คาร์ล เซแกน นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ที่เราอาจรู้จักผ่านหนังสือ Cosmos (คอสมอส) และ Pale Blue Dot (เพลบลูดอต) หรือการมีบทบาทสำคัญในนาซาในการถ่ายทอดความยิ่งใหญ่ของจักรวาลให้กับทุกคน เคยเขียนมุมมองที่เขามีต่อปรัชญาวิทยาศาสตร์ไว้ในหนังสือชื่อ “The Demon-Haunted World: Science as a Candle in the Dark” แปลเป็นไทยได้ว่า “ในโลกที่เต็มไปด้วยปีศาจ วิทยาศาสตร์เปรียบเหมือนแสงเทียนในความมืดมิด”
ในหนังสือที่ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1995 ซึ่งเป็นเพียง 2 ปีก่อนที่เขาจะเสียชีวิต เป็นเหมือนบทสรุปการเดินทางในชีวิตการต่อสู้กับปีศาจในคราบของความโง่เขลามาตลอดทั้งชีวิตของเซแกน เขาได้เปรียบเปรยความไม่รู้ของมนุษย์เป็นเหมือนปีศาจที่คอยทำให้เราตัดสินใจอย่างโง่เขลา ปราศจากการคิดไตร่ตรองถึงเหตุผล จนนำไปสู่ความเลวร้ายต่าง ๆ นานาที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นสงครามหรือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ความโง่เขลานั้นแปลจากภาษาอังกฤษว่า “ignorance” ซึ่งถูกนิยามไว้ว่า “ความไม่รู้” หรือ “มีข้อมูลไม่มากพอ”
การที่มนุษย์มีความโง่เขลาเป็นการเปิดทางให้ปีศาจเข้ามาหลอกหลอนในโลกและการเอาชนะปีศาจนี้คือการจุดเทียนให้เกิดแสงสว่างไสว ปัดเป่าความมืดมิดออกไป ซึ่งการจุดเทียนก็คือการใช้ตรรกะ เหตุผล และการมองธรรมชาติในแบบที่มันเป็น ซึ่งก็คือกระบวนการทางวิทยาศาสตร์นั่นเอง
อย่างไรก็ตาม เซแกนเน้นย้ำหลายรอบว่าวิทยาศาสตร์นั้นเป็นเครื่องมือ ไม่ใช่คำตอบทั้งหมดของคำถาม และกระบวนการทางวิทยาศาสตร์เองในปัจจุบันก็อาจจะยังไม่รัดกุมพอที่จะทำให้เราตอบคำถามหรือขับไล่ปีศาจแห่งความโง่เขลาออกไปได้หมด แต่วิทยาศาสตร์ก็เป็นกระบวนการที่ดีที่สุดที่เรามี
ในหนังสือเล่มนี้เซแกนยังกล่าวไปถึงเรื่องการให้เหตุผล (Reasoning) วิทยาศาสตร์เทียม (Pseudoscience) และการประกอบสร้างความรู้ ซึ่งทั้งหมดนำไปสู่ข้อสรุปของการอธิบายสังคมมนุษย์ว่าเหตุใดโลกนี้ จึงได้วุ่นวายและเต็มไปด้วยความย้อนแย้งมากมายที่พวกเราไม่อาจก้าวข้ามได้
รวมถึงสิ่งที่มักจะถูกหยิบยกมาพูดถึงจากหนังสือเล่มนี้ก็คือตรรกะวิบัติ (Logical Fallacies) ที่เป็นความพยายามในการเชื่อมโยงข้อมูลและข้อเท็จจริงด้วยคำอธิบายที่ย้อนแย้งกับความเป็นจริงของธรรมชาติ เช่น การโจมตีตัวบุคคล (Ad Hominem) ที่เป็นการด้อยค่าผู้พูดแทนที่จะเป็นการพูดถึงเนื้อหาที่ผู้พูดเสนอออกมา หรือการบอกว่าอะไรที่ไม่พูดพิสูจน์ย่อมมีอยู่จริง (Argument from Ignorance) หรือที่เรามักจะได้ยินกันว่า “ไม่เชื่ออย่าลบหลู่” นั่นเอง กล่าวคือ ถ้าเราพิสูจน์ไม่ได้ว่า “ผีมีจริง” นั่นแปลว่าเราพิสูจน์ไม่ได้ว่า “ผีมีจริง” ไม่ใช่สรุปว่า “ผีมีจริง” หรือ “ผีไม่มีจริง” ทั้งนี้การพิสูจน์เรื่องผีก็ต้องมีกระบวนการที่ชัดเจนด้วย และนิยามว่าผีคืออะไร การบอกว่าผีคือ “สิ่งเหนือธรรมชาติ” จึงไม่อาจพิสูจน์ได้ เป็นการกล่าวที่ย้อนแย้งในตัวเอง เพราะเราต้องการนำผีเข้ามาสู่ขอบเขตที่เราอยากจะอธิบาย แต่เราดันพูดเองว่าผีอยู่นอกเหนือจากขอบเขตที่เราจะอธิบาย สรุปแล้วเราต้องการจะบอกว่าผีอยู่ในขอบเขตของธรรมชาติหรือไม่ได้อยู่กันแน่ ?
สิ่งเหล่านี้อาจจะดูเหมือนเป็นปรัชญาโต้เถียง แต่เซแกนเองก็อธิบายว่ามันคือการสะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมและอารยธรรมของมนุษย์ และส่งผลต่อรูปแบบการใช้ชีวิต การเมืองการปกครอง และอนาคตของมนุษยชาติ
และวิทยาศาสตร์นี้เองก็จะเป็นเครื่องมือที่พวกเราใช้ในการต่อสู้กับความโง่เขลา โดยสิ่งสำคัญที่สุดของวิทยาศาสตร์คือการส่งต่อกระบวนการและข้อมูลเพื่อคนในรุ่นต่อไป
ที่มาภาพ: NASA
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech