องค์การนาซา (NASA) และสำนักโครงการวิจัยขั้นสูงด้านกลาโหมหรือดาร์ปา (DARPA) ของสหรัฐอเมริกา จับมือกับบริษัท ล็อกฮีด มาร์ติน (Lockheed Martin) เพื่อออกแบบ สร้าง และทดสอบจรวดพลังงานนิวเคลียร์ภายใต้โครงการสาธิตเทคโนโลยีจรวดดราโค (DRACO) ของนาซาและดาร์ปา ซึ่งมีเป้าหมายที่จะทดสอบจรวดพลังงานนิวเคลียร์ อย่างเร็วที่สุดภายในปี 2027
โครงการดราโคเป็นความร่วมมือระหว่างนาซาและดาร์ปา โดยมีเป้าหมายคือการพัฒนาเทคโนโลยีจรวดพลังงานความร้อนจากนิวเคลียร์เพื่อประโยชน์ของทั้ง 2 หน่วยงาน สำหรับนาซา จรวดพลังงานนิวเคลียร์จะช่วยให้เดินทางไปยังดาวอังคารได้เร็วขึ้นและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นเมื่อเทียบกับจรวดเชื้อเพลิงเคมีทั่วไป
ภายใต้ข้อตกลงระหว่างโครงการดราโค บริษัทล็อกฮีด มาร์ตินจะมีหน้าที่พัฒนา ออกแบบ สร้าง และทดสอบจรวดพลังงานนิวเคลียร์ ในขณะที่อีกบริษัทหนึ่งชื่อว่า “BWX Technologies” จะเป็นผู้ออกแบบและสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์สำหรับใช้สร้างพลังงานให้แก่จรวด
นอกจากโครงการดราโคแล้ว นาซายังมีความร่วมมือกับกระทรวงพลังงานของรัฐบาลสหรัฐฯ ในการสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ฟิชชันเพื่อผลิตไฟฟ้าบนดวงจันทร์หรือดาวอังคารอีกด้วย
ในอดีตนาซาเคยให้ความสนใจการพัฒนาเทคโนโลยีใกล้เคียงกันนี้ในโครงการ เนอร์วา (NERVA) เป็นหนึ่งในโครงการจรวดพลังงานนิวเคลียร์ซึ่งเป็นที่รู้จักมากที่สุดของนาซา เนอร์วาผ่านการทดสอบในยุค ค.ศ. 1960 แต่โครงการได้ถูกยกเลิกในที่สุดเนื่องจากข้อจำกัดทางงบประมาณ รวมถึงสังคมในตอนนั้นที่มองเทคโนโลยีนิวเคลียร์ว่าเป็นเรื่องอันตรายเนื่องจากหากจรวดระเบิดในชั้นบรรยากาศอาจส่งผลกระทบในพื้นที่บริเวณกว้าง
นาซายังมีโครงการอื่น ๆ เช่น โครงการโพรมีธีอุส ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 21 ที่ถูกยกเลิกไปเช่นกัน
ปัจจุบันนาซาได้ลงทุนในโครงการดราโคไปแล้ว 300 ล้านเหรียญ และอีก 250 ล้านเหรียญในการออกแบบและพัฒนาเครื่องยนต์จรวดพลังงานนิวเคลียร์ ในการทดสอบจรวดดราโค กองทัพอากาศสหรัฐฯ จะเป็นผู้รับผิดชอบการสนับสนุนการปล่อยและฐานปล่อย
สิ่งที่น่าจับตามองคือนาซาเองจะสามารถผลักดันโครงการดราโคจนเกิดเป็นเครื่องยนต์จรวดรุ่นใหม่ที่สามารถพามนุษย์เดินทางสู่ดาวอังคารได้ในเวลาอันรวดเร็ว หรือสุดท้ายแล้วโครงการนี้จะมีจุดจบเหมือนกับโพรมีธีอุสและเนอร์วา
ที่มาภาพ: NASA
ที่มาข้อมูล: NASA
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech