ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"พายุงวงช้าง" เกิดขึ้นได้อย่างไร-รุนแรงอันตรายแค่ไหน?

ภัยพิบัติ
13 ส.ค. 66
11:03
7,194
Logo Thai PBS
"พายุงวงช้าง" เกิดขึ้นได้อย่างไร-รุนแรงอันตรายแค่ไหน?
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ทำความเข้าใจ "พายุงวงช้าง" เกิดขึ้นได้อย่างไร มีความรุนแรง หรือ อันตรายแค่ไหน? ย้อนดูที่ผ่านมาเคยเกิดขึ้นที่ไหนบ้าง

วันนี้ (13 ส.ค.2566) หลังจากเกิดปรากฏการณ์ "พายุงวงช้าง"  เมื่อช่วงเย็นวันที่ 12 ส.ค.ที่ผ่านมา ความรุนแรงพาให้เรือของนักท่องเที่ยวลอยจากน้ำและพลิกคว่ำทันที โดยเหตุเกิดที่ปากอ่าวบางตะบูน ต.บางตะบูน อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี เหตุการณ์นี้สามารถช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ 5 คน โดยส่วนใหญ่ไม่ได้สวมเสื้อชูชีพ ส่วนอีก 2 คน ยังสูญหาย  

อ่านข่าว : เร่งค้นหา 2 ผู้สูญหาย พายุงวงช้างพัดถล่มเรือนักท่องเที่ยวล่ม

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสร้างความตกใจ หลายคนหวาดกลัว และสงสัยว่า "พายุงวงช้าง" เกิดขึ้นได้อะไร มีความรุนแรง และอันตรายแค่ไหน วันนี้ ไทยพีบีเอสออนไลน์จะพาไปรู้จัก "พายุงวงช้าง" ให้มากขึ้น 

ปากอ่าวบางตะบูน ต.บางตะบูน อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี

ปากอ่าวบางตะบูน ต.บางตะบูน อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี

ปากอ่าวบางตะบูน ต.บางตะบูน อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี

ปรากฏการณ์ "พายุงวงช้าง" หรือที่มักจะรู้จักกันคือ "นาคเล่นน้ำ" หรือ "พวยน้ำ" (water spout) หมายถึง ปรากฏการณ์ที่มีลักษณะคล้ายท่อน้ำขนาดใหญ่ เชื่อมต่อระหว่างท้องฟ้าและผืนน้ำ เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ที่เกิดขึ้นจากลมพัดหมุนวนบิดเป็นเกลียว

เห็นได้จากเมฆที่มีลักษณะเป็นลำ หรือเป็นกรวยหัวกลับยื่นลงมาจากฐานของ เมฆฝนฟ้าคะนอง (คิวมูโลนิมบัส) และมองเห็นได้จากพวยน้ำ ที่พุ่งขึ้นมาเป็นพุ่มหรือเป็นลำ จากพื้นผิวน้ำของแหล่งน้ำขนาดใหญ่ หรือในทะเล

เมื่อมีลมพัดแรงเข้าหาบริเวณศูนย์กลางของพวยน้ำยอดของพวยน้ำจะเคลื่อนที่ด้วยความเร็วอย่างมาก ทำให้เกิดแกนเอียงหรือบิดเบี้ยว แล้วหลุดออกจากกันและสลายตัวไป

"พายุงวงช้าง" เกิดขึ้นได้อย่างไร

สาเหตุการเกิดพายุงวงช้าง (water spout) เกิดจากการที่มวลอากาศเย็นเคลื่อนผ่านเหนือผิวน้ำที่อุ่นกว่า โดยอากาศบริเวณใกล้ ๆ ผิวน้ำ มีความชื้นสูง และมีลมอ่อน ทำให้อากาศที่ผิวน้ำไหลขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรง ทำให้อากาศที่อยู่โดยรอบซึ่งเย็นกว่า ไหลเข้ามาแทนที่อย่างรวดเร็วเช่นกัน

จึงเกิดการบิดเป็นเกลียวพวยพุ่งขึ้นบนท้องฟ้า และมักจะมีพายุฝนฟ้าคะนองร่วมอยู่ด้วย

ลักษณะการเกิด "พายุงวงช้าง" จะคล้ายกับ "พายุทอร์นาโด" แต่จะมีความแตกต่างที่พายุทอร์นาโด มักเกิดขึ้นเหนือพื้นดินที่ร้อนถึงร้อนจัด ส่วนพายุงวงช้าง ที่เกิดเหนือพื้นน้ำ ซึ่งมีความรุนแรงน้อยกว่าพายุทอร์นาโดมาก มักเกิดบ่อย ๆ บนพื้นน้ำในเขตโซนร้อน อย่างในประเทศไทย ขณะที่ช่วงเวลาที่เกิดปรากฏการณ์นี้กินเวลาไม่นานนัก

ปากอ่าวบางตะบูน ต.บางตะบูน อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี

ปากอ่าวบางตะบูน ต.บางตะบูน อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี

ปากอ่าวบางตะบูน ต.บางตะบูน อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี

พายุงวงช้าง ส่วนใหญ่ยาวประมาณ 10-100 เมตร แต่บางครั้งยาวมากถึง 600 เมตร ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง พบได้ตั้งแต่ 1 เมตร ไปจนถึงหลายสิบเมตร โดยในนาคเล่นน้ำแต่ละตัว อาจมีท่อหมุนวนเพียงท่อเดียวหรือหลายท่อก็ได้ โดยแต่ละท่อจะหมุนด้วยอัตราเร็วในช่วง 20-80 เมตรต่อวินาที กระแสลมในตัวพายุเร็วถึง 100-190 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และอาจสูงถึง 225 กิโลเมตรต่อชั่วโมง 

นอกจากหมุนวนรอบตัวเองแล้ว นาคเล่นน้ำยังสามารถเคลื่อนที่ได้เร็วตั้งแต่ 3 - 130 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่ส่วนใหญ่จะเคลื่อนที่ค่อนข้างช้าประมาณ 18-28 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ดังนั้นจึงแนะนำให้ชาวเรือว่า ให้สังเกตทิศทางการเคลื่อนที่ให้ดี แล้วหนีไปในทิศตรงกันข้าม

อย่างไรก็ดี พายุงวงช้าง มักมีระยะเวลาเพียง 2-30 นาที และจะสลายตัวอย่างรวดเร็วเมื่อขึ้นสู่ฝั่ง

ย้อนเหตุการณ์ "พายุงวงช้าง" ที่เกิดขึ้น

ขณะที่ประเทศไทยเคยเกิด "พายุงวงช้าง" ขึ้นในหลายพื้นที่หลายเหตุการณ์คลิปวิดีโอบันทึกภาพไว้ได้ โดยเมื่อเดือน เม.ย. 2564 นักท่องเที่ยวได้ถ่ายคลิปเหตุการณ์พายุงวงช้าง กำลังพัดถล่มกลางทะเล พื้นที่ ต.อ่าวใหญ่ อ.เมืองตราด จ.ตราด ขณะกำลังรอลงเรือที่ท่าเทียบเรือ ครั้งนั้นพายุพัดหมุนอยู่นานเกือบ 20 นาที จึงสงบลง ซึ่งตอนนั้นท้องฟ้ามืดครึ้ม ขณะที่ชาวประมงที่กำลังออกเรืออยู่กลางทะเล ต่างก็รีบกลับเข้าฝั่ง ไม่มีใครเป็นอะไร

เมื่อ ต.ค.2564 พายุงวงช้าง พัดถล่มกลางหมู่บ้าน ใน อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ จนทำให้มีบ้านเรือนเสียหายไปหลายหลัง เหตุการณ์ครั้งนั้นมีถ่ายคลิปไว้ได้ เสียงลมที่พัดทุกสิ่งทุกอย่างที่ขวางหน้า และมองเห็นแผ่นกระเบื้องมุงหลังคาบ้าน เศษดิน และวัสดุก่อสร้างบ้าน ถูกดูดขึ้นไปในงวงพายุ ปลิวว่อนไปทั่ว 

ต.ค.2562 ปรากฎการณ์พายุที่เกิดขึ้นใกล้ปั้มน้ำมันแห่งหนึ่งในพื้นที่ ต.แพรกษา จ.สมุทรปราการ ลมแรงมากจนทำให้เกิดความเสียหายในระดับย่อม ๆ ระยะเวลาการเกิดไม่นาน คือไม่ถึง 20 นาที 

อ่านข่าวอื่น ๆ 

ระดับพายุ ที่นับวันผลกระทบยิ่งแรงขึ้นทุกปี

เร่งค้นหาผู้สูญหายเหตุเรือประมงล่มที่นครศรีฯ พบเสียชีวิต 2 คน

ชวนกันหาปลา เรือล่มกลางคลอง จมน้ำเสียชีวิต 3 คน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง