ปี 2558 รัฐบาล คสช.ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีแผนขยายการลงทุนกิจการด้านอุตสาหกรรมไปยังทุกภูมิภาค เพื่อกระตุ้นให้เกิดการค้า การลงทุน และการจ้างงานในพื้นที่ ด้วยการประกาศให้จังหวัดที่อยู่ติดแนวชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน เป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ
เฟสแรกประกาศ 5 จังหวัดนำร่อง 1 ในนั้น คือ “มุกดาหาร” ครอบคลุม 11 ตำบลใน 3 อำเภอ
เฟสที่ 2 ประกาศในปีถัดมา ภาคอีสาน มี หนองคาย และนครพนม แต่ละจังหวัดครอบคลุม 13 ตำบลใน 2 อำเภอ
บริเวณที่ถูกประกาศเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ส่วนใหญ่จะเป็นที่ป่าสาธารณประโยชน์ ที่ นสล.ประเภททำเลเลี้ยงสัตว์ ก่อนหน้านี้มีชาวบ้านเข้าไปใช้ประโยชน์ ทั้งหาของปลา เลี้ยงสัตว์ หรือทำการเกษตรในที่ดินของรัฐ
พื้นที่เตรียมทำเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคอีสาน
แต่เมื่อปี 2558 มีการเพิกถอนที่ป่าสาธารณะ หรือที่ดินของรัฐ ให้กลายเป็นที่ราชพัสดุ เพื่อให้กรมธนารักษ์สามารถเปิดให้เอกชนเข้ามาเช่าพื้นที่ เพื่อพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ
ระหว่างนี้ ภาครัฐได้เร่งพัฒนาปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งถนนหนทาง ไฟฟ้า ประปา ขยายเข้าไปในพื้นที่ที่ถูกประกาศ โดยเฉพาะ ต.คำอาฮวน อ.เมืองมุกดาหาร เนื้อที่ 1,081 ไร่ แต่จากสภาพที่เห็น พบว่า จุดที่ถูกประกาศยังไม่ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
3 จังหวัดภาคอีสาน ที่ถูกประกาศเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจ เนื่องจากรัฐบาลมองเห็นศักยภาพ เพราะมีทำเลที่ตั้ง อยู่ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน และมีสะพานมิตรภาพไทย-ลาวที่เชื่อมทั้ง 3 แห่ง
แต่ละแห่งมีจุดแข็งที่แตกต่างกันไป อย่างหนองคาย-นครหลวงเวียงจันทน์ ก็มีจุดแข็งในเรื่องของอุตสาหกรรมสีเขียว และสามารถขนส่งสินค้าระบบรางผ่านรถไฟไทย-ลาว-จีน
ส่วนมุกดาหาร ก็มีจุดแข็งในเรื่องของการเป็นอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตร อย่าง ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง และยางพารา รวมทั้งจะกลายศูนย์กลางโลจิสติกส์ ที่เชื่อมโยงการส่งสินค้าจากทะเลจีนใต้-ไปยังมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งเป็นเส้นทางการขนส่งข้ามทวีปที่ใกล้ที่สุด
นี่จึงเป็นหมุดหมายที่สำคัญ ที่รัฐบาลพยายามผลักดันให้เกิดเขตเศรษฐกิจตามแนวชายแดน เพื่อหวังจะกระตุ้นการค้า การลงทุนในภูมิภาค
ด้วยการให้กรมธนารักษ์ เปิดสรรหาให้นักลงทุนเข้ามาพัฒนาพื้นที่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ทั้ง 3 จังหวัด โดยพบว่า ที่ผ่านมาแต่ละจังหวัด มีการเปิดประมูลไม่น้อยกว่า 3 ครั้ง ทุกครั้งจะมีภาคเอกชนมาซื้อซองประกวดราคา แต่เมื่อถึงเวลาประมูล กลับไม่มีนักลงทุนมายื่นซอง
แม้จะมีการปรับลดอัตราค่าเช่าลง จากเดิมช่วงแรก ๆ ที่กรมธนารักษ์เคาะค่าเช่าที่ดิน 24,000 บาท/ไร่/ปี ปัจจุบันเหลือเพียงไร่ละ 1,800-2,100 บาท เรียกได้ว่า ปรับลดค่าเช่าเกือบ 10 เท่าตัว
รวมถึงการเพิ่มประเภทกิจการที่จะเข้ามาลงทุน จากเดิมที่มีอยู่ 5 กิจการ ก็เพิ่มเป็น 13 กิจการ แต่ก็ยังไม่ได้รับความสนใจจากนักลงทุน
ธนโชติ โชตบุณยศักดิ์ เลขาธิการหอการค้ากลุ่มสนุก ประกอบด้วย จ.สกลนคร มุกดาหาร และนครพนม สะท้อนว่า การประกาศเขตพัฒนาเศรษฐกิจของภาครัฐ มองคนละมุมกับภาคเอกชน โดยรัฐ มองว่า การวางโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งโครงข่ายถนน รถไฟทางคู่ สนามบิน มายังต่างจังหวัดเพื่อดึงดูดในลงทุน ซึ่งกว่าโครงสร้างพื้นฐานจะแล้วเสร็จ ก็ใช้เวลาไม่น้อยว่า 5 ปี
ธนโชติ โชตบุณยศักดิ์ เลขาธิการหอการค้ากลุ่มสนุก ประกอบด้วย จ.สกลนคร มุกดาหาร และนครพนม
แต่ในมุมมองของภาคเอกชน เห็นว่า “กระบวนการ” คือกลไกสำคัญที่จะช่วยดึงดูดนักลงทุนเข้ามา เช่น การเปิดช่องนักลงทุนสามารถเข้ามาพัฒนาพื้นที่ใดก็ได้ หากติดขัดด้านระบบระเบียบได้ ก็ไปแก้ไขให้เรียบร้อย
ที่ผ่านมา ภาคเอกชน เสนอไปยังหน่วยงานภาครัฐ กรณีไม่สามารถเดินหน้าเขตพัฒนาเศรษฐกิจได้ ก็ควรประกาศให้พื้นที่รอบสะพานมิตรภาพไทย-ลาว เป็นเขตปลอดภาษีอาการ ทั้งขาเข้าและขาออก นั่นคือ กิจการธุรกิจต่าง ๆ ที่มาตั้ง หรือจำหน่ายสินค้ารัศมี 5 กิโลเมตรรอบสะพาน สามารถขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือที่เรียกว่า “Vat refund” ณ จุดเขตปลอดภาษี ตรงนี้จะช่วยปลดล็อคของคำว่า “เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ
เกือบ 10 ปีเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษใน 3 จังหวัดภาคอีสาน ยังไปไม่ถึงฝั่งฝัน จำเริญ โพธิ์ยอด อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผยว่า 31 ส.ค.-1 ก.ย.นี้ จะเปิดประชุมรับฟังความคิดเห็น (Market Sounding) เพื่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อให้เสนอแนะแนวทางการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อให้โครงการนี้เดินหน้าต่อไปได้
เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคอีสาน เรียกได้ว่าเป็นเฟสแรก ภายใต้โครงการพัฒนาตามแนวระเบียงเศรษฐกิจภาคอีสาน หรือ NeEC และระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC ซึ่งเป็นตามแผนของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่เชื่อว่า การขับเคลื่อนการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ จะเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค
ภายใต้การพัฒนาตามแนวระเบียงเศรษฐกิจภาคอีสาน ขณะนี้ภาครัฐอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งทางบก เช่น การขยายถนน หรือสร้างถนนตัดใหม่ สายกาฬสินธุ์-มุกดาหาร หรือถนนสายอุดรธานี-บึงกาฬ
พื้นที่เตรียมทำเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคอีสาน
รวมถึงทางราง ทั้งรถไฟทางคู่ และรถไฟความเร็วสูง เพื่อที่จะเชื่อมโยงการขนส่งระบบราง จากภาคใต้ ภาคกลาง ภาคตะวันออก เชื่อมสู่ภาคอีสาน ไปลาว จีน และภูมิภาคอาเซียน โดยหวังว่า อนาคตหากโครงสร้างพื้นฐานแล้วเสร็จ จะกระตุ้นให้เกิดการค้า การลงทุน การเอื้อต่อการขนส่งข้ามทวีปแบบไร้รอยต่อ
รายงาน : มยุรี อัครบาล ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส
อ่านข่าวอื่นๆ
ราชกิจจาฯ ประกาศ กฎ ก.พ. 2566 กำหนด "4 โรค ห้ามรับราชการ"
ผู้ถือหุ้นโรงแรมที่ตั้ง "ครูกายแก้ว" ร้องศาลย้ายรูปปั้น
ญี่ปุ่นปล่อยน้ำจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จีน-ฮ่องกงสั่งแบนอาหารทะเล