“Moonikin Campos” เป็นหุ่นทดสอบขององค์การนาซา (NASA) ซึ่งถูกใช้แทนที่มนุษย์ในการทดสอบต่าง ๆ ของโครงการอาร์ทิมิส ตั้งแต่ใช้ลองชุดนักบินอวกาศ ที่นั่ง ไปจนถึงการส่งหุ่นทดสอบตัวนี้ไปวนรอบดวงจันทร์จริง ๆ ในเที่ยวบินอาร์ทิมิส 1
หุ่น Moonikin Campos ตัวนี้ตั้งชื่อตามวิศวกรนาซา “Arturo Campos” หนึ่งในวิศวกรเที่ยวบิน Apollo 13 ซึ่งเกิดอุบัติเหตุขึ้น Arturo Campos เป็นหนึ่งในวิศวกรหลักที่ช่วยให้เที่ยวบิน Apollo 13 สามารถเดินทางกลับโลกได้อย่างปลอดภัย
ในภาพนี้คือหุ่น Mookin Campos บนยานโอไรออนในเที่ยวบินอาร์ทิมิส 1 ที่ได้ไปเดินทางรอบดวงจันทร์แล้วกลับมาอย่างปลอดภัย
ชุดที่ Moonikin Campos ใส่อยู่ เรียกว่า OCSS (Orion Crew Survival System) ซึ่งเป็นชุดสำหรับลูกเรือของยานโอไรออนในโครงการอาร์ทิมิส ชุด OCSS มีสีส้มสว่างเพื่อช่วยให้ทีมค้นหาสามารถหาได้ง่ายขึ้นหากยานโอไรออนลงจอดฉุกเฉินในทะเล นอกจากนี้ชุด OCSS ยังทนไฟ และมีระบบสำหรับการให้อากาศและกรองอากาศด้วย พร้อมกับระบบควบคุมอุณหภูมิชุดในตัว
นักบินอวกาศจะสวมใส่ชุด OCSS ระหว่างตอนปล่อยยานและตอนกลับโลก เช่น การสูญเสียแรงดันในยาน ซึ่งนักบินอวกาศอาจเสียชีวิตได้ในไม่กี่วินาที แต่ชุด OCSS สามารถพยุงชีพนักบินอวกาศในกรณีที่ยานสูญเสียแรงดันได้นานถึง 6 วัน
อย่างไรก็ตาม ชุด OCSS ไม่ได้ถูกออกแบบมาสำหรับการทำ EVA หรือ Spacewalk ซึ่งหมายถึงการออกไปนอกอวกาศ การทำ EVA จะต้องใช้ชุดแยกอีกชุดหนึ่งซึ่งเป็นชุดที่ออกแบบมาเพื่อการทำ EVA โดยเฉพาะ ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่า เนื่องจากมีอุปกรณ์และระบบพยุงชีพที่ซับซ้อนกว่า
Moonikin Campos บนที่นั่งจำลองของยานโอไรออนซึ่งตั้งอยู่บนแท่นทดสอบความเร่งอีกที แท่นดังกล่าวมีไว้เพื่อทดสอบแรงกระแทกและการสั่นเพื่อจำลองสถานการณ์การปล่อยและการลงจอดที่จะมีการเปลี่ยนแปลงของความเร่งอย่างฉับพลัน สำหรับทดสอบแรงที่เกิดขึ้นกับหุ่นแทนการทดสอบกับมนุษย์ คล้ายกับการทดสอบเข็มขัดนิรภัยรถยนต์และการชนที่ก็ใช้หุ่นทดสอบเช่นเดียวกันในการประเมินประสิทธิภาพของรถและเข็มขัดนิรภัยต่อการชน
แท่นทดสอบนี้ยังสามารถทดสอบการเปลี่ยนแปลงของความเร่งได้มากถึง 19g หรือ 19 เท่า ของแรงโน้มถ่วงของโลก เทียบเท่ากับความเร่งที่ผู้โดยสารน้ำหนัก 70 กิโลกรัม คาดเข็มขัดนิรภัยแล้วเกิดรถชนที่ความเร็ว 40 กิโลเมตร/ชั่วโมง จนทำให้รถหยุดทันที การทดสอบกระทำโดยการให้ที่นั่งเลื่อนตามรางก่อนที่หยุดโดยกะทันหัน เพื่อจำลองการกระแทกหรือการเปลี่ยนแปลงของความเร่งอย่างฉับพลันทันที เช่น เวลายานบังคับการโอไรออนกระแทกกับผิวน้ำหลังกลับโลก
ในตัวของ Moonikin Campos มีสิ่งที่เรียกว่า “Motion Tracker” หรือตัวติดตามการเคลื่อนไหวเพื่อวัดการเปลี่ยนแปลงของความเร่งที่สัมผัสได้โดยหุ่นทดสอบ ซึ่งจะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ทราบได้ว่านักบินอวกาศจะต้องเผชิญกับแรง g มากเท่าใดระหว่างสถานการณ์ต่าง ๆ พร้อมกับปรับเปลี่ยนการออกแบบของที่นั่ง หมวก และชุด
นอกจาก Motion Tracker แล้ว วิศวกรยังใช้สติกเกอร์เป็นเครื่องหมายสำหรับติดตามการเคลื่อนไหวด้วยกล้องเฟรมเรตสูงเพื่อดูปฏิกิริยาของหุ่นหลังจากการเปลี่ยนแปลงความเร่งอย่างกะทันหันอีกด้วย
หลังจากการทดสอบนี้ Moonikin Campos จะถูกส่งไปยังศูนย์อวกาศเคนเนดีของนาซาในฟลอริดาเพื่อทดสอบการสั่นไหว โดยการสั่นไหวนั้นอันตรายพอ ๆ กับการเปลี่ยนแปลงของความเร่งอย่างกะทันหัน เหตุเพราะการสั่นไหว หากสั่นที่ความถี่ที่เรียกว่าความถี่สั่นพอง (Resonance Frequency) อาจทำให้อวัยวะภายในของนักบินอวกาศเสียหายอย่างรุนแรงได้ วิศวกรจึงจะต้องหาวิธีเพื่อลดการสั่นให้ได้มากที่สุดเพื่อป้องกันเหตุการณ์ดังกล่าว
ที่มาภาพ: NASA
ที่มาข้อมูล: NASA
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech