ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เปิดภาพ "ปลานกแก้วหัวโหนก" ใหญ่ - หายากสุดในทะเลไทย

สิ่งแวดล้อม
26 ส.ค. 66
17:07
2,331
Logo Thai PBS
เปิดภาพ "ปลานกแก้วหัวโหนก" ใหญ่ - หายากสุดในทะเลไทย
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"ผศ.ดร.ธรณ์" นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล เผยภาพ "ปู่หัวโหนก" หรือ "ปลานกแก้วหัวโหนก" ใหญ่และหายากที่สุดชนิดหนึ่งในทะเลไทย

วันนี้ (26 ส.ค.2566) ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์คลิป "ปู่หัวโหนก" ในทริปสำรวจทะเลโลซิน ดำเนินการโดยความร่วมมือจากกรมทะเลชายฝั่ง/ม.เกษตรศาสตร์, ม.อ./ม.ราม/มูลนิธิเอนไลฟ์  

พร้อมระบุข้อความความ "ปู่หัวโหนก" หรือ "ปลานกแก้วหัวโหนก" (Green humphead parrotfish) ซึ่งเป็นปลานกแก้วใหญ่ที่สุดในโลก และหายากที่สุดชนิดหนึ่งในทะเลไทย

ปลานกแก้ว ความยาวเต็มวัย 1.5 เมตร น้ำหนักอาจถึง 75 กิโลกรัม เป็นปลาที่อยู่กับแนวปะการังน้ำลึก/น้ำใส สมบูรณ์ ในทะเลไทยนานทีมีรายงานหน เช่น เกาะสุรินทร์

แต่สถานที่เจอประจำคงเป็นที่เกาะโลซิน เกาะไกลฝั่งที่สุดในอ่าวไทย หรือเกาะแสนล้านที่บางคนเรียกเพราะเกี่ยวข้องกับพื้นที่สัมปทานปิโตรเลี่ยม ทีมนักวิทยาศาสตร์ทางทะเลเดินทางไปที่นั่น เพื่อศึกษาสารพัดเรื่อง แต่เรื่องหนึ่งแสนสำคัญ คือ พบเจอปลาหัวโหนก ปู่โสมเฝ้าทะเลแสนล้าน ว่า ยังคงอยู่ดีมีสุข

ผศ.ดร.ยังได้อธิบายข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ "ปลานกแก้วหัวโหนก" ทั้งทำไมเรียก "ปู่ปลา" และมีขนาดตัวใหญ่แค่ไหน ?

ปลานกแก้วหัวโหนกอายุยืนมาก อาจถึง 40 ปี เมื่อเทียบกับปลากระดูกแข็งด้วยกัน ไม่นับฉลาม กระเบน ถือว่าเป็นระดับปู่ทวดได้เลย 

Green humphead parrotfish คือ โคตรปลานกแก้ว ความยาวเต็มวัยยาว 1.5 เมตร หนัก 75 กก. นี่คือปลานกแก้วใหญ่ที่สุดในโลก มีอยู่แค่ชนิดเดียวเท่านั้น ทั้งโลกเจอได้เฉพาะมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกและมหาสมุทรอินเดีย

ผศ.ดร.ธรณ์ อธิบายว่า เด่นสุด คือ ฟันในปาก ลองสังเกตคลิปช่วงสโลว์จะเห็นฟันรวมเป็นแผ่นเหมือนปากนกแก้ว ยื่นออกมานอกริมฝีปาก อีกอย่างคือ การว่าย สะบัดครีบเป็นจังหวะพั่บ ๆ ดูแล้วคล้ายนกแก้วบิน

นอกจากนี้ ฟันแบบนี้มีไว้แทะ/ขูด หากเป็นปลานกแก้วทั่วไปจะขูดสาหร่าย/ปะการัง แต่ถ้าเป็นปู่หัวโหนกตัวใหญ่ อาจงับเข้าไปเคี้ยวในปากเหมือนเรากินขนม

ปู่หัวโหนก หรือ ปลานกแก้วหัวโหนก  ภาพจาก : Thon Thamrongnawasawat

"ปู่หัวโหนก" หรือ "ปลานกแก้วหัวโหนก" ภาพจาก : Thon Thamrongnawasawat

"ปู่หัวโหนก" หรือ "ปลานกแก้วหัวโหนก" ภาพจาก : Thon Thamrongnawasawat

ผศ.ดร.ธรณ์ ยังบอกด้วยว่า ทำไมปลานกแก้วจึงสำคัญ จุดเด่นคือ ปลาคุมปริมาณสาหร่าย ปลานกแก้วยังช่วยสร้างทรายให้แนวปะการัง คุณปู่เป็นเทพในเรื่องนี้เลย เนื่องจากตัวใหญ่จึงกินเยอะ ปลานกแก้วหัวโหนกจะสร้างทรายปีละ 5 ตัน มากกว่าปลานกแก้วทั่วไปหลายร้อยเท่า

ขณะที่ไม่ว่าจะตัวผู้หรือตัวเมีย หัวก็โหนกปลาชนิดนี้บ่งบอกเพศจากรูปร่างภายนอกไม่ได้ หัวโหนกมีไว้ดุนดันให้เศษปะการังหักออกมา แต่ไม่ได้ทำทุกครั้ง บางครั้งปลาอาจหวงอาณาเขตโดยเฉพาะช่วงผสมพันธุ์ เมื่อตัวอื่นว่ายล้ำเข้ามาอาจว่ายไล่ บางทีเอาหัวชนกัน 

นอกจากนี้ ปรกติปลานกแก้วหัวโหนกชอบอยู่เป็นฝูง เหมือนกับปลานกแก้วทั่วไปที่ชอบรวมฝูงว่ายหากินในแนวปะการังในตอนกลางวัน ช่วงกลางคืนจะแยกย้ายกันหากิน ก่อนกลับมารวมฝูงกันตอนเช้า

หากเป็นแนวปะการังขนาดใหญ่ อาจเจอหลายสิบหรือนับร้อยตัว แต่แนวปะการังไทยเล็ก ฝูงใหญ่สุดที่ผมเคยเจออยู่ที่เกาะสุรินทร์ นับได้ 17 ตัว สำหรับโลซิน อยู่เดี่ยว ๆ เพราะแนวปะการังใหญ่ไม่พอ  

ปู่หัวโหนก หรือ ปลานกแก้วหัวโหนก  ภาพจาก : Thon Thamrongnawasawat

"ปู่หัวโหนก" หรือ "ปลานกแก้วหัวโหนก" ภาพจาก : Thon Thamrongnawasawat

"ปู่หัวโหนก" หรือ "ปลานกแก้วหัวโหนก" ภาพจาก : Thon Thamrongnawasawat

ผศ.ดร.ธรณ์ ระบุอีกว่า สถานภาพระดับโลก VU เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ นอกจากถูกจับ ยังเกี่ยวข้องสภาพระบบนิเวศ ปลาชนิดนี้ต้องการแนวปะการังสมบูรณ์ ซึ่งตอนนี้โลกร้อนกำลังเป็นภัยคุกคามที่แรงขึ้นเรื่อย ๆ

ขณะที่ ปลานกแก้วหัวโหนกในไทยมีน้อยอยู่แล้ว ส่วนใหญ่อยู่แนวสมบูรณ์ที่เป็นอุทยาน/พื้นที่อนุรักษ์ (เช่น โลซิน) ภัยคุกคามระยะยาวของ คือ ระบบนิเวศอยู่ในภาวะเสี่ยง

คลิป - คณะประมง ม.เกษตรศาสตร์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง