วันนี้ (4 ส.ค.66) เมื่อเวลา 10.30 น.ที่ผ่นมา นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เดินทางมาที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า เพื่อขอให้ ผู้ว่าฯ กทม.ตั้งคณะกรรมการสอบสวนและเอาผิดทั้งทางแพ่งและอาญา โดยมี นางรัชฎา คชานุบาล หัวหน้ากลุ่มรับเรื่องราวร้องทุกข์ สำนักงานเลขานุการผู้ว่ากรุงเทพมหานคร และนายเอกวรัญญู อัมระปาล ผู้ช่วยเลขานุการ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในฐานะโฆก กทม.เป็นตัวแทนรับหนังสือ
อ่านข่าว ลูกบ้าน 'แอชตัน อโศก' จ่อฟ้อง บ.อนันดา เรียกค่าเสียหาย 5 พันล้าน
จากกรณีที่ศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 27 ก.ค.ที่ผ่านมา ในคดีที่สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนและชาวชุมชนสุขุมวิท 19 แยก 2 รวม 16 คน ได้ยื่นฟ้องผู้อำนวยการเขตวัฒนากับพวกรวม 5 คน ตั้งแต่ปี 2559 โดยมีประเด็นสำคัญคือพื้นที่คอนโดพิพาทไม่มีทางเข้า-ออก กว้างอย่างน้อย 12 ม.ติดถนนสาธารณะตามที่กฎหมายกำหนด
คอนโดแอชตัน อโศก มีทั้งหมด 51 ชั้นมูลค่าราว 6,481 ล้านบาท มีลูกบ้านเข้าอยู่อาศัย โอนโฉนดไปแล้ว 580 ครัวเรือน คนไทย 483 ราย ต่างชาติอีก 142 คน
อ่านข่าว "อนันดา" แจง 5 แนวทางแก้ปัญหา "แอชตัน อโศก"
ขณะที่ทางเข้า-ออก ส่วนหนึ่งเป็นพื้นที่ดินที่ รฟม.ได้มาจากการเวนคืนเพื่อทำขนส่งมวลชนสาธารณะ จึงไม่อาจนํามาให้เอกชนเช่าใช้งานที่ผิดวัตถุประสงค์ของการเวนคืน ของ รฟม.ได้ และ หน่วยงานของรัฐ จึงไม่มีอำนาจในออกใบอนุญาตในการก่อสร้าง จึงมีผลให้ใบอนุญาตไม่ชอบด้วยกฎหมาย
นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เข้ายื่นหนังสือ เพื่อขอให้ ผู้ว่าฯ กทม.ตั้งคณะกรรมการสอบสวนและเอาผิดทั้งทางแพ่งและอาญา เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการออกใบอนุญาตก่อสร้างคอนโด
ต่อมาศาลปกครองสูงสุด ได้พิพากษา ให้เพิกถอนใบรับหนังสือแจ้งความประสงค์ก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคาร หรือเปลี่ยนการใช้อาคาร โดยที่ไม่ต้องยื่นคำขอรับใบอนุญาต ตามมาตรา 39 ทวิ ที่ กทม. ออกให้แก่บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด
อ่านข่าว กทม.เปิดแนวทาง "แอชตัน อโศก" ไม่ต้องรื้อถอน-ขอใบแจ้งก่อสร้างใหม่ได้
กรณีที่เกิดขึ้น นายศรีสุวรรณ ยืนยันว่า ต้องมีผู้ที่เกี่ยวข้อง รับผิดชอบ และขอให้ กทม.มีคำสั่งหยุดใช้อาคารคอนโดแอสตัน ตาม มาตรา 41, และ 42 ของ พรบ.ควบคุมอาคาร 2522
นายศรีสุวรรณ ยังกล่าวว่า เรื่องนี้ บ.อนันดา ต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาล ที่ได้แนะนำไว้ ซึ่งต้องไปหาที่ดินที่ไม่เกี่ยวกับของรัฐมาให้ได้ไม่ต่ำกว่า 12 ม.ถ้า บ.อนันดา หาได้เรื่องนี้ก็จบเลย แต่ถ้าหามาไม่ได้ภายใน 60 วัน กทม.อาจขยายเวลาออกไปได้อีกเป็น 90 วัน แต่ถ้าเลย 90 วันแล้วยังหาไม่ได้ กทม.ต้องใช้ไม้เรียวในการสั่งทุกอย่างตามกฎหมาย ซึ่งสามารถทำได้ โดยใช้อำนาจของผู้ว่า กทม.เป็นการใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร 2522
โครงการ แอชตัน อโศก มีปัญหาเกี่ยวกับบริเวณทางเข้า-ออก ซึ่งเป็นพื้นที่ของ รฟม. ซึ่งขณะนี้มอบหมายให้สำนักการโยธา ออกหนังสือแจ้ง ถึง บ.อนันดา เจ้าของโครงการคอนโดมิเนียม แอชตัน อโศก
เรื่องนี้ยังสะท้อนบทเรียนว่า กฎหมายต้องเป็นกฎหมาย อย่าใช้เทคนิคหลีกเลี่ยงข้อกฎหมาย เพราะกฎหมายตรงไปตรงมาอยู่แล้ว แต่ที่เกิดปัญหาทุกวันนี้ เพราะผู้ประกอบการนายทุน ร่วมกันกับเจ้าหน้าที่รัฐในการเบี่ยงเบนประเด็น หรือเจตนาของกฎหมาย จนนำไปสู่ปัญหาที่ต้องถกเถียงจนส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคหรือผู้เช่าซื้ออาคารตามมาเป็นลูกคลื่น
อ่านข่าว มูลนิธิผู้บริโภคชี้ลูกบ้าน "แอชตัน อโศก" มีสิทธิยกเลิกสัญญา-ขอคืนเงิน
หลังจากยื่นเรื่องของให้ กทม.ตรวจสอบแล้ว หลังจากนี้ นายศรีสุวรรณ จะเดินทางไปยื่นร้องเรียนต่อ รฟม. กรมที่ดิน และ คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) เพื่อขอให้สอบสวนในประเด็นที่แต่ละหน่วยงานเกี่ยวข้อง
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ศาลปกครองสูงสุด เพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างคอนโดหรู "แอชตัน อโศก"
"อนันดา" แจง 5 แนวทางแก้ปัญหา "แอชตัน อโศก"
ลูกบ้าน 'แอชตัน อโศก' จ่อฟ้อง บ.อนันดา เรียกค่าเสียหาย 5 พันล้าน
กทม.เปิดแนวทาง "แอชตัน อโศก" ไม่ต้องรื้อถอน-ขอใบแจ้งก่อสร้างใหม่ได้