เมื่อวันที่ 16 ส.ค.ที่ผ่านมา ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) ร่วมกับ U.S. fish & Wildlife service หรือองค์การบริหารปลาและสัตว์ป่าแห่งสหรัฐ สกัดจับรถบรรทุก 6 ล้อ พร้อมคนขับและผู้ติดตาม 2 คน ที่ จ.กาฬสินธุ์
เจ้าหน้าที่เคลื่อนย้ายเกล็ดลิ่นของกลางจากรถบรรทุก
พบของกลางเกล็ดลิ่นจำนวนมาก บรรจุอยู่ในกระสอบ 42 ใบ น้ำหนักรวม 1,400 กิโลกรัม หลังติดตามความเคลื่อนไหวขบวนการค้าลิ่น และสะกดรอยตามมาจาก จ.ราชบุรี ยังไม่ทราบต้นทางว่านำเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้าน หรือใช้ไทยเป็นจุดพักของ แต่การสอบสวนเบื้องต้นพบว่ารถบรรทุกคันดังกล่าว มุ่งหน้าไปยัง จ.มุกดาหาร คาดว่าปลายทางคือประเทศจีน
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้เคยจับกุมการลักลอบขนตัวลิ่นแบบมีชีวตมาจากประเทศอินโดนีเซีย และมาเลเซีย แต่รอบนี้ยังไม่สามารถยืนยันได้ ที่ผ่านมาขบวนการดังกล่าวจะเปลี่ยนเส้นทางการลักลอบขนส่งไปเรื่อย ๆ เพื่อหลบหนีการจับกุมของเจ้าหน้าที่ จากเดิมเคยจับกุมได้ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
ตำรวจแถลงผลการจับกุมเกล็ดลิ่นล็อตใหญ่ 1.4 ตัน
ส่วนการจับกุมครั้งนี้ เจ้าหน้าที่พบว่ามีการนำกระสอบใส่เกล็ดลิ่นปะปนมากับถุงดินและปุ๋ย โดยซุกซ่อนมากับรถบรรทุกคันดังกล่าว และมีความเป็นไปได้ว่ามาจากทางภาคใต้ ซึ่ง บก.ปสท.จะสืบสวนสอบสวนขยายผล เพราะเป็นล็อตใหญ่มากในรอบ 10 ปี มูลค่ามากกว่า 50 ล้านบาท
เปลี่ยนเส้นทางขนส่ง-รูปแบบจากตัว เป็น "เกล็ด"
นายประเสริฐ สอนสถาพรกุล ผู้อำนวยการกองคุ้มครองพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าตามอนุสัญญา หรือไซเตส กล่าวว่า ในอดีตลักลอบขนลิ่นเป็นตัว แต่ขณะนี้เปลี่ยนรูปแบบมาเป็น "เกล็ด" เพราะซุกซ่อนได้ในจำนวนมาก ขนส่งได้ง่าย เก็บรักษาได้นาน และราคาสูงกว่าเป็นตัวที่มีชีวิต น้ำหนักต่อตัว 2-4 กิโลกรัม ราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 3,000-4,000 บาท ซึ่งในช่วงสถานการณ์ COVID-19 คดีดังกล่าวลดลง เพราะอาจมีข้อจำกัดของการเดินทางและขนส่ง
ตำรวจแถลงผลการยึดเกล็ดลิ่นล็อตใหญ่ มูลค่า 50 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ยังไม่สามารถระบุได้ว่า "เกล็ดลิ่นของกลาง" เป็นสายพันธุ์ใด จึงส่งต่อให้ศูนย์นิติวิทยาศาสตร์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติและพันธุ์พืช จำแนกสายพันธุ์เพื่อคาดการณ์แหล่งที่มาว่าเป็นลิ่นจากโซนใด แอฟริกา มาเลเซีย อินโดนีเซีย หรือแหล่งที่มาอื่น ๆ คาดว่าจะทราบสายพันธุ์ภายใน 1 เดือน
สำหรับลิ่นมีทั้งหมด 8 สายพันธุ์ โดยในเอเชียมี 4 สายพันธุ์ และในแอฟริกาอีก 4 สายพันธุ์ ส่วนในไทยมี 2 สายพันธุ์ คือ ลิ่นจีน กระจายพันธุ์ทางภาคเหนือ และลิ่นชวา กระจายพันธุ์ทางภาคใต้ของไทย ไปถึงมาเลเซีย อินโดนีเซีย
เดิมการจับกุมขบวนการค้าตัวลิ่น พบว่าใช้ไทยเป็นเส้นทางผ่าน โดยขนย้ายเป็นตัวที่มีชีวิต แต่ครั้งนี้พบของกลางเกล็ดลิ่น 1,400 กิโลกรัม คาดว่านำมาจากตัวลิ่นมาจากธรรมชาติ 3,500-4,000 ตัว ถือว่าเป็นตัวเลขที่น่ากังวลมาก
เกล็ดลิ่นต่างขนาดถูกบรรจุในถุงกระสอบ 42 ใบ
ผอ.กองคุ้มครองพันธุ์สัตว์ป่าฯ เชื่อว่าขบวนการลักลอบขนเกล็ดลิ่นในครั้งนี้ เตรียมการเป็นอย่างดีอาจใช้เวลานับปี ในการฆ่า ตากแห้ง คัดแยกเกล็ดเล็ก-เกล็ดใหญ่ที่มีราคาต่างกัน ไม่รู้ว่ามีต้นตอที่ใด ทำในไทย หรือประเทศเพื่อนบ้าน แล้วขนเข้าไทย ซึ่งต้องตรวจสอบว่ามีแหล่งที่มาเดียวกันหรือไม่ หรือคละสายพันธุ์ หรือมีนายหน้าเป็นธุระจัดหาติดต่อขบวนการค้าลิ่น
ราคาเกล็ดลิ่นขึ้นอยู่กับชนิดพันธุ์และคุณภาพ อยู่ที่กิโลกรัมละ 10,000-40,000 บาท
นายประเสริฐ ยังกล่าวถึงความเชื่อการนำเกล็ดลิ่นไปทำยาโป๊ว หรือยาบำรุงร่างกาย ว่าเป็นเพียงการจิตนาการขึ้นเองโดยอวดอ้างสรรพคุณต่าง ๆ ทั้งที่ไม่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ สุดท้ายสัตว์ป่า หรือลิ่น ต้องกลายเป็นผู้เคราะห์ร้าย ถูกฆ่าอย่างทารุณ
เกล็ดลิ่นถูกบรรจุในกระสอบซุกรถบรรทุก
"ลิ่น" ถือเป็นซากสัตว์ป่าคุ้มครองของไทย และเป็นสัตว์ป่าในบัญชีไซเตส 1 ห้ามค้าและครอบครอง สำหรับเกล็ดลิ่น 1 กิโลกรัม จะเท่ากับตัวลิ่น 2-3 ตัว การจับกุมและยึดของกลางได้ถึง 1,400 กิโลกรัม เท่ากับการฆ่าตัวลิ่น 4,000 ตัว โดยเกล็ดลิ่นที่พบในกระสอบมีขนาดที่แตกต่างกัน บางกระสอบมีตัวอักษรภาษาจีน 大 แปลว่า "ใหญ่"
การลักลอบขนเป็นตัวใส่ถุงผ้าไนลอนสุดท้ายก็ขาดใจตาย หรือเป็นเกล็ด ก็ต้องฆ่าแล้วเอามาดึงเกล็ดทีละชิ้น ทารุณโหดร้ายทั้งหมด
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง จับแก๊งลักลอบค้าเกล็ดตัวลิ่นข้ามชาติ ยึด 1,400 โล มูลค่า 50 ล้าน