคนไหน ที่ก้าวไกลจะยกมือให้"
อ่าน : เพื่อไทยขอบคุณก้าวไกลเปิดทางนำตั้งรัฐบาล ไม่ตอบชง "เศรษฐา"
แพทองธาร ชินวัตร
ปัจจัยบวก
- "แพทองธาร" ได้รับแรงสนับสนุนจากทั้งแกนนำ และ สส. ของพรรคในฐานะ "ผู้นำรุ่นใหม่ของเพื่อไทย" แม้อุ๊งอิ๊งจะไม่ประสงค์นั่งเก้าอี้นายกฯ ตั้งแต่ต้น แต่การเข้ามาช่วยพรรคก็เรียกคะแนนนิยมในหมู่ "คนรุ่นใหม่" และ "คนรักทักษิณ" ได้
- "นิด้าโพล" สำรวจความคิดเห็นเมื่อ 16 ก.ค. หากพิธาไม่ได้รับเสียงสนับสนุนเพียงพอจากรัฐสภา เสียงสะท้อนจากประชาชนเห็นว่า "แพทองธาร" คือบุคคลที่สนับสนุนให้เป็นนายกฯ คนต่อไปมากที่สุด ด้วยผลโพลร้อยละ 38.55
แพทองธาร ชินวัตร
ปัจจัยลบ
- แม้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แต่เพื่อไทยก็แพ้การเลือกตั้ง ทำให้เส้นทางขึ้นสู่เก้าอี้นายกฯ แตกต่างและไม่สง่างาม
- กระแสความนิยมในตัวพิธา เรื่องความหวังกับการเมืองใหม่ และความคับแค้นต่อบรรดา สว. ที่ลงคะแนนสวนมติของประชาชน เป็น "เผือกร้อน" สำหรับเพื่อไทย โดยเฉพาะแรงกดดันไม่ให้ 2 พรรคแยกจากกัน
- ยังไม่แน่ใจว่า แพทองธาร จะฝ่าด่าน สว. ได้หรือไม่ ทั้งจากคุณสมบัติ "ลูกทักษิณ" และ "ระบอบต่อต้านทักษิณ" บางส่วนนั่งอยู่ในวุฒิสภา
- แม้อุ๊งอิ๊งจะยืนยันว่า "การเดินทางกลับไทยของคุณพ่อ ไม่เกี่ยวกับพรรคเพื่อไทย" แต่การที่ชินวัตรผู้ลูกนั่งบริหารประเทศ ขณะที่ชินวัตรผู้พ่อที่ "ต้องการกลับมาเลี้ยงหลาน" ต้องมารับโทษคดีอาญา ย่อมส่งผลต่อภาพลักษณ์และคำถามเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน
พลิกนโยบาย "เพื่อไทย" หลัง "ก้าวไกล" เปิดทางนำตั้งรัฐบาล
เศรษฐา ทวีสิน
ปัจจัยบวก
- แรงสนับสนุนจาก "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" ให้เข้ามาทำงานทางการเมือง เพราะเคยรับตำแหน่งที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจอย่างไม่เป็นทางการของพรรคเพื่อไทย ในยุคที่ยิ่งลักษณ์นั่งนายกฯ
- "นิด้าโพล" สำรวจความคิดเห็นเมื่อ 16 ก.ค. หากพิธาไม่ได้รับเสียงสนับสนุนเพียงพอจากรัฐสภา เสียงสะท้อนจากประชาชนเห็นว่า "เศรษฐา" คือบุคคลที่สนับสนุนให้เป็นนายกฯ อันดับที่ 2 ด้วยผลโพลร้อยละ 35.04
เศรษฐา ทวีสิน
ปัจจัยลบ
- หากจะเป็นนายกฯ เศรษฐายื่นเงื่อนไขว่า "ต้องไม่ทิ้งก้าวไกล" ทำให้เพื่อไทยหาเสียงสนับสนุนจาก สว. ได้ยาก
- คำพูดในอดีตกำลังสร้างเงื่อนไขในปัจจุบัน เมื่อ 21 เม.ย. เศรษฐาหาเสียง "ไม่เอา 2 ลุง" ตามกระแส "มีลุง ไม่มีเรา" ของก้าวไกล และยังปราศรัยพาดพิงพรรคภูมิใจไทยเมื่อ พ.ค. ว่า "เลือกภูมิใจไทยได้ลุงตู่" และ "พรรคที่เสนอกัญชาเสรี" จนมีคดีความฟ้องร้องกันฐานปราศรัยใส่ร้าย
- ประสบการณ์ทางการเมืองเพียง 4 เดือนครึ่ง สร้างคำถามจากทั้งคนในและคนนอกพรรค อาทิ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งคำถามว่า "เขาเก่งตรงไหน เขาทำอะไรมา เขาทำธุรกิจ และประเทศชาติไม่ใช่ธุรกิจ" เช่นเดียวกับ อนุทิน ชาญวีรกูล ที่โพสต์ถึงเศรษฐาเอาไว้ว่า "เป็นแคนดิเดตนายกฯ ไม่กี่วัน ทำให้พรรคเพื่อไทยมีทางเดินแคบลงทุกวัน"
ชัยเกษม นิติสิริ
ปัจจัยบวก
- "ไม่มีจุดให้ตำหนิติเตียนได้" ได้รับความไว้วางใจจากผู้มีอำนาจในเพื่อไทย เป็นคนไม่มีเงื่อนไข-ไม่ต่อรอง มีความสามารถทางกฎหมาย เน้นทำงานตามที่ได้รับมอบหมาย
- มีประสบการณ์ทางการเมือง เคยอยู่ในวงสถานการณ์ช่วงก่อนรัฐประหาร 2557
- มีความสัมพันธ์อันดีในวุฒิสภาหลายคน ทำให้มีโอกาสได้รับเสียงสนับสนุนจาก สว. มากขึ้น
ชัยเกษม นิติสิริ
ปัจจัยลบ
- ปัญหาสุขภาพตั้งแต่ช่วงรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง
- ชัยเกษมไม่ขอพูดถึงโอกาสในการได้รับการเสนอชื่อกลางรัฐสภาให้เป็นนายกฯ หลังมี สว. บางส่วนสนับสนุน และเอ่ยชื่อเขาออกมา บอกเพียงว่า ไม่ทราบทิศทางของพรรคและในเพื่อไทยก็มีแคนดิเดตนายกฯ หลายคน
ที่มา : บีบีซีไทย