วันนี้ (31 ก.ค.2566) น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา ในฐานะที่ปรึกษาคณะทำงานยุทธศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "NuNa Silpa-archa" ว่า "วันนี้ได้รับความกรุณาจากคุณหมอเก่ง ๆ ทั้งหมอช้างและหมอสัตว์ป่าจากหลายหน่วย มาประชุม Zoom ร่วมกันเพื่อหาสาเหตุและแนวทางแก้ไขอาการของช้างป่า "น้องตุลา" ทั้งทางกายและทางใจ
น.ส.กัญจนา สรุปข้อมูลเบื้องต้นจากการหารือในที่ประชุม คาดว่า อาการไม่รับพี่เลี้ยงที่เคยรัก ไม่เกี่ยวกับเชื้อไวรัส อาจเพราะ "ตุลา" เปลี่ยนคนเลี้ยงบ่อย จึงระแวง ต่อต้าน แนวทางแก้ไขจะหาพี่เลี้ยงประจำ 2 คน หนึ่งในนั้นจะขอให้เป็นพี่เลี้ยงที่มีประสบการณ์ดูแลลูกช้างป่า "ทับเสลา" จากดอยผาเมือง จ.ลำปาง
นอกจากนี้ จะให้ยาแก้ปวดขากับลูกช้างทันที เพราะขาหน้าบวมทั้ง 2 ข้าง และสังเกตอาการว่า ตุลาจะล้มตัวนอนได้หรือไม่หากอาการปวดทุเลา และจะเริ่มให้กินหญ้าที่เป็นอาหารช้างจริง ๆ โดยทดลองปั่นให้กินก่อน พร้อมทั้งเจาะเลือดดูสุขภาพโดยรวมในสัปดาห์นี้
น.ส.กัญจนา เปิดเผยแนวทางการดูแลลูกช้างป่าตุลา ว่า จะขอเวลาให้สัตวแพทย์ โรงพยาบาลช้าง ลำปาง และโรงพยาบาลสัตว์กำแพงแสน มาช่วยประเมินที่ศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 2 - กระบกคู่ จ.ฉะเชิงเทรา โดยจะยิงเลเซอร์ที่ขาหน้าทั้ง 2 ข้าง สัปดาห์ละ 2 ครั้ง จากเดิมที่ยิงเฉพาะขาหลังขวาที่มีปัญหา รวมทั้งเริ่มใช้เครื่องตรวจวัดความแข็งแรงมวลกระดูก ซึ่งทีมสัตวแพทย์จะประชุมสื่อสารกันอย่างต่อเนื่อง
ส่วนกรณีที่เหล่า FC ลูกช้างป่าตุลาสงสัยว่ามีอาการท้องอืดหรือไม่นั้น สัตวแพทย์ระบุว่า ลูกช้างถ่ายและตดปกติ ส่วนการหาแม่รับนั้น ยังไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะตุลายังมีอาการอ่อนแอ ขณะที่เคสลูกช้างป่า "มีนา" ที่สุขภาพแข็งแรง ได้หารือเบื้องต้นกับสัตวแพทย์ ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย จ.ลำปาง เพื่อเตรียมหาแม่รับสอนความเป็นช้าง และให้อยู่ในโขลงช้างได้
ขอบคุณคุณหมอทุกคน ขอบคุณแม่จั่น ทีมงาน save ฅน save ช้าง ที่ทุ่มเทดูแลเด็กทั้งสอง
ปัจจัยแทรกอารมณ์ "ตุลา" ได้กลิ่น-เสียงมีนา
ขณะที่ น.สพ.ภัทรพล มณีอ่อน หรือหมอล็อต หัวหน้ากลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช อธิบายว่า ลูกช้างป่าตุลา มีอาการเปลี่ยนไป ตื่นกลัว หวาดระแวง ไม่ยอมให้พี่เลี้ยงชุดเดิมเข้าใกล้ โดยพบว่ามีอาการมากขึ้นในช่วง 2 สัปดาห์ รวมทั้งยืนนอน ไม่ล้มตัวลงนอน หูกาง ยืนนิ่ง มองไปรอบ ๆ สนใจสิ่งเร้า-สิ่งกระตุ้นบางอย่างที่มนุษย์ไม่ได้ยิน
เขาไม่ล้มตัวลงนอน ยืนหลับ เป็นพฤติกรรมระวังภัยของช้างป่า การสื่อสารของช้างซับซ้อน เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้พฤติกรรมแปรปรวน
น.สพ.ภัทรพล คาดว่า ปัจจัยที่ทำให้พฤติกรรมแปรปรวนเกิดจากได้กลิ่น ได้ยินเสียงร้อง สัญญาณคลื่นความถี่ต่ำจากลูกช้างป่า "มีนา" ที่คอกอยู่ห่างกันเพียง 400 เมตร รวมทั้งอาจได้กลิ่นมีนาจากพี่เลี้ยง ซึ่งเร็ว ๆ นี้ เตรียมนำ "มีนา" มาให้ตุลาได้เห็นใกล้ ๆ และอาจให้สัมผัสใกล้ชิดกันได้ หากผลตรวจพบว่าทั้งคู่ไม่มีโรคอะไร คาดว่าจะรู้ผลภายใน 1 สัปดาห์
อย่างไรก็ตาม ตอนที่ตุลาพลัดหลงโขลงช้างป่า ตุลาเดินออกมาขอให้เจ้าหน้าที่ช่วยเหลือ มีอาการชัก 3-4 นาที และน้ำตาลตกเฉียบพลัน ยังไม่แน่ชัดว่ามีผลกระทบต่อสมองและระบบประสาทหรือไม่ ซึ่งแพทย์ได้ให้วิตามินบำรุงประสาท ส่วนเรื่องไวรัสเฮอร์ปีส์ขณะนี้ตรวจไม่พบ
ดูแลทั้งสุขภาพและอารมณ์ หากผลตรวจโรคไม่มีอะไรน่ากังวลจะให้ทั้งสองตัวได้เจอกันเร็วขึ้น
คาด 4 ปัจจัยกระทบพฤติกรรม
สรุปปัญหาที่สงสัยว่าอาจจะเกิดขึ้นและส่งผลต่อพฤติกรรมของลูกช้างป่าตุลา คือ ภาวะกระดูกบาง อาจทำให้เกิดการเจ็บปวดกระดูก ทำให้ไม่กล้าล้มตัวลงนอน หรือไม่ล้มตัวนอน ต้องรอผลค่าแคลเซียมในเลือด และทำการเอกซเรย์เพิ่มเติมดูความหนาและบางของกระดูก, ภาวะอื่น ๆ ที่ผิดปกติในร่างกาย ต้องรอผลค่าเลือดเพื่อทำการวินิจฉัยเพิ่มเติม, การเลี้ยงดูที่ทำการเปลี่ยนชุดทีมพี่เลี้ยง (เวียนทีมพี่เลี้ยง 1-2 สัปดาห์/ครั้ง) อาจส่งผลทางด้านจิตใจ และการได้กลิ่นลูกช้างป่ามีนา
ทั้งนี้ ในที่ประชุมดังกล่าวมีสัตวแพทย์ ได้แก่ น.สพ.ภัทรพล มณีอ่อน หรือหมอล็อต หัวหน้ากลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า, น.สพ.ดร.บริพัตร ศิริอรุณรัตน์, น.สพ.ดร.ทวีโภค อังควานิช หัวหน้าฝ่ายอนุรักษ์ช้างศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย สถาบันคชบาลแห่งชาติฯ, สพ.ญ.วรางคณา ลังการ์พินธุ์ หัวหน้างานโรงพยาบาลช้าง ลำปาง, น.สพ.ขจรพัฒน์ บุญประเสริฐ นายสัตวแพทย์ประจำศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย จ.ลำปาง, สพ.ญ.ณฐนน ปานเพ็ชร นายสัตวแพทย์ปฏิบัติการ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงฉวากและศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวาก, ผศ.สพ.ญ.ดร. สุภาเพ็ญ ศรีพิบูลย คลินิกช้างและสัตว์ป่า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน,สพ.ญ.กิตติยาภรณ์ เอี่ยมสะอาด, สพ.ญ.อารียา ปอมโคก นายสัตวแพทย์ประจำศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 2 (กระบกคู่) และ น.สพ.ไพโรจน์ พรมวัฒ นายสัตวแพทย์ประจำสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 (ศรีราชา)