วันนี้ (13 ส.ค.2566) น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตามที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้บรรจุให้ "ผ้าอ้อมผู้ใหญ่และแผ่นรองซับ" เป็นสิทธิประโยชน์บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตั้งแต่วันที่ 2 พ.ค.2565 โดยดำเนินการภายใต้กองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น (กปท.) ของ สปสช.และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ
แต่ด้วยข้อจำกัดด้านกฎหมาย ทำให้ที่ผ่านมาโครงการได้ดำเนินการเฉพาะกลุ่มผู้มีสิทธิบัตรทอง 30 บาท ซึ่งรัฐบาลโดยกระทรวงสาธารณสุข และสปสช.มีความพยายามแก้ไขข้อจำกัด เพื่อให้ครอบคลุมผู้ป่วยติดเตียงและผู้มีปัญหาการกลั้นขับถ่ายทุกสิทธิ กระทั่งมีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 18 ก.ค.ที่ผ่านมา
ยืนยันว่าโครงการผ้าอ้อมผู้ใหญ่ และแผ่นรองซับครอบคลุมคนไทยทุกสิทธิแล้ว
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า หลักเกณฑ์ต่างๆ ก็ได้มีออกมารองรับเรียบร้อยแล้ว ได้แก่ ประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่องหลักเกณฑ์การดำเนินงานและการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ พ.ศ.2566 และหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการรับค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2566
ทั้งนี้ ภายหลังมีความชัดเจนทางกฎหมาย จะทำให้เจ้าหน้าที่ของ อปท. ซึ่งดำเนินการกองทุน กปท. เกิดความมั่นใจว่าการจัดทำโครงการผ้าอ้อมและแผ่นรองซับ สามารถให้การดูแลให้ผู้ป่วยทุกสิทธิ ไม่เฉพาะผู้มีสิทธิบัตรทองเท่านั้นขณะนี้สปสช.ประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้ อปท.ทั่วประเทศ ที่มีการจัดตั้งกองทุนกปท. 7,753 แห่ง ร่วมทำโครงการนี้ เพื่อให้ดูแลผู้ป่วยได้ครอบคลุมมากขึ้น
ปัจจุบันมี อปท. จัดทำโครงการ1,876 แห่ง รวม 2,295 โครงการดูแลผู้ป่วยทั่วประเทศอยู่ 44,667 คน
รองโฆษกรัฐบาล กล่าวว่า สำหรับคุณสมบัติผู้ที่จะได้สิทธิตามโครงการนั้น จะต้องเป็นผู้ป่วยติดเตียง หรือผู้มีปัญหากลั้นปัสสาวะหรืออุจจาระไม่ได้ ไม่จำกัดอายุ โดยจะได้รับไม่เกิน 3 ชิ้นต่อคนต่อวัน
ปัจจุบัน สปสช. มีฐานข้อมูลผู้ป่วยติดเตียงและผู้มีปัญหาการกลั้นการขับถ่ายอยู่ประมาณ 50,000 คน ซึ่งในบางพื้นที่จะมีเจ้าหน้าที่ติดต่อไปยังครอบครัวและว่าผู้ป่วยได้รับสิทธิผ้าอ้อมผู้ใหญ่
แต่หากครอบครัวใดมีผู้ป่วยอยู่ และยังไม่มีเจ้าหน้าที่ติดต่อไป ขอให้แจ้งขอรับสิทธิโดยการโทรสายด่วน สปสช. 1330 เพื่อให้เจ้าหน้าที่รับเรื่องและส่งพื้นที่ดำเนินการตามขั้นตอน หรือติดต่อลงทะเบียนได้ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) หรือศูนย์บริการสารธารณสุขใกล้บ้าน (ไม่จำเป็นต้องเป็นที่อยู่ตามบัตรประชาชน) หรือที่องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หรือเทศบาล