วันนี้ (27 ก.ค.2566) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า สถานการณ์โรคไข้เลือดออก ขณะนี้มีผู้ป่วยมากกว่า 40,000 คน เสียชีวิต 40 กว่าคน เป็นกลุ่มอายุ 15 ปีขึ้นไปมากกว่าเด็กเล็ก โดยพบว่าผู้เสียชีวิตประมาณ 10% มีการกินยาแอสไพริน หรือยาลดไข้แก้ปวดกลุ่มเอ็นเสด เช่น ไอบูโพรเฟน เป็นต้น ซึ่งทำให้เกล็ดเลือดทำงานผิดปกติ เพิ่มความเสี่ยงให้เลือดออกง่ายจนช็อกและเสียชีวิต
ดังนั้น หากมีไข้ คลื่นไส้อาเจียน ปวดจุกแน่นในท้อง ซึ่งเป็นอาการเริ่มต้นของโรคไข้เลือดออก ที่วินิจฉัยแยกจากโรคอื่นที่ได้ยาก เช่น โรคไข้หวัดใหญ่ หรือโรคฉี่หนู ขอให้ระมัดระวังไม่ซื้อยาเหล่านี้มารับประทาน
ทั้งนี้ ได้กำชับโรงพยาบาลและบุคลากรแล้วว่าหากผู้ป่วยมีไข้และยังไม่ทราบสาเหตุชัดเจน ให้หลีกเลี่ยงการจ่ายยากลุ่มเอ็นเสด และหากอาการยังไม่ดีขึ้นขอให้กลับไปพบแพทย์อีกครั้ง
อ่านข่าว : สธ.พบผู้ป่วย "ซิกา" แล้ว 110 คน ใน 20 จังหวัด - หญิงตั้งครรภ์ 6 คน
ประกาศพื้นที่ระบาด ให้แต่ละพื้นที่พิจารณา
นพ.โอภาส กล่าวว่า สำหรับการประกาศพื้นที่ระบาดโรคไข้เลือดออกหรือโรคอื่นใด หากพื้นที่เห็นว่าการระบาดมากจนทรัพยากรในจังหวัดหรือพื้นที่นั้นไม่เพียงพอรับสถานการณ์ เช่น ขาดงบประมาณ ขาดยา ขาดบุคลากร หรือจำเป็นต้องใช้งบประมาณพิเศษ หรือต้องมีการบูรณาการพิเศษ ก็ให้เสนอเรื่องถึงอธิบดีกรมควบคุมโรคพิจารณา โดยใช้กลไกคณะกรรมการวิชาการออกประกาศ ซึ่งสามารถประกาศระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ หรือทั้งจังหวัดก็ได้ เพื่อให้มีอำนาจในการดำเนินการควบคุมโรคมากขึ้น
รวมทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดสามารถใช้งบประมาณ ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ เนื่องจากโรคระบาดในคนถือเป็นสาธารณภัยรูปแบบหนึ่ง
ฉีดพ่นควันกำจัดยุงลาย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ครึ่งปี 66 พบผู้ป่วย "ไข้เลือดออก" ในไทยสะสมกว่า 27,000 คน
สิงคโปร์เพาะเลี้ยงยุงติดเชื้อเเบคทีเรียวูลบัคเคีย ลดแพร่เชื้อโรคไข้เลือดออก
เตือนปีนี้แนวโน้มป่วย "ไข้เลือดออก" และ "มาลาเรีย" สูงขึ้น