กล้องโทรทรรศน์อวกาศยูคลิดเป็นความร่วมมือระหว่างองค์การอวกาศยุโรปและห้องปฏิบัติการแรงขับเคลื่อนไอพ่น (JPL) ขององค์การนาซา (NASA) มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการขยายตัวของจักรวาล สสารมืด และพลังงานมืด รวมถึงการสร้างแผนที่ท้องฟ้าสำหรับการสำรวจอย่างละเอียดโดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศอื่น ๆ เช่น กล้องโทรทรรศน์อวกาศแนนซี เกรซ โรมัน ซึ่งยังอยู่ในขั้นตอนการพัฒนาอยู่
หนึ่งในอุปกรณ์ที่สำคัญที่สุดบนกล้องก็คือเซนเซอร์และระบบถ่ายภาพ บนกล้องฯ ยูคลิด มีเซนเซอร์ 2 ชนิด คือ เซนเซอร์ในช่วงคลื่นแสงที่มองเห็นได้ (VIS) และเซนเซอร์ในช่วงคลื่นอินฟราเรด (NISP)
กล้องฯ ยูคลิดได้ใช้เซนเซอร์ในช่วงคลื่นแสงที่มองเห็นได้ถ่ายภาพกระจุกกาแล็กซีที่เต็มไปด้วยกาแล็กซีกว่าพันล้านกาแล็กซีหลายรูป โดยเซนเซอร์นี้นั้นทำงานคล้ายกับกล้องโทรทรรศน์ที่เราใช้มองจากพื้นโลก แต่ภาพจากกล้องฯ ยูคลิดนั้นมีความละเอียดกว่ามาก อย่างไรก็ตาม ในบางภาพ วิศวกรพบว่ามีแสงสว่างจ้าผิดปกติเกิดขึ้นภายในภาพ ภายหลังพบว่าเป็นแสงจากดวงอาทิตย์ของเราเองที่หลุดรอดเข้ามาจากมุมของกล้องฯ ซึ่งสามารถแก้ไขได้ด้วยการเปลี่ยนองศาของกล้อง
ภาพเดี่ยวจากกล้องฯ ยูคลิดแสดงให้เห็นถึงรายละเอียดที่ชัดเจนในระดับที่สามารถนับกาแล็กซีแต่ละกาแล็กซีได้ อย่างไรก็ตาม ภาพดังกล่าวนั้นหากเปรียบเทียบแล้ว เท่ากับพื้นที่บนท้องฟ้าของดวงจันทร์เพียงเท่านั้น เอง แต่กลับมีกาแล็กซีอยู่เป็นจำนวนมาก ดาวฤกษ์อีกนับไม่ถ้วน แสดงให้เห็นถึงความกว้างใหญ่ของจักรวาล
ภาพจากเซนเซอร์ในช่วงคลื่นอินฟราเรดนั้น ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์สามารถวัดค่าความสว่างของกาแล็กซีได้แม่นยำขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยให้เราวัดระยะห่างของกาแล็กซีดังกล่าวจากโลกได้อีกด้วย
ในภาพที่ขยายใหญ่ขึ้น เราจะเห็นได้ทั้งกาแล็กซีเดี่ยว ๆ กระจุกกาแล็กซี หรือแม้แต่ดาวหาง นอกจากนี้ยังสามารถระบุรูปร่างของกาแล็กซีที่อยู่ใกล้ได้อีกด้วย เมื่อรวมข้อมูลภาพอินฟราเรดเข้ากับภาพในช่วงคลื่นแสงที่มองเห็นได้แล้ว เราจะสามารถสร้างแผ่นที่สามมิติของจักรวาลขึ้นมาเพื่อศึกษาการกระจายตัวของสสาร และช่วยให้เราศึกษาสสารมืดและพลังงานมืดได้ดียิ่งขึ้น
ในภาพนี้เป็นภาพจากเซนเซอร์อินฟราเรดของกล้องฯ ยูคลิด ที่ผ่านการกรองจากฟิลเตอร์แสงพิเศษซึ่งจะแยกแสงจากแต่ละดาวหรือกาแล็กซีออกเป็นเส้นบาง ๆ ยาว ๆ ซึ่งแต่ละเส้นหมายถึงดาวหนึ่งดวงหรือกาแล็กซีหนึ่งกาแล็กซี ซึ่งช่วยให้การวิเคราะห์ภาพนั้นง่ายยิ่งขึ้น
ปัจจุบัน กล้องฯ ยูคลิดอยู่ในวงโคจรลากรางจ์ที่สองของโลก และอยู่ระหว่างการทดสอบอุปกรณ์ต่าง ๆ ของกล้องก่อนที่จะเริ่มภารกิจทางวิทยาศาสตร์อย่างเป็นทางการ
ที่มาภาพ: ESA
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech