ระบบดาว AU Mic อยู่ห่างออกไปจากโลกประมาณ 32 ปีแสง มีดาวเคราะห์ที่ได้รับการยืนยันแล้วทั้งหมด 3 ดวง คือ AU Mic b, AU Mic c และ AU Mic d และมีดาวเคราะห์ที่ยังไม่ได้รับการยืนยันอีกดวง คือ AU Mic e โดยที่ดาวเคราะห์ AU Mic b มีวงโคจรอยู่ใกล้กับดาวแม่ AU Mic a มากที่สุดด้วยคาบการโคจรเพียง 8.46 วัน และระยะห่างจากดาวแม่เพียง 1 ใน 10 ของระยะทางทางจากดวงอาทิตย์ไปดาวพุธเท่านั้น
การสำรวจโดยกล้องฯ ฮับเบิล พบว่าดาวเคราะห์ AU Mic b กำลังสูญเสียชั้นบรรยากาศของมันในรูปของก๊าซที่ถูกปล่อยออกมานอกอวกาศ อย่างไรก็ตาม การสำรวจดาวเคราะห์ AU Mic b เมื่อ 18 เดือนก่อนหน้านี้กลับไม่พบการสูญเสียชั้นบรรยากาศแต่อย่างใด ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่แปลกมากสำหรับนักดาราศาสตร์ เพราะการที่ AU Mic b ไม่สูญเสียชั้นบรรยากาศของมันก่อนหน้านี้หมายความว่าชั้นบรรยากาศของมันมีเสถียรภาพในระดับหนึ่งแล้ว การที่มันเพิ่งจะเริ่มสูญเสียชั้นบรรยากาศตอนนี้จึงหมายความว่ามีปัจจัยภายนอกมารบกวน
หนึ่งในปัจจัยที่เป็นไปได้ก็คือความไม่เสถียรของดาวฤกษ์ AU Mic ซึ่งเป็นดาวแคระแดง ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเกิดปรากฏการณ์ “ลุกจ้า” (Flare) บ่อยกว่าดวงอาทิตย์ การลุกจ้า หากรุนแรงถึงขั้นหนึ่ง อาจก่อให้เกิดลมสุริยะหรือพายุสุริยะขึ้นได้ เมื่อพายุสุริยะเหล่านี้พัดผ่านดาวเคราะห์ที่อยู่ใกล้เคียง ชั้นบรรยากาศของมันก็จะถูกพัดไปด้วย
ในที่สุด หากดาวเคราะห์สูญเสียชั้นบรรยากาศของมันไปเรื่อย ๆ มันก็จะไม่เหลือชั้นบรรยากาศอีกต่อไป หรือเหลือแต่เพียงชั้นบรรยากาศบาง ๆ เท่านั้น นักดาราศาสตร์จะใช้กล้องฯ ฮับเบิล เพื่อศึกษาปรากฏการณ์นี้เพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุถึงการสูญเสียชั้นบรรยากาศอย่างฉับพลันของดาวเคราะห์ AU Mic b
ที่มาภาพ: NASA
ที่มาข้อมูล: NASA
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech