ขณะที่ความต้องการของตลาดอุตสาหกรรมแปรรูปในประเทศคือ คือ 40 ล้านตัน นี่กำลังเป็นปัญหาที่กระทบต่อภาคอุตสาหกรรมและการส่งออก ที่มีมูลค่าปีละกว่า 1 แสนล้านบาท
สมาคมที่เกี่ยวข้องกับการค้ามันสำปะหลัง ทั้ง 4 สมาคม ประกอบด้วย สมาคมการค้ามันสำปะหลังไทย ,สมาคมโรงงานผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังไทย ,สมาคมแป้งมันสำปะหลังไทย และสมาคมโรงงานผู้ผลิตมันสำปะหลัง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ได้ดำเนินการสำรวจภาวะการผลิตและการค้ามันสำปะหลัง ฤดูการผลิตปี 2566/67 โดยมีกรมส่งเสริมการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมสังเกตการณ์
ดำเนินการลงพื้นที่สำรวจ ช่วงเดือนกรกฎาคม - สิงหาคม 2566 ทั้ง ภาคเหนือ ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ซึ่งเป็นแหล่งเพาะปลูกมันสำปะหลัง จำนวน 53 จังหวัด สรุปผลการสำรวจได้ดังนี้
• พื้นที่เก็บเกี่ยวคาดว่า ลดลง จากปี 65/66 จาก 9 ล้านไร่ เป็น 8 ล้านไร่ หรือร้อยละ 3.96
• ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่คาดว่า ลดลง จากปี 65/66 จาก 2.9 ตัน เป็น 2.8 ตัน หรือร้อยละ 3.69
• ผลผลิตรวมคาดว่า ลดลง จากปี 65/66 จาก 26.6 ล้านตัน เป็น 24.6 ล้านตัน หรือร้อยละ 7.52
สาเหตุสำคัญเกิดจากสภาวะภัยแล้ง ฝนทิ้งช่วง ทำให้ต้นมันสำปะหลังยืนต้นตาย พบเกษตรกรใช้ท่อนพันธุ์ไม่สมบูรณ์ ไม่ครบอายุและติดโรคใบด่างมาปลูก ทำให้การเจริญเติบโตของต้นมันสำปะหลังไม่สมบูรณ์ และพบว่า มีการระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลังเพิ่มมากขึ้น
รวมถึงการเกิดโรคพุ่มแจ้และโรคไรแดง ในบางพื้นที่ ประกอบกับราคาที่จูงใจทำให้เกษตรกรเก็บเกี่ยวหัวมันสำปะหลังก่อนครบอายุออกมาจำหน่าย นอกจากนี้ปัญหาขาดแคลนท่อนพันธุ์ทำให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนไปปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ต้นยูคา แทนพื้นที่เพาะปลูกมันสำปะหลัง
วิกฤตโรคใบด่างมันสำปะหลัง
สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคใบด่างมันสำปะหลัง ใน จ.นครราชสีมา ที่มีพื้นที่ปลูกกว่า 1 ล้าน 2 แสนไร่ มากที่สุดในประเทศ จากการสำรวจของสมาคมโรงงานผู้ผลิตมันสำปะหลัง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คาดว่า มีการระบาดทั่วทั้งจังหวัดแล้ว เป็นพื้นที่สีแดงที่ห้ามเคลื่อนย้ายท่อนพันธุ์ ป้องกันการแพร่ระบาดไปยังจังหวัดอื่น ๆ
ตอนนี้เกษตรกรที่เคยได้ผลผลิต ไร่ละ 4-5 ตัน เริ่มสำรวจต้นมัน และประเมินว่า การเก็บผลผลิตปลายปีนี้ จะลดลงเหลือเพียง 1-2 ตันต่อไร่ จากภัยแล้งและโรคใบด่าง รวมทั้งศัตรูพืช จากวิกฤติของเกษตรกร กำลังจะกลายเป็นวิกฤติของอุตสาหกรรมแป้งมัน
นายธีระ เอื้ออภิธร นายกสมาคมโรงงานผู้ผลิตมันสำปะหลัง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระบุว่าจากการประเมินการแพร่ระบาดปี 2566 จะรุนแรงจนส่งผลต่อมูลค่าการส่งออกที่สูงถึงกว่า 1 แสนล้านบาทต่อปี ผู้ประกอบการโรงแป้งมันหลายแห่งต้องหยุดรับออร์เดอร์การส่งออก เนื่องจากไม่มั่นใจว่าผลผลิตมันสำปะหลังจะเพียงพอสำหรับการแปรรูป
ลำดับเวลาการระบาดโรคใบด่างมันสำปะหลัง
-ปี 2561 เริ่มระบาดในประเทศ ระบาดโดยท่อนพันธุ์ที่มีโรค และแมลงหวี่ขาวยาสูบเป็นพาหะ ไม่มียาหรือวิธีรักษาเนื่องจากเป็นเชื้อไวรัส ผลผลิตหัวมันสดลดลงร้อยละ 40-80
- ปี 2564 ครม.อนุมัติงบประมาณกว่า 1,300 ล้านบาท แก้ปัญหาโรคใบด่าง จ่ายเงินชดเชยให้เกษตรกรที่ทำลายต้นมันที่เป็นโรค ไร่ละ 2,160 บาท และมาตรการอื่น ๆ เพื่อแก้ปัญหา
- ปี 2565 กรมส่งเสริมการเกษตร แถลงควบคุมการระบาดได้ และได้รับรางวัลเลิศรัฐระดับดีในการแก้วิกฤตศัตรูอุบัติใหม่ใบด่างมันสำปะหลัง โดยกองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย
- เดือนพฤศจิกายน 2565 สมาคมชาวไร่มันสำปะหลังแห่งประเทศไทย ขอสนับสนุนงบประมาณ 420 ล้านบาทจากภาครัฐ แก้ไขปัญหาโรคไวรัสใบด่างมันสำปะหลัง ที่กำลังแพร่ระบาดรุนแรง ไปเกือบทั่วพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังทั้งประเทศ อย่างเร่งด่วน
เนื่องจากส่งผลกระทบต่อเกษตรกรกว่า 7 แสนครัวเรือน โดยเสนอของบประมาณเพื่อดำเนินการ ดังนี้
1.จัดซื้อท่อนพันธุ์สะอาด 150 ล้านบาท
2.สนับสนุนการทำแปลงขยายพันธุ์ทนทานไว้ในพื้นที่ปลอดโรคไวรัสใบด่าง งบประมาณ 150 ล้านบาท
3.ให้สถาบันวิชาการพัฒนาสายพันธุ์มันสำปะหลังต้านทานโรค และมาตรการเฝ้าระวัง ติดตามการแพร่ระบาดของโรคใบด่างโดยใช้เทคโนโลยีทันสมัย งบประมาณ 120 ล้านบาท
แต่ยังไม่มีการอนุมัติงบประมาณ
- ปี 2566 กรมส่งเสริมการเกษตร รายงานตัวเลขพื้นที่การระบาดเพียง 6 หมื่นไร่ (9 ส.ค.66) ขณะที่ข้อมูลของ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สวทช.ได้ประเมินการระบาดโรคใบด่างในปี 2566 ว่ามีพื้นที่แพร่ระบาด 3 ล้านกว่าไร่ มูลค่าความเสียหายกว่า 11,000 ล้านบาท
ชำแหละงบฯ แก้โรคใบด่างมัน 1,300 ล้าน
ปี 2564 คณะรัฐมนตรีอนุมัติโครงการควบคุมและแก้ปัญหาโรคใบด่างมันสำปะหลัง วงเงิน 1,329 ล้านบาท เป้าหมายช่วยเกษตรกรที่ปลูกมันสำปะหลังทุกจังหวัด ระยะเวลาตั้งแต่เดือน ธ.ค.2563 - ก.ย.2564 โดยดำเนินการ ดังนี้
1.กำจัดต้นมันสำปะหลังที่เป็นโรคใบด่างและจ่ายค่าทำลายต้นมันสำปะหลังที่เป็นโรคในอัตราไร่ละ 2,160 บาท
2.ส่งเสริมและสนับสนุนการใช้พันธุ์มันสำปะหลังสะอาดและทนทานโรคใบด่าง โดยการสนับสนุนท่อนพันธุ์ 500 ลำต่อไร่
3.ใช้มาตรการทางกฎหมายตามพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ.2507 ในกรณีเกษตรกรไม่ยินยอมให้ทำลายต้นมันสำปะหลังที่ติดโรค เพื่อกำจัดต้นมันสำปะหลังที่เป็นโรคในทุกพื้นที่และตัดวงจรการระบาดของโรค
การใช้งบประมาณแบ่งเป็น 2 ส่วน ดังนี้
1.ให้กรมส่งเสริมการเกษตรเบิกจ่ายงบฯ ปี 2564 งบกลาง 1,264.20 ล้านบาท แบ่งเป็น
- ค่าชดเชยการทำลายต้นมันสำปะหลังที่เป็นโรค (2,160 บาท/ไร่) 864 ล้านบาท
- ค่าส่งเสริมการปลูกมันสำปะหลังพันธุ์ที่ทนทาน 400 ล้านบาท
- ค่าธรรมเนียมโอนเงินของ ธ.ก.ส.(5 บาท/ราย) 200,000 บาท
2.งบดำเนินงาน 65 ล้านบาท เป็นค่าบริหารจัดการโครงการ เช่น การสำรวจต้นมันสำปะหลังเป็นโรค การสร้างการรับรู้โครงการ เป็นต้น
โรคใบด่างมัน
ความสำเร็จ-ล้มเหลวโครงการแก้โรคใบด่างมันสำปะหลัง
ปี 2565 ภาครัฐยืนยันความสำเร็จการควบคุมโรคใบด่างมันสำปะหลัง แต่เพราะเหตุใด ในปี 2566 กลับมีรายงานอย่างไม่เป็นทางการจากสมาคมโรงงานผู้ผลิตมันสำปะหลัง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเครือข่ายเกษตรกร
คาดการณ์ว่า การดำเนินโครงการควบคุมและแก้ปัญหาโรคใบด่างมันสำปะหลัง วงเงิน 1,329 ล้านบาท อาจไม่เกิดประสิทธิภาพเพียงพอ ทำให้โรคใบด่างมันสำปะหลังยังคงแพร่ระบาด และรุนแรงมากขึ้นในปี 2566
สำหรับการกำจัดต้นมันสำปะหลัง ที่เป็นโรคใบด่าง และจ่ายค่าทำลายต้นมันสำปะหลัง ที่เป็นโรคในอัตราไร่ละ 2,160 บาท มีข้อมูลว่า เกษตรกรส่วนหนึ่งไม่ได้แจ้งข้อมูล และบางส่วนไม่ได้ทำลายต้นมันที่เป็นโรค มีการขายท่อนพันธุ์ที่เป็นโรคไปปลูกพื้นที่อื่น โดยขายทางออนไลน์ จนเกิดการแพร่ระบาดเป็นวงกว้าง
สาเหตุสำคัญที่เกษตรกรไม่แจ้งเจ้าหน้าที่ว่า มันสำปะหลังเป็นโรคใบด่าง มีทั้งคนที่ไม่รู้จักโรค และคนที่รู้ว่าเป็นโรค แต่หากแจ้งก็จะต้องทำลาย ซึ่งเงินเยียวยาอัตราไร่ละ 2,160 บาท ได้น้อยกว่าการขุดมันไปขาย เพราะช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ราคาหัวมันสดปรับสูงขึ้น
เครือข่ายเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ยังเรียกร้องให้ภาครัฐถอดบทเรียนมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโรคใบด่างในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ว่ามีจุดอ่อนอย่างไร เพื่อเร่งแก้ไขในปีนี้
รวมทั้งขอให้มีการชี้แจงความคืบหน้า การใช้งบประมาณเพื่อส่งเสริมการปลูกมันสำปะหลังพันธุ์ที่ทนทาน 400 ล้านบาท ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงบประมาณ1,329 ล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาโรคใบด่าง ว่าจะสามารถช่วยเหลือเกษตรกรได้อย่างไร
เพราะแนวโน้มปัญหาสำคัญที่จะเกิดขึ้นในปีการผลิต 2566-2567 คือ เกษตรกรจะขาดแคลนท่อนพันธุ์ หลังบางพื้นที่ราคาท่อนพันธุ์มันสำปะหลัง ปรับเพิ่มจากต้นละ 1 บาท ในปี 2565 เป็น 4-5 บาทในปี 2566
และคาดว่าในปี 2567 อาจสูงมากกว่านี้ กระทบต่อต้นทุนการผลิตของเกษตรกร ที่อาจหันไปปลูกพืชชนิดอื่น หากผลผลิตมันสำปะหลังลดลงก็จะกระทบต่ออุตสาหกรรมแปรรูปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
“โรคใบด่าง” มันสำปะหลัง ระบาดหนัก 3 ล้านไร่
รายงาน : พลอยไพฑูรย์ ธุระพันธุ์ ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส