ล่าสุด ข้อมูลจากทั้ง 4 สมาคมมันสำปะหลัง ออกมาโต้แย้งข้อมูลของภาครัฐว่า มีการระบาดรุนแรงกว่า ที่กรมส่งเสริมการเกษตรรายงาน และขอให้เร่งแก้ปัญหาที่จะกระทบทั้งต่อภาคอุตสาหกรรม การส่งออก และที่สำคัญคือ เกษตรกรกว่า 7 แสนครัวเรือน
วันนี้ (21 ส.ค.2566) นายบุญชัย ศรีชัยยงพานิช ประธานคณะสำรวจติดตามภาวะการผลิตมันสำปะหลังฤดูการผลิตปี 2566/67 ของ 4 สมาคม คือ สมาคมการค้ามันสำปะหลังไทย สมาคมโรงงานผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังไทย สมาคมแป้งมันสำปะหลังไทย และ สมาคมโรงงานผู้ผลิตมันสำปะหลัง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งข้อสังเกตข้อมูลจากกรมส่งเสริมการเกษตร (9 ส.ค.2566) เปิดเผยสถานการณ์ล่าสุดของโรคใบด่างมันสำปะหลัง พบพื้นที่การระบาด 20 จังหวัด พื้นที่กว่า 61,000 ไร่
แต่ข้อมูลของคณะสำรวจติดตามภาวะการผลิตมันสำปะหลังฤดูการผลิตปี 2566-2567 จาก 4 สมาคม คาดการณ์ว่า มีพื้นที่ระบาดมากกว่านี้หลายเท่า
ข้อมูลของ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สวทช.ได้ประเมินการระบาดโรคใบด่างในปี 2566 ว่า มีพื้นที่แพร่ระบาด 3 ล้านกว่าไร่ มูลค่าความเสียหายกว่า 11,000 ล้านบาท
ทั้ง 4 สมาคม มันสำปะหลัง คาดว่า ผลผลิตในฤดูใหม่ที่จะถึงนี้มีเพียงประมาณ 20 กว่าล้านตัน เท่านั้นจากที่เคยปลูกได้ 30 กว่าล้านตัน ในขณะที่ความต้องการของตลาดมีสูงกว่า 40 ล้านตัน กระทบต่ออุตสาหกรรมแป้งมัน และการส่งออก โดยในปี 2565 มีมูลค่าการส่งออกสูงถึง 170,000 ล้านบาท ประเทศไทยอาจสูญเสียรายได้เข้าประเทศหลายล้านบาท
นายบุญชัยระบุว่า ทางสมาคมฯ ได้เรียกร้องให้กรมส่งเสริมการเกษตร ซึ่งได้รับรางวัลเลิศรัฐปี 2565 จากการแก้วิกฤติโรคใบด่างมันสำปะหลัง และตั้งข้อสังเกตว่า การรายงานตัวเลขพื้นที่การระบาดที่น้อยกว่าความเป็นจริง อาจเป็นเงื่อนไขให้ได้รับรางวัล และขอให้เร่งตรวจสอบข้อมูลการระบาดที่แท้จริงในปีนี้ เพื่อแก้ปัญหาอย่างจริงจัง
ก่อนที่จะส่งผลกระทบทั้งต่อภาคอุตสาหกรรม การส่งออก และที่สำคัญคือ เกษตรกรกว่า 7 แสนครัวเรือนที่มีอาชีพปลูกมันสำปะหลัง ก็มีความหวังว่าจะขายมันในช่วงที่ราคาดี
นายบุญชัยกล่าวต่อว่า โรคใบด่างมันสำปะหลัง เป็นโรคอุบัติใหม่ในประเทศไทย พบครั้งแรก ในเดือนส.ค.2561 เริ่มระบาดเข้าไทยจากชายแดนเพื่อนบ้าน จนถึงปัจจุบันก็ไม่สามารถควบคุมการระบาดได้ และระบาดไปทั่วประเทศแล้วแพร่ระบาดโดยท่อนพันธุ์ที่มีโรค และแมลงหวี่ขาวยาสูบเป็นพาหะ ไม่มียารักษา ผลผลิตหัวมันสดที่ลดลง ร้อยละ 40-80 และยังไม่มีพันธุ์ต้านทานที่เหมาะสม
ด้านกรมส่งเสริมการเกษตร ร่วมกับกรมการปกครอง สำรวจโรคใบด่างในพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง 54 จังหวัด พร้อมขอให้เกษตรกรทำลายต้นมันที่เป็นโรคใบด่าง ส่วนพื้นที่ที่พบการระบาดรุนแรง เกษตรกรควรเว้นช่วงการปลูกมันสำปะหลัง 1 ฤดูการปลูก เพื่อหยุดวงจรการระบาด โดยเปลี่ยนไปปลูกพืชไร่อื่นที่เหมาะสม
นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า จากการรายงานสถานการณ์การระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลังที่มีแนวโน้มกลับมาระบาดอีกครั้ง ได้สั่งการให้สำนักงานเกษตรจังหวัดที่มีพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง เร่งดำเนินการควบคุมการระบาดอย่างต่อเนื่อง ทั้งประสานขอความร่วมมือ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และกรรมการหมู่บ้าน เร่งสำรวจพื้นที่ระบาดโรคใบด่างมันสำปะหลังร่วมกับเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร เพื่อทราบสถานการณ์การระบาด
เตรียมแนวทางคัดเลือกแหล่งพันธุ์สะอาด เพื่อใช้สำหรับฤดูการปลูกถัดไป โดยอาจคัดเลือกจากพื้นที่ปลูกที่ยังไม่มีรายงานการระบาดในโซนภาคเหนือ หรือในแปลงใหญ่มันสำปะหลังเป็นหลัก และจัดทำคู่มือบริหารจัดการโรคใบด่างมันสำปะหลัง และจัดประชุมสร้างความเข้าใจให้กับผู้ปฏิบัติงาน
สำหรับพื้นที่ที่พบการระบาดรุนแรง เกษตรกรควรเว้นช่วงการปลูกมันสำปะหลัง 1 ฤดูการปลูก เพื่อหยุดวงจรการระบาด โดยเปลี่ยนไปปลูกพืชไร่อื่นที่เหมาะสมกับพื้นที่และสถานการณ์การผลิต
เจ้าหน้าที่จะส่งเสริมการใช้พันธุ์สะอาดและทนทานต่อโรคใบด่าง ได้แก่ ระยอง 72 เกษตรศาสตร์ 50 และห้วยบง 60 งดใช้พันธุ์อ่อนแอ ได้แก่ พันธุ์ CMR 43-08-89 และพันธุ์ระยอง 11 และจะ ชการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติด้านการเกษตรที่ได้รับความเดือดร้อนจากโรคใบด่างมันสำปะหลังตามระเบียบกระทรวงการคลัง และระเบียบที่เกี่ยวข้อง
หากเกษตรกรพบต้นมันสำปะหลังมีอาการของโรคใบด่างให้เร่งทำลายต้นเป็นโรคก่อนที่แมลงหวี่ขาวยาสูบ จะนำไปแพร่ยังต้นอื่น ๆ ต่อ ด้วยการบดสับต้นเป็นโรคใส่ถุงดำมัดปากให้แน่นแล้วนำไปตากแดดจนกว่าต้นมันสำปะหลังจะตาย หรือแจ้งเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่ทราบทันที
อ่านข่าวอื่นๆ
ชัดเจนแล้ว! ทร.เปลี่ยนเครื่องยนต์เรือดำน้ำ CHD 620 ของจีน