วานนี้ ( 9 ส.ค.66) โรงเรียนอนุบาลศรีธาตุ อ.ศรีธาตุ จ.อุดรธานี โพสต์เฟซบุ๊ก แจ้งงดจัดกิจกรรมวันแม่ในปีนี้ จากการออกเยี่ยมบ้านนักเรียนทำให้ทางโรงเรียนมีข้อมูลนักเรียนที่อยู่กับแม่ประมาณ 30%
ทางโรงเรียนได้คำนึงถึงความแตกต่างของแต่ละครอบครัวที่อยู่กับคุณแม่และไม่ได้อยู่ ตลอดจนห่วงใยความรู้สึกของลูก ๆ นักเรียนที่คุณแม่มาร่วมกิจกรรมไม่ได้ โดยปรับรูปแบบเป็นการทำการ์ดอวยพรให้คุณแม่และประกวดแต่งกลอนและเขียนเรียงความวันแม่ ทั้งนี้ ได้มีประชาชนมาให้ความเห็นชื่นชมเป็นจำนวนมาก พร้อมชื่นชมทางโรงเรียนที่ปรับรูปแบบกิจกรรมให้เหมาะสมกับสถานการณ์
12 สิงหาคม "วันแม่แห่งชาติ 2566" มีความเป็นมาอย่างไร
ทั้งนี้ ประเทศไทย ได้เริ่มกำหนดให้วันที่ 12 ส.ค.2519 เป็น "วันแม่แห่งชาติ" เป็นปีแรก โดยก่อนหน้านั้น เคยมีการใช้วันที่ 10 มี.ค. , 15 เม.ย. และ 4 ต.ค. โดยงาน "วันแม่แห่งชาติ" ถูกจัดขึ้นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2486 ที่ สวนอัมพร โดยกระทรวงสาธารณสุข แต่ในช่วงนั้นเกิด สงครามโลกครั้งที่ 2 งานวันแม่ในปีต่อ ๆ มาจึงต้องงดไป แต่เมื่อสงครามสงบลง หลายหน่วยงานได้พยายามจัดให้มีวันแม่ขึ้นมาอีกครั้ง และมีการเปลี่ยนกำหนดวันแม่ไปหลายครั้ง
ต่อมากำหนดให้วันที่ 15 เม.ย.ของทุก ๆ ปี เป็นวันแม่แห่งชาติตามมติของคณะรัฐมนตรี โดยเริ่มจัดตั้งแต่ พ.ศ.2493 แต่ก็ต้องหยุดลงอีกในหลายปีต่อมา เนื่องจากกระทรวงวัฒนธรรมถูกยุบไป ส่งผลให้สภาวัฒนธรรมแห่งชาติซึ่งรับหน้าที่จัดงานวันแม่ขาดผู้สนับสนุน
ต่อมาสมาคมครูคาทอลิกแห่งประเทศไทย ได้จัดงานวันแม่ขึ้นอีกครั้ง ในวันที่ 4 ต.ค.2515 แต่จัดได้เพียงปีเดียวเท่านั้น
จนกระทั่งในปี พ.ศ.2519 คณะกรรมการอำนวยการสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จึงได้กำหนดวันแม่ขึ้นใหม่ให้เป็นวันที่แน่นอน โดยถือเอาวันเสด็จพระราชสมภพของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เป็น "วันแม่แห่งชาติ" ทำให้เมื่อถถึงวันที่ 12 ส.ค.โรงเรียนต่าง ๆ จึงมักที่จะจัดกิจกรรมในวันแม่แห่งชาติ ซึ่งก็มีคำถามจากสังคมบางส่วนว่า โดยเฉพาะในครอบครัวที่ไม่พร้อม ที่การจัดกิจกรรมงานวันแม่จึงกระทบต่อความรู้สึกของเด็กนักเรียนที่ไม่มีแม่
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
วันแม่ 2566 : "เรียกแม่สิลูก" รวมคำเรียกชื่อ "แม่" ในภาษาต่างๆ
วันแม่ 2566 : "พวงมาลัย-ดอกไม้" ของขวัญยอดฮิตวันแม่
วันแม่ 2566 : เป็นคุณแม่ ได้สิทธิประโยชน์อะไรบ้าง