ปัจจุบันอุปกรณ์กลุ่มสมาร์ทโฮม (Smart Home) เริ่มเป็นที่นิยมสำหรับผู้บริโภคทั่วไปมากขึ้น อุปกรณ์เหล่านี้อำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้งานในมิติต่าง ๆ เช่น หลอดไฟที่สามารถสั่งงานได้ผ่านแอปพลิเคชัน หุ่นยนต์ดูดฝุ่นอัจฉริยะ เครื่องซักผ้าที่แจ้งเตือนได้เมื่อทำงานเสร็จ หรือเซ็นเซอร์ตรวจจับการเคลื่อนไหวเพื่อสั่งการอุปกรณ์สมาร์ทโฮมตัวอื่น ๆ ภายในบ้าน อย่างไรก็ตามความท้าทายก็ได้เกิดขึ้น เมื่อผู้ผลิตอุปกรณ์แต่ละเจ้าต่างมีมาตรฐานของตัวเอง เช่น Smart Things ของซัมซุง ในขณะเดียวกันบริษัทเจ้าของแพลตฟอร์มระบบปฏิบัติการ เช่น แอปเปิล เจ้าของระบบปฏิบัติการไอโอเอส (iOS) หรือกูเกิลเจ้าของระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ (Android) ก็ต่างมีมาตรฐานของตัวเองเช่นกัน
สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นสร้างปัญหาให้กับผู้ใช้งาน ที่ทำให้จำเป็นต้องเลือกซื้อสินค้าสมาร์ทโฮมให้เหมาะกับแพลตฟอร์มที่ตนเองเลือกไว้แล้ว เช่น หากใช้งานอุปกรณ์ที่รองรับมาตรฐาน HomeKit ของแอปเปิล ก็จะต้องเลือกซื้ออุปกรณ์ที่รองรับมาตรฐานดังกล่าวให้ครบทั้งบ้าน เพื่อความลื่นไหลในการใช้งาน ไม่เช่นนั้นแล้ว ผู้ใช้อาจจะต้องมีแอปพลิเคชันแยกหลากหลายตัว และทำให้ประสบการณ์การใช้งานซับซ้อนขึ้นโดยไม่จำเป็น
MATTER จะเข้ามาแก้ปัญหาดังกล่าวได้อย่างไร ?
ในปี ค.ศ. 2019 ได้มีการประกาศมาตรฐานแมทเทอร์ขึ้นเป็นครั้งแรก อันเกิดจากความร่วมมือกันของบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ ได้แก่ แอปเปิล แอมะซอน กูเกิล ซัมซุง และกลุ่มพันธมิตรซิกบี (Zigbee) เพื่อสร้างมาตรฐานการเชื่อมต่ออุปกรณ์สมาร์ทโฮมแบบใหม่ ในตอนนั้นนับว่าเป็นข่าวใหญ่มาก เพราะแต่ละบริษัทล้วนแต่มีสภาพแวดล้อม (Ecosystem) ของตัวเองที่เหนียวแน่น ไม่มีใครเป็นรองใคร ในขณะที่กลุ่มบริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์สมาร์ทโฮมก็ต่างสนใจผลิตอุปกรณ์ที่รองรับมาตรฐานใหม่นี้
อย่างไรก็ตาม การสร้างมาตรฐานใหม่นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะนอกจากการต้องรื้อโครงสร้างทางซอฟต์แวร์เดิมที่มีอยู่แล้ว กลุ่มพันธมิตรนี้ยังต้องสร้างความนิยมให้กับมาตรฐานดังกล่าว รวมถึงเปิดให้ซอร์สโค้ด (Source Sode) บางส่วนเป็นแบบโอเพนซอร์ส เพื่อให้นักพัฒนาสามารถเข้าถึงและคุ้นเคยกับมาตรฐานดังกล่าว
ซอฟต์แวร์และแนวทางมาตรฐานแมทเทอร์นั้นถูกปล่อยออกมาอย่างเป็นทางการครั้งแรกในเดือนตุลาคม 2022 และผู้ผลิตอุปกรณ์ได้เริ่มนำมาตรฐานดังกล่าวมาใช้กับอุปกรณ์ของตัวเอง โดยที่ในช่วงกลางปี 2023 สินค้าสมาร์ทโฮมที่ใช้มาตรฐานแมทเทอร์ได้เริ่มถูกวางจำหน่ายในท้องตลาดแล้ว
ในขณะที่อุปกรณ์ในฝั่งแพลตฟอร์มก็เริ่มมีการอัปเดตเฟิร์มแวร์รุ่นใหม่ ให้รองรับมาตรฐานนี้ด้วยเช่นกัน ระบบปฏิบัติการไอโอเอส 17 จะเป็นระบบปฏิบัติการจากฝั่งแอปเปิลชุดแรกที่รองรับมาตรฐานแมทเทอร์ ในขณะที่อุปกรณ์อื่น ๆ ของแอปเปิล เช่น แอปเปิลทีวี (Apple TV) หรือโฮมพอด (Home Pod) ก็เริ่มทยอยอัปเดตบ้างแล้ว ส่วนอุปกรณ์อย่างกูเกิลโฮม (Google Home) และ แอมะซอนอเล็กซา (Amazon Alexa) ก็มีแผนจะได้รับการอัปเดตให้รองรับมาตรฐานแมทเทอร์เช่นเดียวกัน
แล้วการเลือกซื้ออุปกรณ์สมาร์ทโฮมในปี 2023 ควรรู้อะไร ?
ปัจจุบันสินค้ามาตรฐานแมทเทอร์อาจยังไม่ได้มีให้เลือกเยอะ และการเลือกซื้ออุปกรณ์สมาร์ทโฮมของผู้ใช้นั้นก็อาจไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมากกว่าเดิมทันทีทันใด ผู้ใช้งานจะยังคงต้องดูสัญลักษณ์ที่คุ้นเคยเช่น สัญลักษณ์ Apple HomeKit หรือ Amazon Alexa แต่ในอนาคตเมื่อแมทเทอร์เริ่มเป็นที่นิยม ผู้ใช้งานก็อาจสบายใจได้ว่าขอเพียงข้างกล่องสินค้าระบุว่ารองรับมาตรฐานแมทเทอร์ ก็จะซื้อมาใช้งานได้อย่างไร้กังวลว่าจะสามารถเชื่อมต่อและพูดคุยด้วยมาตรฐานเดียวกับอุปกรณ์อื่น ๆ ที่มีอยู่แล้วได้หรือไม่
ปัจจุบัน ผู้ผลิตสินค้าบางรายได้เริ่มพิมพ์สัญลักษณ์แมทเทอร์ไว้ที่ข้างกล่องเพื่อบอกว่าสินค้าชิ้นนี้รองรับมาตรฐานใหม่เป็นที่เรียบร้อย เช่น นาโนลีฟ (Nanoleaf) ผู้ผลิตหลอดไฟอัจฉริยะ ในขณะที่ฟิลลิปส์ (Phillips) เจ้าของเทคโนโลยีหลอดไฟอัจฉริยะ “ฟิลลิปส์ฮิว” (Phillip Hue) กลับเลื่อนการรองรับมาตรฐานแมทเทอร์ออกไปจากแผนเดิม ตามรายงานของเว็บไซต์ The Verge
คงปฏิเสธไม่ได้ว่าในปีนี้เราจะได้เห็นสินค้าที่รองรับแมทเทอร์เริ่มวางขายในร้านค้า รวมถึงในประเทศไทยเองก็ตาม แต่มาตรฐานนี้ก็ยังคงต้องถูกจับตามองถึงทิศทาง และเป้าหมายว่าจะประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด
ที่มาข้อมูล: theverge
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech