วันนี้ (31 ส.ค.2566) นายธรรมพงศ์ เนาวบุตร ผอ.กลุ่มวิเคราะห์และติดตามสถานการณ์น้ำ รักษาการในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญด้านวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า จากการประชุมร่วมกับหลายหน่วยงาน เพื่อประเมินสถานการณ์น้ำและสถานการณ์พายุ พบว่า ขณะนี้มีพายุที่อยู่ในบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก จำนวน 3 ลูก ได้แก่ พายุไต้ฝุ่น เซาลา พายุโซนร้อนไห่ขุย และพายุดีเปรสชั่นที่ก่อตัวใหม่
จากการวิเคราะห์แนวทางการเคลื่อนตัวของพายุ ปรากฏว่า พายุทั้ง 3 ลูก จะไม่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยจะมีเพียงร่องมรสุมที่พาดผ่านบริเวณประเทศไทยตอนบนเท่านั้นที่จะส่งผลให้มีฝนตกในบางพื้นที่ ซึ่ง กอนช. ได้ออกประกาศแจ้งเตือนล่วงหน้าเพื่อเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงเกิดน้ำท่วมฉับพลัน
พายุ 3 ลูกที่กำลังก่อตัวรอบประเทศไทยไม่กระทบกับไทยโดยตรง
น้ำป่าไหลหลาก ในช่วงระหว่างวันที่ 29 ส.ค.–3 ก.ย.นี้ โดยทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดพร้อมเตรียมรับมือสถานการณ์ตามประกาศอย่างเคร่งครัด
ส่วนสถานการณ์น้ำในเขื่อน กอนช. ได้ติดตามปริมาณน้ำไหลเข้าสะสมในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา (23-29 ส.ค.) พบมีปริมาณน้ำไหลเข้ารวม 772 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) โดยน้ำไหลเข้าสะสมในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ เขื่อนวชิราลงกรณ์ 199 ล้านลบ.ม. เขื่อนสิริกิติ์ 129 ล้าน ลบ.ม. และเขื่อนสิรินธร 85 ล้าน ลบ.ม. ตามลำดับ
พร้อมกันนี้ ได้คาดการณ์ปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ สะสมในช่วงสัปดาห์ถัดไป (30 ส.ค.–5 ก.ย.) คาดว่าจะมีน้ำไหลเข้าสะสมเพิ่มเติมอีก 859 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งจะช่วยเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน บรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำได้ในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งปัจจุบันมีแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่ต้องเฝ้าระวังน้ำน้อยถึง 7 แห่ง
ปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนเก็บน้ำแต่ละแห่ง
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างฯ เพิ่มขึ้น แต่จากการติดตามสถานการณ์น้ำในแหล่งน้ำทั่วประเทศ พบว่ายังมีปริมาณน้ำน้อยกว่าปีที่แล้วอยู่พอสมควร โดยปัจจุบันมีปริมาณน้ำรวม 43,863 ล้าน ลบ.ม.หรือคิดเป็น 53% ของความจุทั้งหมด ในจำนวนนี้เป็นปริมาณน้ำใช้การ 19,760 ล้าน ลบ.ม.
นอกจากนี้ปริมาณฝนสะสมทั้งประเทศ ตั้งแต่ช่วงต้นปีจนถึงปัจจุบันก็ยังคงต่ำกว่าค่าปกติอยู่ถึง 21% จึงยังคงจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการใช้น้ำอย่างประหยัด
นายธรรมพงศ์ กล่าวว่า จากสถานการณ์ของแหล่งน้ำทั่วประเทศที่มีปริมาณน้ำไม่มากนัก ประกอบกับสภาวะเอลนีโญที่ส่งผลให้มีปริมาณฝนน้อย และคาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า สทนช.จึงได้มีการออกมาตรการต่างๆ เพิ่มเติมเพื่อเร่งป้องกันและแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ ทั้งมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 66 เพิ่มเติมจำนวน 3 มาตรการ เพื่อขับเคลื่อนในช่วงฤดูฝนนี้
พร้อมกันนี้จะมีการจัดประชุมสัมมนาถอดบทเรียนการติดตามประเมินผลการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 65/66 และการเตรียมความพร้อมรองรับสถาน การณ์เอลนีโญ เพื่อนำไปสู่การกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ในฤดูแล้งหน้า ก่อนจะมีการออกมาตรการฤดูแล้งปี 66/67 เพื่อรองรับสถานการณ์เอลนีโญในช่วงฤดูแล้งที่จะมาถึงอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพต่อไป