วันนี้ (25 ส.ค.2566) องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) รายงานว่า หลังจากอุทยานธรณีสตูลได้รับการประกาศ ให้เป็น “อุทยานธรณีโลก” ในปีพ.ศ.2561 เป็นอุทยานธรณีโลกแห่งแรกของประเทศไทย และเป็นแห่งที่ 5 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ทีมวิจัยทางธรรมชาติวิทยา อพวช.ได้ให้ความสนใจพื้นที่อุทยานธรณีสตูล และได้ดำเนินโครงการศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพของแมลงภายใต้โครงการศึกษาความหลากหลายของพืชและสัตว์ในอุทยานธรณีสตูลตั้งแต่ปี พ.ศ.2563 จนถึง พ.ศ.2567 โดยการสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ซึ่งเป้าหมายของการศึกษานั้นอยู่ในบริเวณอุทยานธรณีสตูลและพื้นที่ติดต่อกันในบริเวณ จ.สตูลและตรัง
กระทั่งวันที่ 21 เม.ย.2565 นักวิจัย อพวช.ค้นพบมดสีเหลือง ๆ สร้างรังอยู่ในกิ่งไม้ขนาดเล็กแห้งคาต้นของไม้พุ่มในป่าละเมาะใกล้กับถ้ำอุไรทอง และป่าละเมาะใกล้คลองห้วยบ้า อ.ละงู จ.สตูล หลังจากทำการศึกษา พบว่ามดชนิดนี้อยู่ในสกุลมดบาก (Genus Vombisidris)
มดบากจีนใจ มดจิ๋วตัวแค่ 2.64 มม.พบในป่าจ.สตูล
หลังจากนั้น นายทัศนัย จีนทอง ดร.วียะวัฒน์ ใจตรง และรศ.ดร.วัฒนชัย ตาเสน คณะวนศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ได้ร่วมกันบรรยายลักษณะและตีพิมพ์เผยแพร่เป็นมดชนิดใหม่ของโลกในวารสาร Tropical Natural History ฉบับที่ 23 (ปี พ.ศ. 2566) โดยให้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Vombisidris satunensis Jeenthong, Jaitrong & Tasen