ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ไทม์ไลน์ 10 เดือน ในความทรงจำ "ตุลา" ลูกช้างนักสู้

สิ่งแวดล้อม
14 ส.ค. 66
14:02
2,225
Logo Thai PBS
ไทม์ไลน์ 10 เดือน ในความทรงจำ "ตุลา" ลูกช้างนักสู้
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ย้อนไทม์ไลน์ 10 เดือน "ตุลา" ลูกช้างป่า ที่สร้างรอยยิ้มจากความน่ารัก ขี้เล่น ก่อนหน้านี้เคยพบเชื้อเฮอร์ปีส์ไวรัสถึง 4 ครั้ง และภาวะกระดูกบาง ซึ่งทีมสัตวแพทย์ พี่เลี้ยง ทุ่มเทดูแลรักษาเต็มกำลัง สุดท้ายลูกช้างจากไป แต่ยังเหลือความทรงจำ "ลูกช้างนักสู้"

"ตุลา" ลูกช้างป่าขวัญใจชาวโชเซียล จากไปเมื่อช่วงเย็นของวันที่ 13 ส.ค.ที่ผ่านมา ผลชัตรสูตรเบื้องต้นพบมีสภาวะกระดูกบางทั่วร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณขาหน้า (ด้านบน) ทั้ง 2 ข้าง พบการสลายของกระดูก ทำให้กระดูกแตกหักละเอียด ผิดรูป ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการไม่ล้มตัวลงนอน และเล่นกับพี่เลี้ยงตามปกติ อวัยวะภายในร่างกายพบว่าลำไส้มีความแดงผิดปกติ และสัตวแพทย์ได้เก็บตัวอย่างอวัยวะทั้งหมด รวมถึงกระดูก ส่งทางห้องปฏิบัติการ


วันนี้ (14 ส.ค.2566) นพ.ไพโรจน์ พรมวัฒ สัตวแพทย์ประจำสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 (ศรีราชา) แถลงผลชันสูตร พร้อมย้อนไทม์ไลน์ของลูกช้างป่า "ตุลา"

  • วันที่ 9 ต.ค.2565 เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว จ.จันทบุรี พบลูกช้างป่าเพศผู้ อายุ 1 สัปดาห์ เดินออกนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์มาจนถึงฐานทหารพราน จุดสกัดฐานทุ่งกร่าง อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี
  • วันที่ 10 ต.ค.2565 ย้ายลูกช้างมายังพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว และตรวจพบโรคติดเชื้อเฮอร์ปีส์ไวรัสในช้าง (EEHV) ครั้งที่ 1
  • วันที่ 27 ธ.ค.2565 ตรวจพบ EEHV ครั้งที่ 2
  • วันที่ 7 ก.พ.2566 ตรวจพบ EEHV ครั้งที่ 3
  • วันที่ 13 ก.พ.2566 ส่งต่อลูกช้างมาที่ศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 2 - กระบกคู่ จ.ฉะเชิงเทรา
  • วันที่ 5 เม.ย.2566 ตรวจพบ EEHV ครั้งที่ 4 และรักษาอย่างต่อเนื่อง กระทั่งตรวจซ้ำในเดือน พ.ค.-ส.ค. ไม่พบเชื้อดังกล่าว จึงหยุดให้ยาต้านไวรัส
  • วันที่ 3 พ.ค.2566 ลูกช้างมีอาการเจ็บขาหลังขวา เดินกะเผลก
  • วันที่ 5 พ.ค.2566 เอกซเรย์ พบว่ากระดูกต้นขวามีรอยร้าวแตก จึงให้ยารักษาและลดปวดลดอักเสบ เสริมแคลเซียม ต่อมาตุลาเดินช้าลง กินน้ำน้อยลง จึงเสริมเกลือแร่
  • ปลายเดือน ก.ค.2566 ตุลาไม่สามารถพยุงตัวได้ จนต้องนำคางไปพาดกับคอก แพทย์ต้องให้ยารักษาและทำเลเซอร์ลดการอักเสบบริเวณขา การตรวจค่าเลือดและมวลกระดูก พบว่ามีภาวะโรคกระดูกบาง มวลกระดูกบางและแตกเปราะได้ง่าย จึงประคับประคองการลงน้ำหนัก
  • 13 ส.ค.2563 เวลา 04.00 น. ตุลาพยายามลุกยืน แต่ลุกไม่ขึ้น ต้องล้มตัวนอนเป็นเวลานาน และมีการอักเสบและบวมที่บริเวณต้นขา ต่อมาเวลา 18.00 น. ตุลาไม่ยอมใช้ขา นิ่ง หายใจช้าลง บริเวณลิ้นมีสีซีดลง และหัวใจหยุดเต้น สัตวแพทย์ได้ทำ CPR แต่ไม่ตอบสนอง และตายในเวลาต่อมา ซึ่งการผ่าชันสูตรหาสาเหตุการตาย พบว่า กระดูกต้นขาหน้ามวลกระดูกแตกสลาย ทำให้บริเวณรอยแตกหักมีความบาง และพบรอยแตกบริเวณกว้าง

ขณะที่ น.สพ.ภัทรพล มณีอ่อน หรือหมอล็อต หัวหน้ากลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เล่าถึงการพลัดหลงของตุลา ว่า ลูกช้างเดินมาหาคน เดินมาหาเจ้าหน้าที่ ไม่มีฝูงอยู่รอบข้าง ไม่มีใครรอรับ หรือคอยช่วยเหลือเลย ตุลาเดินมาเดี่ยว ๆ นี่คือกลไกทางธรรมชาติของฝูงช้างป่า ในการป้องกันการเกิดโรคติดต่อ หลัก ๆ ลูกช้าง ต้องดูแลเรื่องของน้ำนม ความอบอุ่น ความเครียด ให้ผ่านพ้นช่วงของการกินนมให้ได้

ตุลา เรียกว่าภาวะจำใจจาก หรือฝูงจำใจทิ้งตุลา เพราะเห็นว่าตุลามีเชื้อโรคอยู่ในตัว

เคส "ตุลา" พบเชื้อไวรัส EEHV ไม่ว่าจะสวอปปาก สวอปก้น หรือพบในเลือด ซึ่งรักษาครบตามโปรแกรมเชื้อก็หายไป แต่พอมีปัจจัยเร้าเชื้อก็ขึ้นมาอีก ถือเป็นเรื่องอัศจรรย์มากที่จะพบเชื้อขึ้นลง ๆ ตลอด เพราะฉะนั้นการเลี้ยงตุลาจะได้แนวทางใหม่ ๆ ในการเลี้ยงลูกช้างพอสมควร ทั้งการเอาใจ การให้สารเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน การจัดการระบบการเลี้ยง การวินิจฉัยรวดเร็ว การให้ยาต้านไวรัสทันท่วงที

โอกาสรอดตั้งแต่เดิมของตุลา คือ 0% แต่ทีมสัตวแพทย์และเจ้าหน้าที่พี่เลี้ยง พยายามดูแลรักษาอย่างเต็มที่ จนโอกาสค่อย ๆ เพิ่มเป็น 10% 15% 17% 20% เพิ่มขึ้นมาให้ได้มากขึ้น คือ การรักษาแบบประคับประคอง

น.สพ.ภัทรพล บอกเล่าถึงการดูแลรักษาลูกช้างที่เรียกว่า Learning by doing จนลูกช้างอาการดีขึ้น แต่มีข้อจำกัด คือ ตุลากินน้ำนมแม่น้อยมาก เพราะพลัดหลงโขลงตั้งแต่เล็ก จึงต้องดูแลโภชนาการ นม อาหารเสริม โพรไบโอติก หรือบางช่วงต้องอาศัยน้ำนมสด รีดนมแม่ช้างสด ๆ หรือใช้นมแช่แข็งมาอุ่นป้อนให้ตุลา เป็นอีกวิธีการหนึ่งในการรักษา และสร้างภูมิคุ้มกัน

"ไม่มีข้อจำกัดในการดูแลตุลา ต้องปรับต่อสถานการณ์ที่พลิกได้เสมอ ต้องเอาใจช่วยและให้กำลังใจกัน เป็นเคสที่เกิดจากความทุ่มเท เสียสละ ของพี่เลี้ยง หมอ ทุกคนอดหลับอดนอน ขณะที่ตุลาต้องสู้กับความเจ็บปวด ซึ่งน้องผ่านจุดนั้นมาแล้ว และจะอยู่ในความทรงจำของทุกคนตลอดไป"

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

หมอทำเต็มที่เคสลูกช้าง "ตุลา" ผลชันสูตรพบมวลกระดูกแตกสลาย  

ลูกช้าง "ตุลา" ไม่ล้มตัวนอน-ขาอักเสบ ผลตรวจเฮอร์ปีส์ไวรัสเป็นลบ 

ส่งกำลังใจให้ลูกช้าง "ตุลา" เริ่มล้มตัวนอนได้ 

ตายแล้ว! ลูกช้างป่าตุลาพลัดหลงแม่หลังยื้อนาน 10 เดือน 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง